ยาพ่นจมูก (Nasal Sprays)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ยาพ่นจมูกคือยาอะไร?

ยาพ่นจมูก (Nasal spray)  คือ ผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของตัวยาที่อาจละลาย หรือแขวนลอย (สารของแข็งที่มีขนาดเล็กมากที่ลอยอยู่ในน้ำ)อยู่ในสารละลาย หรือในกระสายยา และใช้พ่นเข้าไปในช่องจมูกโดยอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องพ่นยา(Spayer),  ซึ่งเมื่อกดปุ่มหัวฉีดแล้ว ยาจะถูกพ่นออกมาในขนาดที่แน่นอน, โดยหวังผลการรักษาเฉพาะที่ (Local effect)

แบ่งยาพ่นจมูกเป็นประเภทใดบ้าง?

แบ่งยาพ่นจมูกเป็นประเภทต่างๆ: เช่น

ก. ยาสเตียรอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่ในจมูก (Intranasal corticosteroids): เช่น ยาเบโคลเมททาโซน (Beclomethasone), บูดีโซนายด์ (Budesonide), ฟลูนิโซไลด์ (Flunisolide),  ฟลูติคาโซน (Fluticasone), โมเมทาโซน (Mometasone), ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)

ข. ยาหดหลอดเลือด/ยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวชนิดใช้เฉพาะที่ในจมูก (Intranasal decongestants): เช่น ยา เอฟีดรีน (Ephedrine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), แนฟาโซลีน (Naphazoline), ออกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline), ไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline)

ค. ยาต้านฮิสตามีน/ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ชนิดใช้เฉพาะที่ในจมูก (Intranasal antihistamines): เช่นยา อะซีลาสทีน (Azelastine), เลโวคาร์บาสทีน (Levocabastine)

ง. ยาต้านฤทธิ์โคลีเนอร์จิก (Anticholinergic/Antimuscarinic) ชนิดใช้เฉพาะที่ในจมูก (Intranasal anticholinergics): เช่นยา ไอพราโทรเพียม โบรไมด์ (Ipratropium bromide)

จ. ยากลุ่ม Cell membrane stabilizer (ยาช่วยการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์): เช่น ยาโครโมลินโซเดียม (Cromolyn sodium, ยาลดการอักเสบ), นีโดโครมิล (Nedocromil, ยาโรคภูมิแพ้)

ยาพ่นจมูกอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

ยาพ่นจมูก (Nasal sprays) อยู่ในรูปแบบยาใช้เฉพาะที่ในจมูก จำหน่ายพร้อมเครื่องพ่นยา

ยาพ่นจมูกมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาพ่นจมูกมีข้อบ่งใช้: เช่น

  • กลุ่มยาสเตียรอยด์ (Intranasal corticosteroids): ใช้รักษาอาการผิดปกติทางจมูกทุกอาการ เช่น คันจมูก จาม น้ำมูกไหล คัด/แน่นจมูก, อาการผิดปกติทางทางตา เช่น คันตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแดงที่เกิดจากโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดเป็นเฉพาะฤดูกาล (Seasonal allergic rhinitis), โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดเป็นตลอดทั้งปี (Perennial allergic rhinitis ), โรคริดสีดวงจมูกขนาดเล็กและขนาดกลาง, ป้องกันการเป็นซ้ำของริดสีดวงจมูกภายหลังการผ่าตัด, รักษาโรคไซนัสอักเสบ, และโรคเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้
  • ยาหดหลอดเลือด (Intranasal decongestants): ใช้ลดอาการคัดจมูกเป็นหลัก
  • ยาต้านฮิสตามีน/ยาแก้แพ้ (Intranasal antihistamines): ใช้บรรเทาอาการจาม น้ำมูกไหล คันจมูก น้ำตาไหล คันตา แต่ลดอาการคัดจมูกได้น้อย
  • ยาต้านฤทธิ์โคลีเนอร์จิก (Intranasal anticholinergics): ใช้ลดอาการน้ำมูกไหลเป็นหลักเพราะไม่มีผลต่ออาการทางจมูกอื่นๆ จึงใช้เป็นยาทางเลือกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่มีอาการน้ำมูกไหลเรื้อรังที่ใช้ Intranasal corticosteroids หรือ Intranasal antihistamines แล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • ยา Cell membrane stabilizer: ใช้บรรเทาอาการจาม คัน น้ำมูกไหล และรักษา โรคภูมิแพ้หูคอจมูกที่มีอาการไม่รุนแรง ทั่วไปแล้ว จะไม่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาหลักในการรักษา

มีข้อห้ามใช้ยาพ่นจมูกอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาพ่นจมูก: เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
  • ใช้ยาตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากยา/ฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด, ไม่ใช้ยาที่ขนาด ที่มากหรือน้อยกว่าที่ระบุ, และไม่ควรหยุดการใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยา Intranasal decongestants ร่วมกับยาอื่นๆในกลุ่มเดียวกัน ทั้งชนิด รับประทาน และชนิดพ่นจมูก เช่นยา ฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenylpropanolamine), ฟีนิลเอฟรีน (Pheny lephrine), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), อีเฟดรีน (Ephedrine), และห้ามใช้ร่วมกับยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate)
  • ห้ามใช้ยา Intranasal decongestants ในกรณี เช่น
    • ผู้ป่วยที่มีประวัติอัมพาตที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก (Stroke) หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก
    • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสมองที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองเปิดออก
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรงหรือยังคุมอาการได้ไม่ดี
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจขั้นรุนแรง
    • ผู้ป่วยที่มีประวัติของอาการชัก
    • ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของผิวหนังหรือของเยื่อบุโพรงจมูกที่มีลักษณะแห้งและเป็นสะเก็ด (Rhinitis sicca)
  • ห้ามกลืนยา Intranasal decongestants เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ จากการใช้ยานี้ได้
  • ห้ามใช้ยา Intranasal decongestants ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน, เพราะอาจทำให้ อาการย้อนกลับมาเป็นอีก (Rebound congestion, Rhinitis medicamentosa) ทำให้เกิดภาวะเยื่อจมูกบวมและเกิดเยื่อจมูกอักเสบ
  • ห้ามใช้ยา Ipratropium bromide ในผู้ที่แพ้ยาอะโทรปีน (Atropine), หรือแพ้อนุพันธุ์อื่นๆของยา Atropine, เพราะอาจแพ้ยา Ipratropium bromide ได้ด้วย

มีข้อควรระวังการใช้ยาพ่นจมูกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพ่นจมูก: เช่น

  • ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน กว่าแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้ยาออกฤทธิ์กับระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย จึงอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาได้
  • กรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้ยาพ่นจมูกสม่ำเสมอ ถ้าลืมพ่นยา ให้พ่นทันทีที่นึกได้, และพ่นครั้งต่อไปตามปกติ, แต่ถ้านึกขึ้นได้ในระยะเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่จะพ่นครั้งต่อไป ให้พ่นยาของครั้งต่อไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ระวังการใช้ยาชนิด Intranasal corticosteroids ในผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง เพราะอาจทำให้ตับของผู้ป่วยกำจัดยานี้ออกจากร่างกายได้น้อยลง
  • ยา Intranasal corticosteroids อาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเห็นผลการรักษาอย่างเต็มที่ ผู้ป่วยควรได้รับคำอธิบายว่า ยาไม่สามารถบรรเทาอาการได้ทันที
  • แพทย์จะปรับขนาดยา Intranasal corticosteroids ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และแพทย์จะค่อยๆลดขนาดยา และความถี่ในการใช้ยานี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อควบคุม อาการเท่านั้น
  • ระวังการใช้ยา Intranasal decongestants กับยาต้านเศร้ากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors, MAOI) เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้
  • ระวังการใช้ยา Intranasal decongestants ในผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน   ต้อหินมุมปิด  โรคหัวใจ   โรคจิต   ต่อมลูกหมากโต   ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน  หรือไซนัสอักเสบร่วมด้วย
  • ระวังการใช้ยา Intranasal antihistamines ในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เพราะยามีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม
  • ระวังการใช้ยา Intranasal antihistamines ร่วมกับสุราหรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ, ยานอนหลับ, และยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด, เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมจากยา
  • ระวังการใช้ยา Ipratropium bromide ในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง, เพราะยามีผลข้างเคียงอาจทำให้ผู้ป่วยมึนงง รูม่านตาขยาย มองเห็นภาพไม่ชัด/ตาพร่า
  • ระวังการพ่นยานี้เข้าตา

การใช้ยาพ่นจมูกในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาพ่นจมูกในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร:  เช่น

  • ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยา Intranasal corticosteroids, Intranasal antihistamines, Cell membrane stabilizer, และ Ipratropium bromide, ในหญิงตั้งครรภ์ ถึงแม้การศึกษาจะพบว่า ยาพ่นจมูกถูกดูดซึมเข้าสู้ร่างกายได้ แต่ในปริมาณน้อยมาก, แต่หญิงตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่มารดาจะได้รับ มีมากกว่าอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์เท่านั้น
  • ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยา Intranasal decongestants ในหญิงตั้งครรภ์, แต่เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงไม่ควรใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์
  • ยาพ่นจมูกกลุ่มอื่นๆก็เช่นกัน ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนต่อการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ และในหญิงให้นมบุตร การใช้ยาเหล่านี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

การใช้ยาพ่นจมูกในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ยาพ่นจมูกสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในผู้สูงอายุ โดยไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้ยา Intranasal decongestants ในผู้อายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ต้อหินมุมปิด โรคหัวใจ โรคจิต ต่อมลูกหมากโต ลมชัก เพราะอาจทำให้อาการโรคแย่ลง

การใช้ยาพ่นจมูกในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาพ่นจมูกในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):  เช่น

  • การใช้ยาพ่นจมูกในเด็ก ควรมีผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าขนาดและวิธีการใช้ยานี้ถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง
  • การใช้ยา Intranasal corticosteroids แบบพ่นจมูกค่อนข้างปลอดภัย ควรใช้ยาตามอายุของผู้ป่วยตามที่ได้รับรองโดยองค์การอาหารและยา/ตามคำสั่งแพทย์ นอกจากนี้ควรติดตามดูการเจริญเติบโตของผู้ป่วยเด็กที่ได้รับยากลุ่มนี้เป็นเวลานานกว่าปกติอย่างใกล้ชิด และเปรียบเทียบถึงประโยชน์ที่ได้รับเมื่อให้การรักษาด้วยยานี้ กับโอกาสที่ตัวยานี้จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของเด็กหยุดชะงัก
  • *มีรายงานอาการต่อไปนี้ในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ใช้ยา Intranasal decongestants, เช่น  อาการชัก  ประสาทหลอน กระสับกระส่าย มีความผิดปกติทางพฤติกรรม นอนไม่หลับ,*ดังนั้น หากพบอาการดังกล่าวในผู้ป่วยเด็กที่ใช้ยานี้ ควรหยุดยานี้ แล้วรีบนำเด็กไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือรีบไปทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาพ่นจมูกเป็นอย่างไร?

อาจพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาพ่นจมูก: เช่น

  • ยา Intranasal corticosteroids: อาจทำให้เกิดผลเฉพาะที่ เช่น จมูกแห้ง และจามทันทีภายหลังการพ่นยา, มีน้ำมูกปนเลือดออกมา, เลือดกำเดาไหล, มีอาการทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ, ผนังกั้นช่องจมูกเป็นรูที่พบได้น้อยมาก
  • ยา Intranasal decongestants: อาจทำให้เกิดผลเฉพาะที่ เช่น แสบร้อนจมูกและลำคอ จมูกแห้ง จาม, ผลต่อร่างกายทั้งระบบ เช่น ปวดหัว  หัวใจเต้นผิดปกติ เหงื่อออกมาก ต้อหิน  ปัสสาวะไม่ออก /ปัสสาวะขัด วิตกกังวล นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน
  • ยา Intranasal antihistamines: อาจทำให้รู้สึกถึงรสขมของยา แสบจมูก จาม ไอ ปวดหัว อ่อนเพลีย มึนงง
  • ยา Ipratropium bromide: อาจทำให้จมูกแห้ง เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะไม่ออก ต้อหิน ปวดหัว คลื่นไส้  คออักเสบ
  • ยา Cell membrane stabilizer: เป็นยาที่ปลอดภัยมีผลข้างเคียงน้อย  เช่น ปวดหัว  คลื่นไส้   ท้องเสีย

มีวิธีใช้ยาพ่นจมูกอย่างไร?

วิธีการใช้ยาพ่นจมูกที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ อาจมีความแตกต่างกัน ให้อ่านรายละเอียดจากฉลากยา/เอกสารกำกับยา/กำกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดด้วย โดยทั่วไป เช่น

  • เมื่อมีน้ำมูก ควรกำจัดน้ำมูกออกจากจมูกให้หมด โดยการสั่งน้ำมูก หรือการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
  • เขย่าขวดยา (กรณีที่เป็นยาขวดใหม่ก่อนใช้ยาควรตั้งขวดยาให้ตรง และกดพ่นยาออกมาในอากาศให้เป็นละอองฝอยก่อนใช้ยาจริง)
  • นั่งตัวตรง เอนศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย หรือตั้งศีรษะตรง หรือก้มศีรษะ (ขึ้นกับชนิดของยา) ปิดปากให้สนิท
  • สอดปลายที่พ่นยาเข้าไปในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ใช้นิ้วมืออีกข้างปิดรูจมูกที่เหลือ สูดหายใจเข้าช้าๆพร้อมกับกดที่พ่นยาเข้าจมูก, การพ่นยาต้องให้ปลายหลอดพ่นชี้ไปทางผนังด้านข้างจมูกให้มากที่สุด ห้ามพ่นยาไปที่ผนังกั้นช่องจมูก เพราะอาจทำให้ผนังกั้นช่องจมูกเป็นแผลและมีเลือดกำเดาไหลได้
  • กลั้นหายใจ 2 - 3 วินาที แล้ว
  • พ่นยาในรูจมูกอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน (ถ้าต้องพ่นยาทั้ง 2 ข้างจมูก)
  • ถ้าต้องพ่นข้างละ 2 ครั้ง ควรพ่นข้างละ 1 ครั้งให้ครบทั้ง 2 ข้างก่อน, แล้วจึง เริ่มพ่นครั้งที่ 2 ให้ครบทั้ง 2 ข้าง
  • เช็ดทำความสะอาดที่ปลายท่อพ่นยา ปิดฝาให้เรียบร้อย เก็บยาตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร/พยาบาล หรือเอกสารกำกบยา/ฉลากยาแนะนำ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพ่นจมูก) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ปารยะ อาศนะเสน. เป็นโรคแพ้อากาศ....ใช้ยาอะไรดี. คลินิก. 29 (เมษายน 2556) : 257-260
  2. สงวนศักดิ์ ธนาวิรัตนานิจ. Current Practice and Guidance in Allergic Rhinitis Management. ใน การประชุมวิชาการ ครั้งที่ 27 ประจำปี 2554 Srinagarind Med J 2011: 26, หน้า 20-29.
  3. คณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษาะทางวิชาชีพด้านการเตรียมยาและคณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษาะทางวิชาชีพทางเภสัชกรรมด้านการจ่ายยา. คู่มือทักษาตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม.
  4. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th Ohio : Lexi-comp, 2011.
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Nasal_spray  [2022,Oct8]