นอนซีเล็กทีฟเบต้าบลอกเกอร์ หรือ ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (Nonselective beta blockers)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า ประเภท นอนซีเล็กทีฟเบต้าบล็อกเกอร์ (Nonselective beta blockers หรือ Nonselective beta antagonists) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการโรคหัวใจ เช่น หัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น รวมถึง โรคความดันโลหิตสูง โรคต้อหิน และโรคไมเกรน ตัวอย่างยากลุ่มปิดกั้นเบต้า เช่นยา Bucindolol, Carteolol, Carvedilol, Labetalol, Nadolol, Oxprenolol, Penbutolol, Pindolol, Propranolol, Sotalol, และ Timolol

การที่จะเลือกใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้าตัวใดว่าเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ด้วยอาการโรคในผู้ป่วยแต่ละคนมีความจำเพาะและแตกต่างกันออกไป

ส่วนระยะเวลาในการใช้ยากลุ่มนี้มีตั้งแต่เป็น สัปดาห์ เดือน หรือในผู้ป่วยบางกลุ่มต้องใช้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรง อาการของผู้ป่วยเอง และดุลพินิจของแพทย์

หน่วยรับความรู้สึก หรือ ตัวรับ ชนิดเบต้า (Beta receptor หรือ Beta adrenoreceptor) คือตัวรับที่ทำงานเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติที่สำคัญคือ ฮอร์โมน Noradrenalin/ Epinephrine ซึ่งตัวรับนี้จะมีอยู่ในอวัยวะต่างๆ เช่น หลอดเลือดแดง กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งจะส่งผลถึงการหดตัวของหลอดเลือดแดงและของกล้ามเนื้อเรียบ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความยาเรื่อง เบต้า บล็อกเกอร์/Beta blocker)

คณะกรรมการอาหารและยา ได้บรรจุยาบางตัวของยากลุ่มปิดกั้นเบต้าลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นยา Carvedilol, Labetalol, Timolol , และ Propranolol โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ผู้ป่วยจึงไม่สมควรไปซื้อหามารับประทานเองโดยเด็ดขาด นอกจากจะไม่ทำให้อาการโรคดีขึ้นแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายติดตามมาอย่างมากมาย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงต้องใช้ยากลุ่มนี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • รักษาและบำบัดอาการภาวะหัวใจล้มเหลว
  • รักษาอาการหัวใจขาดเลือด และมีภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาโรคไมเกรน
  • รักษาโรคต้อหิน

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับของเซลล์ประสาทอัตโนมัติคือ Beta adrenoreceptor/Beta receptor (ที่แบ่งย่อยเป็น Beta-1 และ Beta-2 adreno receptors) ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดแดง ลดอัตราการเต้นและการบีบตัวของหัวใจ ลดความดันโลหิต นอกจากนี้ยังลดปริมาณสารน้ำ/ของเหลวที่ไหลเวียนในลูกตา ทำให้ความดันลูกตาลดลง ด้วยกลไกต่างๆ ที่กล่าวมาทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 6.25, 10, 12.5, 25 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยาในกลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า มีหลากหลายตำรับยา/ชนิด จึงให้รับประทานและใช้แต่ละตำรับยาตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามซื้อยาหรือปรับขนาดรับประทานหรือขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หายใจหอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้าอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้าสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องเสีย
  • ปากคอแห้ง
  • เป็นตะคริวที่หน้าท้อง
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ผื่นคัน
  • อ่อนแรง
  • ปวดหัว
  • การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • ซึมเศร้า
  • จิตใจสับสน
  • วิงเวียน
  • ฝันร้าย
  • อาการโรคหืด
  • นอนไม่หลับ
  • กรณีของผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • กรณีที่หยุดการใช้ยานี้ทันที อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวติดตามมา

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้าอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้เองโดยทันทีทันใด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ โรคหืด
  • การใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยเลือกใช้ยาหรือปรับขนาดการรับประทานยาเองโดยเด็ดขาด
  • ระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะในระหว่างที่มีการใช้ยากลุ่มปิดกั้นเบต้า ด้วยยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียน จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้าด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า ร่วมกับ ยารักษาความดันโลหิตสูง (ยาลดความดัน)บางตัว เช่นยา Clonidine สามารถกระตุ้นให้ภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า วิงเวียน จนถึงขั้นอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า ร่วมกับ ยากลุ่ม Alpha-1 antagonists (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง แอลฟา-บล็อกเกอร์/Alpha-blockers) อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า ร่วมกับ ยากลุ่ม Calcium channel blockers เช่นยา Digoxin, Amidarone, และ Quinidine อาจเพิ่มผลกระทบต่อหลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณหัวใจ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หรือใช้ด้วยความระมัดระวังตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • การใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า ร่วมกับ ยาชา อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษายากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้าอย่างไร?

ควรเก็บยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้ามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Caraten (คาราเท็น)Berlin Pharm
Dilatrend (ไดลาเทรนด์)Roche
Tocarlol (โทคาร์ลอล)T. O. Chemicals
Trandate (ทรานเดท)A.Menarini
Archimol (อาร์ชิมอล)T P Drug
Glauco Oph (กลาวโค ออฟ)Seng Thai
Opsartimol (ออฟซาร์ไทมอล)Charoon Bhesaj
Timodrop (ทิโมดร็อพ)Biolab
Timo-optal (ทิโม-ออฟตัล)Olan-Kemed
Timoptol (ทิมอพทอล)MSD
Timosil (ทิโมซิล)Silom Medical
Alperol (อัลพิรอล)Pharmasant Lab
Betalol (เบตาลอล)Berlin Pharm
Betapress (เบตาเพรส)Polipharm
C.V.S. (ซี.วี.เอส)T. Man Pharma
Cardenol (คาร์ดินอล)T.O. Chemicals
Chinnolol (ชินโนลอล)Chinta
Emforal (เอ็มโฟรอล)Remedica
Idelol 10 (ไอดิลอล 10)Medicine Products
Inderal (อินดิรอล)AstraZeneca
Normpress (นอร์มเพรส)Greater Pharma
Palon (พาลอล)Unison

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Beta_blocker [2020,Aug22]
  2. https://www.drugs.com/drug-class/non-cardioselective-beta-blockers.html [2020,Aug22]
  3. https://www.medicinenet.com/beta_blockers/article.htm [2020,Aug22]
  4. https://www.medicinenet.com/beta_blockers/article.htm#for_what_conditions_are_beta_blockers_used [2020,Aug22]
  5. https://www.medicinenet.com/beta_blockers-oral/article.htm [2020,Aug22]
  6. https://www.medscape.com/viewarticle/421426_3 [2020,Aug22]
  7. https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraine-medication-prevent[2020,Aug22]
  8. https://www.webmd.com/eye-health/understanding-glaucoma-treatment#1 [2020,Aug22]
  9. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/in-depth/beta-blockers/art-20044522 [2020,Aug22]
  10. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Beta-Blockers [2020,Aug22]