ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก (Macrocyclic antibiotics)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก(Macrocyclic antibiotics) เป็นกลุ่มย่อยของหมวดยาแมคโครไลด์(Macrolide) โดยมีสูตรโมเลกุลที่ประกอบไปด้วยอะตอมของคาร์บอน(C) มาต่อกันเป็นวงจนเกิดเป็นโครงสร้างที่ใหญ่โตจนส่งผลให้มีการดูดซึมจากระบบทาง เดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ยาก เพื่อให้ได้มาซึ่งฤทธิ์ในการต่อต้านแบคทีเรียในลำไส้ที่ก่อโรคกับมนุษย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นและพัฒนายาปฏิชีวนะกลุ่มนี้ใน 3 ลักษณะ คือ

  • ค้นคว้าและสังเคราะห์ตัวยาเพื่อให้เกิดโครงสร้างเคมีที่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด
  • มีคุณสมบัติลดการดื้อยาของเชื้อโรค
  • เพิ่มการดูดซึมของตัวยาเข้าสู่แบคทีเรียผ่านผนังเซลล์ของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค

ภายในปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ได้มีการขึ้นทะเบียนยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก ตัวแรก คือ Fidaxomicin ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสีย/ท้องร่วงที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium(C) difficile ทางคลินิกยังมีข้อมูลเปรียบเทียบผลการรักษาอาการท้องร่วงจาก C.difficile ระหว่างยา Fidaxomicin กับยา Vancomycin ซึ่งเป็นยากลุ่ม Glycopeptide antibiotic พบว่าประสิทธิภาพในการรักษาไม่ได้ด้อยกว่ากันเลย อย่างไรก็ตามยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้มีการออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรคได้ในวงแคบโดยสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้บางกลุ่มดังนี้ เช่น Bacteroides fragilis , Non-fragilis B. fragilis group, Clostridium species, Anaerobic gram-negative rods , Clostridium perfringens , Enterococcus species, และ Staphylococcus species

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกประกอบไปด้วยตัวยาอะไรบ้าง?

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษายาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) และพัฒนาต่อเนื่องจนสามารถสกัดสารปฏิชีวนะจากแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่าActinoplanes deccanensis นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อสารประกอบนี้ว่า ‘Lipiarmycin A3’ กรณีที่สกัดได้จากแบคทีเรียที่ต่างชนิดกันอย่างเช่น Dactylosporangium auranticum จะเรียกชื่อสารประกอบที่เกิดขึ้นว่า ‘Tiacumicin B’ สารประกอบทั้ง 2 ตัว มีสูตรโมเลกุลเหมือนกัน คือ C52H74Cl2O18 เมื่อตรวจด้วยคลื่น X-rays พบว่า Lipiarmycin A3 และ Tiacumicin B มีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะที่เหมือนกัน นักวิทยาศาสตร์จึงได้สังเคราะห์สารประกอบขึ้นมาอีกหนึ่งตัว โดยมีโครงสร้างเลียนแบบสูตรโมเลกุลของLipiarmycin และ Tiacumincin โดยเรียกชื่อยาชนิดนั้นว่า Fidaxomicin ซึ่งถูกนำมาจำหน่ายเป็นยาแผนปัจจุบันชนิดรับประทาน ที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย และ การพัฒนายาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกตัวอื่นๆยังคงต้องรอเวลาการศึกษาและพัฒนาในลำดับถัดไป

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ทางคลินิก มีการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกเพื่อรักษาอาการท้องเสียจากการ ติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium difficile

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ RNA polymerase ในตัวแบคทีเรียชนิดแกรมบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มClostridia ส่งผลให้การสังเคราะห์สารพันธุกรรมชนิด RNA ของแบคทีเรียเหล่านั้นถูกปิดกั้นลง ทำให้แบคทีเรียนั้นๆไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการแพร่พันธุ์ได้อีกต่อไป จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้แบคทีเรียที่ได้รับยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกตายลงและส่งผลให้อาการท้องเสียดีขึ้นเป็นลำดับ

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กลุ่มยาปฏิชีวนะแมคโครไลด์มีโครงสร้างโมเลกุลที่ใหญ่ ทำให้การดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ได้น้อยมาก ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาให้ยากลุ่มนี้เป็นแบบรับประทาน โดยตัวยาส่วนมากจะออกฤทธิ์เฉพาะในระบบทางเดินอาหารเท่านั้น

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยยากลุ่มนี้ถูกจัดเป็นกลุ่มยาใหม่โดยมีการขึ้นทะเบียนยายังไม่ถึง 10 ปี จึงมีการรับรองทางคลินิกให้ใช้ยากลุ่มนี้ เฉพาะกับผู้ใหญ่ และขนาดการใช้ยาจะต้อง เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง:

  • ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ เช่นยา Fidaxomicin 200 มิลลิกรัม ใช้บำบัดอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ C.difficile เฉพาะในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยมีขนาดรับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 10 วัน โดยรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่าง หนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากลุ่มแมคโครไซคลิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต แผลในทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยากลุ่มแมคโครไซคลิก สามารถรับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากระยะเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ห้ามรับประทานยานี้เพิ่มขึ้นเป็น 2เท่า ให้รับประทานที่ขนาดปกติเท่านั้น

อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีใช้ยาเมื่อลืมรับประทานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของโรค จึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมใช้ยากลุ่มนี้

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร ปากบวม แน่นท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืด เกิดภาวะลำไส้อุดตัน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซน์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เกิดภาวเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะเลือดเป็นกรด ระดับเกลือไบคาร์บอเนตในเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก
  • ห้ามนำมารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
  • ห้ามรับประทานพร้อมสุรา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยไม่ได้ขอคำแนะนำจากแพทย์
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยมารองรับ การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • กรณีรับประทานยานี้แล้วเกิดอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เช่น ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด มีไข้ หนาวสั่น ท้องผูกอย่างรุนแรง ปวดท้องมาก อ่อนเพลีย และรู้สึกหมดแรงอย่างมาก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคตับ และผู้ป่วยโรคไต
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น การรับประทานยานี้ตรงตาม ขนาดและเวลา การรับประทานอาหาร การพักผ่อน ตลอดจนกระทั่งมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกร่วมกับยา Mizolastine จะทำให้ระดับ ความเข้มข้นของยา Mizolastine เพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงจากยา Mizolastine ตามมา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่น Estriol เพราะจะทำให้ฤทธิ์การคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลง

ควรเก็บรักษายาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้คำแนะนำในเอกสารกำกับยา
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงคูคลองสาธารณะ หรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไซคลิก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dificid (ดิฟิซิด)Optimer Pharmaceuticals, Inc.
Dificlir (ดิฟิเคลียร์)Astellas Pharma Europe B.V.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Macrocycle[2018,Sept1]
  2. https://www.drugs.com/newdrugs/fda-approves-dificid-clostridium-difficile-infection-2689.html [2018,Sept1]
  3. http://www.mdpi.com/2079-6382/6/1/7/htm [2018,Sept1]