ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง
ยาต้านเกล็ดเลือด

บทนำ: คือยารักษาโรคอะไร?

ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug) คือ กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยาต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด (Anticlotting drugs) ซึ่งคือยาใช้รักษาโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆเพื่อให้เลือดแข็งตัวได้ช้าลง และ/หรือให้เลือดไม่เกิดการจับตัวกันจนเกิดเป็นก้อนหรือเป็นลิ่มเลือด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดจากก้อนเลือด/จากลิ่มเลือดนั้นๆ จึงช่วยให้การไหลเวียนโลหิตเป็นปกติเช่น ในการรักษาและ/หรือในการป้องกันโรคหลอดเลือด สมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

ยาต้านการแข็งตัว/ยาต้านการจับตัวของเลือดนี้แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drugs)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) และ
  • ยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics drugs หรือ Fibrinolytic drugs)

แต่บทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่อง “ยาต้านเกล็ดเลือด” เท่านั้น โดยอีก 2 เรื่องจะได้แยกเขียนต่างหากในแต่ละเรื่องในเว็บ haamor.com

ยาต้านเกล็ดเลือดคือยาอะไร?

ยาต้านเกล็ดเลือด คือ ยาที่ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด (Platelet aggregation) ที่ก่อให้เกิดเป็นลิ่มเลือด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดจนส่งผลให้อวัยวะ ต่างๆขาดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยง

แบ่งยาต้านเกล็ดเลือดเป็นประเภทใดบ้าง?

แบ่งยาต้านเกล็ดเลือดเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้

1. Cyclooxygenase (COX, สารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ) inhibitors: ยาในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ยาแอสไพริน (Aspirin) แต่ใช้ยาในขนาดต่ำกว่าขนาดที่ใช้เป็นยาแก้ปวด, ยาลดไข้ และเป็นยาแก้อักเสบ

2. Adenosine diphosphate (ADP, สารที่ใช้ในการทำงานของเกล็ดเลือด) receptor antagonists เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel), ไทโคลพิดีน (Ticlopidine), พราซูเกรล (Prasugrel) และทิก้ากรีลอ (Ticagrelor)

3. Phosphodiesterase (PDE, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเม็ดเลือดและของหลอดเลือด) inhibitors เช่น ยาไดไพริดาโมล (Dipyridamole)

4. Glycoprotein IIb/IIIa (GP IIb/IIIa, สารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเกล็ดเลือด) inhibitors เช่น ยาแอ็บซิกซิแมบ (Abciximab)

ยาต้านเกล็ดเลือดมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านเกล็ดเลือดมีรูปแบบจำหน่ายเป็น:

  • ยาเม็ด
  • ยาแคปซูล
  • ยาฉีด

ยาต้านเกล็ดเลือดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาต้านเกล็ดเลือด ใช้เป็นยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดง (Arterial throm bosis) เช่น

  • ภาวะ/โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Myocardial infarction)
  • เจ็บ/แน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
  • หลอดเลือดสมองขาดเลือด (Ischemic stroke)
  • แต่นิยมใช้เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำในผู้ที่เคยเป็นมาก่อน(Secondary prevention) มากกว่าใช้ป้องกันในผู้ที่ยังไม่เคยมีอาการเหล่านี้

มีข้อห้ามการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดอย่างไร?

มีข้อห้ามการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น

1. ห้ามใช้ยาแอสไพริน (Aspirin), โคลพิโดเกรล (Clopidogrel), ไทโคลพิดีน (Ticlopidine) ในผู้ที่มีแผลหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (เลือดออกในทางเดินอาหาร)

2. ห้ามใช้แอสไพรินในผู้ที่มีอาการโรคหืด โรคลมพิษ หรือมีโพรงจมูกอักเสบแบบเฉียบ พลันจากการแพ้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAID)

3. ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในผู้มีโรคหรือภาวะเลือดออกเช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia, โรค เลือดแข็งตัวช้า), Thrombocytopenia (ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ), เลือดออกในสมองจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออก, เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น

4. มีโรคตับที่อาการรุนแรง (Severe hepatic impairment)

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดอย่างไร ?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น

1. แอสไพริน (Aspirin), โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) และไทโคลพิดีน (Ticlopidine) อาจทำ ให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร ดังนั้นควรรับประทานยาเหล่านี้หลังอาหารทันทีและดื่มน้ำเปล่าสะอาด ตามมากๆ

2. ยาโคลพิโดเกรล และไทโคลพิดีน อาจทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ต่ำ จนอาจมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นต้องติดตามระดับเม็ดเลือดขาวทุก 2 สัปดาห์ติดต่อกันใน 3 เดือนแรกของการใช้ยาเหล่านี้ จากนั้นควรติดตามเป็นระยะ รวมทั้งตรวจการทำงานของตับด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

3. ควรหยุดยาต้านเกล็ดเลือดเป็นเวลา 1 - 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัดทุกชนิด

4. ระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในคนไข้ที่ตับหรือไตทำงานผิดปกติ

5. ระวังการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหลายชนิดร่วมกันรวมทั้งการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดร่วมกับยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants) เพราะเพิ่มโอกาสการเกิดเลือดไหลไม่หยุด (Severe bleeding) ได้

6. ระวังการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดร่วมกับการบริโภคอาหารเสริมและสมุนไพรบางชนิด เช่น วิตามินอี (Vitamin E), น้ำมันปลา (Fish oil) และแปะก๊วย (Ginko biloba) เพราะเพิ่มโอกาสเกิดภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆได้มากขึ้น

การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ยาต้านเกล็ดเลือดที่ใช้มากในหญิงตั้งครรภ์คือ

  • แอสไพริน (Aspirin) ที่มีขนาดยาต่ำ (Low dose aspirin) ความแรง 75 - 162 มิลลิกรัมต่อวัน โดยสามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ทุกไตรมาส (อายุครรภ์ 1 - 9 เดือน) และยังสามารถใช้ได้ในขณะที่ให้นมบุตร
  • แต่การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่นๆ แพทย์จะพิจารณาจากผลลัพธ์ที่ได้จากการรักษาร่วมกับความเสี่ยง/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ผู้สูงอายุที่มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้

และหากใช้ยากลุ่มนี้ชนิดที่ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร อาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองทางเดินอาหารหรือเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้มากกว่าในวัยหนุ่มสาว

การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดในเด็กควรเป็นอย่างไร?

ข้อมูลการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดอย่างเหมาะสมในเด็กมีค่อนข้างน้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก เพราะโรคที่มีการใช้ยาในกลุ่มนี้เป็นโรคไม่ค่อยพบในเด็ก แต่ส่วนใหญ่จะใช้แอสไพริน (Aspirin)ขนาดต่ำเพื่อป้องกันการเกิดอาการซ้ำ เช่น ป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงในเด็กที่เป็นโรค Kawasaki disease (โรคคาวาซากิ), รวมทั้งใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหลังจากผ่าตัดหัวใจในเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด (Congenital cardiac disease)

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดเป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียง (อันตราย/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา) ของยากลุ่มยาต้านเกล็ดเลือดคือ

  • การเกิดเลือดออกในอวัยวะต่างๆได้ง่ายที่มักเกิดเลือดออกในปริมาณมาก และเลือดที่ออกยังจะหยุดได้ช้ากว่าปกติมากจนอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
  • นอกจากนี้ยา แอสไพริน (Aspirin), โคลพิโดเกรล(Clopidogrel) และไทโคลพิดีน (Ticlopidine) อาจทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหารและเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย

คำแนะนำ

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(โดยเฉพาะยาต้านเกล็ดเลือดที่มีผลข้างเคียงที่อันตราย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ณัฐวุธ สิบหมู่. เภสัชวิทยา. 2. กรุงเทพฯ : โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2552.
  2. Israels, S. J. and Michelson, A. D. Antiplatelet therapy in children. Thrombosis Research 118 (2006) : 75-83
  3. Chan, W. S. and Douketis, J. D. Use of antiplatelet therapy in women who are pregnant of breastfeeding. http://thrombosiscanada.ca/websiteResources/antiplateletPresentations/Pregnancy-CCS-APT-TIG_June-16.pptx [2015,Feb21]
  4. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.