ซิมวาสแตติน (Simvastatin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ซิมวาสแตติน (Simvastatin) เป็นยาสำหรับลดไขมันในหลอดเลือด สังเคราะห์มาจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Aspergillus terreus ในต่างประเทศมักจะคุ้นเคยในชื่อการค้าว่า Zocor นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังนำยาซิมวาสแตตินมาใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ อันมีสาเหตุมาจากภาวะไขมันในเลือดสูงอีกด้วย

หลังจากรับประทาน ยาซิมวาสแตตินจะถูกดูดซึม และถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ภายในเวลา 2 ชั่วโมงโดยประมาณ ระดับยาในกระแสเลือดจะลดลงครึ่งหนึ่ง (Half life) และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ

ซิมวาสแตตินจัดเป็นยาอันตราย ด้วยมีผลข้างเคียงและข้อจำกัดในการรับประทาน จึงไม่สมควรซื้อยามารับประทานเอง การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลและคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ยาซิมวาสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซิมวาสแตติน

สรรพคุณของยาซิมวาสแตติน คือ

  • ช่วยลดระดับไขมันในหลอดเลือด เช่น Low density lipoprotein (LDL), คอเลสเตอ รอล (Cholesterol), และไตรกลีเซไรด์ (Triglyceride)
  • ช่วยเพิ่มปริมาณไขมันตัวที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น High density lipoprotein (HDL)
  • ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease) เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด(โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) ภาวะเจ็บหน้าอก

ยาซิมวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

หลังจากที่ยาซิมวาสแตตินถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ และได้สารอนุพันธ์ที่จะไปออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA Reductase เป็นเหตุให้สาร HMG-CoA (สารตั้งต้นของCholesterol) ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็น Mevalonic acid (สาระสำคัญที่ใช้ในกระบวนการสัง เคราะห์ทางชีวเคมีของร่างกาย) ด้วยกลไกที่กล่าวมา ทำให้ไขมัน Cholesterol ทุกชนิดย่อย (Total cholesterol), LDL-Cholesterol, และ Triglyceride ลดลง และเพิ่มระดับของ HDL-Cholesterol ซึ่งเป็นไขมันตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ยาซิมวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซิมวาสแตตินจัดจำหน่ายในรูปแบบของ ยาเม็ดขนาด 10, 20, 40 และ 80 มิลลิกรัม

ยาซิมวาสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาซิมวาสแตติน คือ

  • ขนาดรับประทานทั่วไปอยู่ในช่วง 5 – 80 มิลลิกรัม วันละครั้ง โดยรับประทานในช่วงเย็น ขนาดสูงสุดในการรับประทานไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อวัน
  • สำหรับป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ: รับประทาน 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง
  • สำหรับภาวะ LDL-Cholesterol สูง: รับประทาน 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง
  • สำหรับภาวะคอเลสเตอรอลสูงไม่มากไปจนถึงระดับปานกลาง (Mild to moderate cholesterolemia): รับประทานเริ่มต้นที่ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง
  • สำหรับภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเด็กอายุ 10 – 17 ปี (Heterozygous Familial hyper cholesterolemia Children): รับประทานเริ่มต้นที่ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง ทั้งนี้สำหรับเด็กห้ามรับประทานเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน

ซิมวาสแตตินสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ควรรับประทานกับน้ำเปล่า ไม่ควรรับประทานพร้อมกับน้ำผลไม้ การรับประทานยาจะต้องได้รับการตรวจร่างกายว่า ระดับไขมันในกระแสเลือดสูงมากน้อยเพียงใด แพทย์จึงจะสามารถปรับขนาดรับประทานได้อย่างปลอดภัย และเหมาะสม ดังนั้นผู้ป่วยไม่สมควรปรับขนาดการรับประทาน หรือหยุดยาด้วยตนเอง

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาซิมวาสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาซิมวาสแตตินอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย

ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซิมวาสแตติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาซิมวาสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจพบผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาซิมวาสแตตินได้ดังนี้ เช่น ปวดท้อง ท้อง ผูก ท้องอืด ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผื่นคัน วิงเวียน เป็นตะคริว ตับอ่อนอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า

มีข้อควรระวังการใช้ยาซิมวาสแตตินอย่างไร?

ยาซิมวาสแตตินมีข้อควรระวังในการใช้ คือ

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยาซิมวาสแตติน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับขั้นรุนแรง หรือภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กทารก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติติดสุรา หรือผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคตับ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาซิมวาสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาซิมวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยา ของยาซิมวาสแตติน กับยาตัวอื่น คือ

  • การใช้ยาซิมวาสแตตินร่วมกับยาต้านวัณโรคบางตัว สามารถลดประสิทธิผลในการรักษาของซิมวาสแตติน จึงทำให้ระดับไขมันในเลือดยังคงสูงอยู่ ยารักษาวัณโรคดังกล่าว เช่น Rifampin
  • นอกจากนี้ หากใช้ซิมวาสแตตินร่วมกับยารักษาวัณโรคที่ชื่อว่า Isoniazid สามารถส่งผลกระ ทบต่อระบบประสาท เช่น มีอาการชา ปวดแสบปวดร้อน หรือเสียวบริเวณมือและเท้า
  • การใช้ซิมวาสแตตินร่วมกับยาปฏิชีวนะที่ผสมยาลดกรดบางตัว อาจทำให้ระดับซิมวาสแตตินในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ อาทิเช่น สร้างความเสียหายต่ออวัยวะตับ, เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายอักเสบรุนแรง นอกจากนี้ สามารถตรวจพบภาวะไตมีการทำ งานผิดปกติ หรือมีไข้ หนาวสั่น ปวดตามข้อ บวมตามร่างกาย ผื่นคัน ปัสสาวะมีสีคล้ำ ยาปฏิชีวนะกับยาลดกรดดังกล่าว เช่น Clarithromycin และ Lansoprazole ตามลำดับ
  • การใช้ซิมวาสแตตินร่วมกับยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม สามารถเพิ่มระดับซิมวาสแตตินในกระแสเลือด ทำให้ได้รับผลข้างเคียงติดตามมา เช่น กล้ามเนื้อลายอักเสบรุนแรง ภาวะตับ-ไตเสียหาย ปวดกล้ามเนื้อ ผื่นคัน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะมีสีคล้ำ ตัวเหลือง ตาเหลือง ยาลดความดันโลหิตดังกล่าว เช่น Amlodipine, Diltiazem, Verapamil เป็น ต้น
  • นอกจากนี้ ยังมียาอีกหลายกลุ่มเมื่อใช้ร่วมกับซิมวาสแตติน จะทำให้ระดับของยาซิมวาสแตตินในกระแสเลือดสูงขึ้น และส่งผลข้างเคียงติดตามมาดังที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้น ยาเหล่านั้นได้แก่
  • ยาต้านเชื้อรา เช่น Clotrimazole, Ketoconazole, Miconazole
  • ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น Cyclosporine
  • ยารักษาเอชไอวี (HIV) เช่น Amprenavir, Atazanavir, Tipranavir

ควรเก็บรักษายาซิมวาสแตตินอย่างไร?

สามารถเก็บยาซิมวาสแตตินในอุณหภูมิห้อง บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ยาซิมวาสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตยาซิมวาสแตตินในประเทศไทย เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bestatin (เบสแตติน)Berlin Pharm
Eucor (ยูคอร์)Greater Pharma
Lochol (โลคอล)Siam Bheasach
Simvas (ซิมวาส)Masa Lab
Simvor (ซิมวอร์)Ranbaxy Unichem
Torio (โทริโอ)Unison
Vytorin (วายโทริน)MSD
Zimmex (ซิมเม็กซ์)Silom Medical
Zimva (ซิมวา)GPO
Zocor (โซคอร์)MSD

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Simvastatin [2014,April 12].
2. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Bestatin/?q=simvastatin&type=brief [2013,April12].
3. http://www.mims.com/THAILAND/drug/info/Zocor/ [2013,April12].
2. http://www.drugs.com/drug-interactions/simvastatin-index.html?filter=2#I [2013,April12].
3. http://www.healthcentral.com/cholesterol/r/medications/simvastatin-oral-6105/dosage [2013,April12].
4. http://www.heart.org/HEARTORG/Conditions/More/MyHeartandStrokeNews6. [2013,April12].
5. http://thaibdlab.com/hypercholesterolemia.htm [2013,April12].