ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetics)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาชาเฉพาะที่

ยาชาเฉพาะที่หมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?

ยาชาเฉพาะที่ หรือทั่วไปมักเรียกว่า “ยาชา” (Local Anesthetics) คือ ยาที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นการนำส่งกระแสประสาทเฉพาะ ในบริเวณที่ยาสัมผัสกับเส้นประสาทเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกในบริเวณเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง แต่ผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัวตลอดเวลา

แบ่งยาชาเฉพาะที่เป็นประเภทใดบ้าง?

แบ่งยาชาเฉพาะที่ตามสูตรโครงสร้างทางเคมีได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

1. ยาชากลุ่มเอสเทอร์ (Esters, สารที่ช่วยให้ตัวยาละลายน้ำได้ดีกว่าสารจำพวกเกลือ) เช่น โคเคน (Cocaine), โพรเคน (Procaine), เบนโซเคน (Benzocaine), เตตราเคน (Tetracaine), คลอโรโพรเคน (Chloroprocaine)

2. ยาชากลุ่มเอไมด์ (Amides, สารที่มีฤทธ์เป็นด่างอ่อนและเป็นอีกชนิดที่ช่วยให้ตัวยา ละลายน้ำได้ดีขึ้น) เช่น ไลโดเคน (Lidocaine), บิวพิวาเคน (Bupivacaine), เอทิโดเคน (Etido caine), ไพรโลเคน (Prilocaine), โรพิวาเคน (Ropivacaine), เมพิวาเคน (Mepivacaine)

ยาชาเฉพาะที่มีอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

ยาชาเฉพาะที่มีอยู่ในรูปแบบดังนี้เช่น

  • ยาเตรียมปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาหยอดตา (Ophthalmic solution)
  • ยาเจล (Jelly)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาครีม (Cream)
  • ยาพ่น (Spray)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยาชาเฉพาะที่มีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาชาเฉพาะที่มีข้อบ่งใช้ดังนี้

1. ใช้ฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าช่องเหนือช่องน้ำไขสันหลัง/การเจาะหลัง (Epidural space) เพื่อลดปวดในขณะที่คลอดลูก หรือลดปวดหลังการผ่าตัดต่างๆ

2. ฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลังเป็นการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนล่างของร่างกาย ใช้ในการผ่าตัดบริเวณต่ำกว่าช่องท้องส่วนล่างเช่น ที่ขา หรือการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง

3. ใช้เป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Infiltration anesthesia) เพื่อให้เกิดการชาเฉพาะที่ได้ ใช้ในการผ่าตัดขนาดเล็กเช่น การเย็บแผล

4. ใช้ทาหรือพ่นในช่องปาก โพรงจมูก ทางเดินหายใจ หลอดลม หรือทวารหนัก เพื่อลดปวดจากแผลต่างๆในส่วนนั้นๆ

5. ใช้ทาหรือพ่นผิวหนังเพื่อให้ชาก่อนเจาะเลือด/การตรวจเลือดหรือให้สารน้ำทางหลอดเลือด

6. ใช้เป็นยาหยอดตาเพื่อใช้ในการผ่าตัดตา

มีข้อห้ามใช้ยาชาเฉพาะที่อย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาชาเฉพาะที่ดังนี้เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาชาเฉพาะที่นั้นๆหรือแพ้ส่วนประกอบอื่นๆในตำรับยานั้นๆเช่น สารกันเสีย หรือแพ้ตัวยาอื่นในกลุ่มเดียวกันเช่น หากแพ้ยาเบนโซเคนก็อาจแพ้ยาเตตราเคนได้ ส่วนใหญ่จะพบอาการแพ้จากยาชาในกลุ่มเอสเทอร์มากกว่ายาชาในกลุ่มเอไมด์

2. ห้ามใช้ยาชาเฉพาะที่ผสมกับยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ฉีดเข้าบริเวณอวัยวะส่วนปลาย เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า ปลายจมูก ใบหู หรือองคชาต เพราะอาจทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวจนขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเหล่านั้น จนทำให้เกิดภาวะเนื้อตายจากเหตุขาดเลือดได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาชาเฉพาะที่อย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาชาเฉพาะที่ดังนี้เช่น

1. ระวังการใช้ยาชาเฉพาะที่กลุ่มเอไมด์ในผู้ป่วยโรคตับเพราะยาชาฯส่วนใหญ่ถูกทำลายที่ตับ

2. ระวังการใช้ยาชาเฉพาะที่ในผู้ป่วยที่มีภาวะ Pseudocholinesterase deficiency คือ ภาวะผิด ปกติทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมากที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของเอนไซม์บางชนิดในพลาสมาที่จะ มีผลให้ยาสลบ ยาชาฯ หรือยาคลายกล้ามเนื้อออกฤทธิ์ได้สูงเกินไปจนผู้ป่วยอาจเกิดกล้ามเนื้ออ่อน แรงจนอาจเกิดภาวะหยุดหายใจได้

3. ระวังการใช้ยาชาเฉพาะที่เกินขนาดเพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาชาฯได้ ควรใช้ยาชาฯในความแรงและปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่ยาชาฯจะออกฤทธิ์ตามต้องการได้

4. การใช้ยาชาเฉพาะที่ในการทาหรือพ่นให้ยาชาฯซึมผ่านผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ จะต้องใช้ยา ชาฯปริมาณมากเพื่อให้ยาซึมผ่านไปได้ จึงต้องระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาชาฯเกินขนาดด้วย

การใช้ยาชาเฉพาะที่ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาชาเฉพาะที่ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรมีข้อระวังดังนี้เช่น

1. หากหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และที่ 3 ได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลัง จะทำให้ระดับยาชาฯในร่างกายสูงกว่าคนปกติ ดังนั้นแพทย์จะลดปริมาณยาชาฯลง

2. ยาลิโดเคนเป็นยาที่ใช้ได้อย่างในปลอดภัยหญิงตั้งครรภ์ แม้ยานี้จะผ่านรกได้แต่ตับของทารกสามารถทำลายยานี้ได้ดี

3. ยาบิวพิวาเคนเป็นยาที่ถูกนำมาใช้บ่อยในการทำคลอด แต่ยามีข้อเสียคือกดการทำงานของหัวใจของมารดาได้ ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือแพทย์อาจปรับขนาดยาลง

4. ไม่ควรใช้ยาเมพิวาเคนในการทำคลอดเพราะเป็นยาที่ออกฤทธิ์นานและสามารถผ่านเข้าไปถึงทารกในครรภ์ได้

5. ไม่ควรใช้ยาไพรโลเคนในการทำคลอดเพราะยาทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงในร่างกายผิดปกติ (Methemoglobinemia) ในทารกแรกเกิดได้

การใช้ยาชาเฉพาะที่ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาชาเฉพาะที่ในผู้สูงอายุควรมีข้อควรระวัง เพราะผู้สูงอายุอาจมีโรคประจำตัวบางชนิดที่ทำให้ต้องระวังการใช้ยาชาฯเช่น โรคตับ เพราะยาชาฯส่วนใหญ่ถูกทำลายที่ตับ ดังนั้น แพทย์อาจต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจควรระวังการใช้ยาชาฯเช่นกัน เพราะยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่น กดการทำงานของหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ

การใช้ยาชาเฉพาะที่ในเด็กควรเป็นอย่างไร?

ไม่ควรใช้ยาชาเฉพาะที่ชนิดที่ออกฤทธิ์นานในเด็ก เนื่องจากอวัยวะของเด็กเช่น ตับหรือไตยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จะส่งผลให้เด็กต้องใช้เวลาในการกำจัดยามากกว่าปกติ ดังนั้นหากได้รับยาชาชนิดออกฤทธิ์นานอาจส่งผลให้ระยะเวลาที่ยาอยู่ในร่างกายของเด็กนั้นนานมากเกิน ไปจนอาจส่งผลเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาชาเฉพาะที่คืออะไร?

อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาชาเฉพาะที่อาจเกิดจากได้รับยาเกินขนาด หรือฉีดยาเข้าหลอดเลือดโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้เช่น

ก. ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง: คือ ระยะแรกยาชาเฉพาะที่จะกระตุ้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวล สับสน กระวนกระวาย กล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก และอาจเกิดอาการชักได้ หลังจากนั้นยาจะกดประสาทโดยผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หมดสติ และระบบหายใจล้มเหลวจนอาจเสียชีวิต (ตาย) ได้

ข. ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: คือ ยามีผลกดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาชาเฉพาะที่ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.
  2. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.http://cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4402/content/ [2018,March31]
  3. อุดมรัตน์ เขมาลีลากุล. เอกสารประกอบการสอนกระบวนวิชา DOS 408381 เรื่อง ยาเฉพาะที่ คุณสมบัติทางเคมีและเภสัชวิทยา. http://web1.dent.cmu.ac.th/mis/dis/UserFiles/File/surg/SheetDOS381/local%20anes.pdf [2018,March31]
Updated 2018, March31