ยาฆ่าหญ้าหรือฆ่าคน (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ยาฆ่าหญ้าหรือฆ่าคน-3

      

      โดยตัวของไกลโฟเซตจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่เมื่อมีการผสมกับส่วนประกอบอื่นเพื่อให้ไกลโฟเซตซึมเข้าสู่ตัวพืชแล้ว ส่วนประกอบอื่นมักจะสร้างความเป็นพิษเสียมากกว่า ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไกลโฟเซตอาจทำให้ตาหรือผิวเกิดการระคายเคือง หรือคนที่หายใจเอาละอองเข้าไปก็จะรู้สึกระคายเคืองที่จมูกและคอ นอกจากนี้การกลืนไกลโฟเซตจะทำให้เกิดอาการ

      o น้ำลายฟูมปาก

      o ปากและคอไหม้

      o คลื่นไส้

      o อาเจียน

      o ท้องเสีย

      ส่วนใหญ่ร่างกายจะขับไกลโฟเซตออกทางปัสสาวะและอุจจาระ เช่นเดียวกันสัตว์เลี้ยงก็อาจมีความเสี่ยงหากไปสัมผัสหรือกินพืชที่ยังเปียกอยู่หลังการฉีดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไกลโฟเซต ซึ่งจะทำให้สัตว์มีน้ำลายยืด อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือง่วงซึม

      มีงานวิจัยหลายฉบับที่ระบุว่าไกลโฟเซตไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็ง อย่างไรก็ดี งานวิจัยบางฉบับระบุว่าไกลโฟเซตอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้

      คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวมีกลิ่นแรง สามารถละลายได้ที่อุณหภูมิ 43 C เป็นสารเคมีที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503

      คลอร์ไพริฟอสเป็นยาฆ่าแมลงที่มีผลต่อระบบประสาทของมนุษย์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการสูด กิน หรือการสัมผัส โดยอาการที่เกิดจากการสูดและกิน ได้แก่

      o อาการปวดศรีษะ

      o มองเห็นภาพไม่ชัด

      o คัดจมูก (Runny nose)

      o น้ำตาไหล (Lacrimation)

      o เวียนศีรษะ

      o คลื่นไส้ ท้องเสีย

      o การเต้นของหัวใจผิดปกติ

      สำหรับอาการรุนแรงอาจทำให้กลั้นอุจจาระไม่ได้ (Faecal incontinence) ระบบการหายใจเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ ส่วนการสัมผัสอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและสามารถทำให้ผิวไหม้ได้ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์จะไวต่อสารคลอร์ไพริฟอสมากกว่าปกติ ซึ่งในระยะยาวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายของทารกดังนี้

• ผลเสียต่อการพัฒนาของระบบประสาท เช่น มีผลต่อยีนที่ควบคุมกระบวนการสำคัญในการพัฒนาเซลล์สมอง โดยมีงานวิจัยหลายแห่งที่ระบุว่า มีผลทำให้เด็กมีไอคิวลดลง มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น (ADHD) เป็นโรคออทิสซึ่ม (Autism) และมีปัญหาเรื่องความผิดปกติต่างๆ

• ทารกตัวเล็กลง

• สารก่อกวนระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disruption) และมีผลต่อระดับฮอร์โมน

• เป็นโรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

      ทั้งนี้ สารคลอร์ไพริฟอสสามารถคงอยู่ในดินได้นานหลายสัปดาห์จนเป็นปีจึงจะย่อยสลาย ทั้งยังสามารถซึมลงสู่แม่น้ำลำธารและเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Glyphosate. http://npic.orst.edu/factsheets/glyphogen.html[2019, May 12].
  2. Chlorpyrifos. https://www.panna.org/resources/chlorpyrifos-facts [2019, May 12].
  3. Chlorpyrifos.http://apps.sepa.org.uk/spripa/Pages/SubstanceInformation.aspx?pid=133 [2019, May 12].