ยาฆ่าหญ้าหรือฆ่าคน (ตอนที่ 1)

ยาฆ่าหญ้าหรือฆ่าคน-1

      

      นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอท ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติเห็นชอบใน 6 มาตรการจำกัดการใช้ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 5 ฉบับ อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน

      โดยภายหลังจากประกาศฯ ทั้ง 5 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว จะมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องปฎิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยต้องผ่านการอบรม และหรือผ่านการทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย

      กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมวิทยากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาค 240 คน แบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่นๆ ที่ 1 อบรมวันที่ 24 เมษายนนี้ ส่วนรุ่นที่ 2 อบรมวันที่ 25 เมษายน เพื่อเป็นวิทยากรไปอบรมเจ้าหน้าที่ 2,000 คน และไปอบรมเกษตรกร ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนผู้รับจ้างพ่น 50,000 คน จะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

      และจะจัดอบรมให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่น้อยกว่า 79,000 คน ผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ ช่วงมิถุนายน 2562

      พาราควอท (Paraquat) เป็นสารเคมีพิษที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการกำจัดศัตรูพืช เช่น ใช้ควบคุมหญ้าและวัชพืช มีการเริ่มใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2504 พาราควอตอาจอยู่ในรูปของเกลือคลอไรด์ (Salt with chloride) หรือไอออน (Anions) อื่นๆ

      พาราควอตเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ โดยมีงานวิจัยของ US National Institutes of Health และอีกหลายแห่งที่ระบุว่า พาราควอตมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคพาร์คินสัน (Parkinson's disease) ดังนั้น พาราควอตจึงถูกห้ามใช้ในหลายประเทศ

      ความรุนแรงของพิษขึ้นอยู่กับปริมาณ ระยะเวลาที่สัมผัส และสุขภาพของแต่ละคน เมื่อพาราควอตเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปทั่ว อวัยวะที่ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ คือ ปอด ตับ และไต หากมีการกลืนทางปาก พาราควอตจะทำลายเยื่อบุผนังปาก กระเพาะ และลำไส้ โดยมีอาการดังนี้

  • มีอาการปวดและบวมที่ปากและคอทันที แล้วตามด้วยอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย (ซึ่งอาจจะถ่ายปนเลือด)
  • อาการรุนแรงที่เกิดกับระบบทางเดินอาหารอาจทำให้มีภาวะขาดน้ำ ระดับเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ (โซเดียมและโปแตสเซียมในร่างกายไม่เพียงพอ) และมีความดันโลหิตต่ำ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. อบรมใช้ 3 สารเคมี อย่างถูกต้องและปลอดภัย. https://www.thaihealth.or.th/Content/48469-อบรมใช้ 3 สารเคมี อย่างถูกต้องและปลอดภัย.html [2019, May 10].
  2. Facts About Paraquat. https://emergency.cdc.gov/agent/paraquat/basics/facts.asp [2019, May 10].
  3. Paraquat. https://en.wikipedia.org/wiki/Paraquat [2019, May 10].