ยาควบคุมอารมณ์ (Antimanic drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาควบคุมอารมณ์(Antimanic drugs หรือ Mood Stabilizers) เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์บำบัดหรือลดภาวะคลุ้มคลั่ง หรือความผิดปกติทางจิตใจ หรือความตื่นเต้นที่มีมากเกินไป ตัวยาจะช่วยปรับพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น พูดมากเกินไป มีความเชื่อมั่นมากผิดปกติ อยากอาหารเพิ่มขึ้น มีภาวะอารมณ์แปรปรวน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวไม่ค่อยจะสอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงสักเท่าใดนัก กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจแสดงออกในลักษณะเห็นภาพหลอน หรือมีอาการหวาดระแวงจนเกินเหตุ การใช้ยาควบคุมอารมณ์จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่แพทย์นำมาช่วยเหลือผู้ป่วย

ยาควบคุมอารมณ์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาควบคุมอารมณ์

ยาควบคุมอารมณ์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการอารมณ์สองขั้ว(Bipolar disorder)
  • ระงับอาการคลุ้มคลั่ง และภาวะซึมเศร้า (Mania and depression)
  • บำบัดอาการจิตเภท (Schizoaffective disorder)

ยาควบคุมอารมณ์มีกี่ประเภทอะไรบ้าง?

สามารถแบ่งยาควบคุมอารมณ์ออกเป็นประเภทดังนี้

1 ยาประเภทแร่ธาตุ(Mineral)

  • Lithium เป็นยาที่ได้รับความนิยมมาจนกระทั่งปัจจุบัน เพื่อใช้รักษาภาวะอารมณ์ สองขั้ว และบำบัดโรคซึมเศร้า อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยานี้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เดินเซ ง่วงนอน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การมองเห็นไม่ชัดเจน อาจมี อาการสั่นเล็กน้อย โดยทั่วไปผลข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการใช้ยานี้ หลังจากนั้นอาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ

2 ยากันชัก(Anticonvulsants): ได้แก่

  • Valproate สามารถใช้บำบัดอารมณ์สองขั้ว อาการจิตเภท ยานี้อาจทำให้เกิด อาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร มีผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อตับ และต่อระบบเลือด
  • Lamotrigine สามารถบำบัดภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยอาจได้รับอาการข้างเคียง อย่างเช่น Stevens-Johnson syndrome
  • Carbamazepine ใช้ระงับอาการคลุ้มคลั่ง อารมณ์แปรปรวน อารมณ์ซึมเศร้า ผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ

3 ยารักษาโรคจิต (Antipsychotics) ใช้บำบัดรักษาอาการโรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว ภาวะซึมเศร้า ซึ่งมียาหลายรายการ เช่น Aripiprazole, Risperidone, Olanzapine, Quetiapine, Asenapine, Paliperidone, Ziprasidone, และ Lurasidone

อนึ่ง การใช้ยาควบคุมอารมณ์เพียงตัวเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับผุ้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนมากแพทย์จะใช้ยามากกว่า 1 สูตรตำรับยาในการรักษาโดยมี Lithium หรือ Valproate เป็นยาร่วมซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิผลที่ดีกว่าการใช้ยาเพียงสูตรตำรับเดียว อย่างไรก็ตาม ก็มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่เกิดตามมามากขึ้นเช่นกัน

ยาควบคุมอารมณ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาควบคุมอารมณ์มีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้ เช่น

  • Lithium เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งโซเดียมออกนอกเซลล์ประสาท และ กล้ามเนื้อ ตัวยาจะคอยปิดกั้นการหมุนเวียนของ Inositol ทำให้การควบคุมการส่ง สัญญาณกระแสประสาทระดับ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ให้เป็นไปในแนวทางปกติ ได้มากยิ่งขึ้น
  • ยากันชัก(Anticonvulsants) มีกลไกยับยั้งการขนถ่ายโซเดียมของระดับเซลล์ ทำให้การส่งสัญญาณกระแสประสาทเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น การปรับเปลี่ยนสัญญาณของกระแสประสาทให้มีสมดุลและเป็นไปอย่างเหมาะสม จะทำให้การควบคุมอารมณ์และจิตใจดีขึ้น ส่งผลบรรเทาอาการของจิตประสาทได้ตามสรรพคุณ

ยาควบคุมอารมณ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาควบคุมอารมณ์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

1 Lithium: ยาแคปซูลสำหรับรับประทานขนาด 300 มิลลิกรัม/แคปซูล

2 Valproate:

  • ยาฉีด 400 มิลลิกรัม/4 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทานขนาด 200 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำสำหรับรับประทานขนาด 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

3 Carbamazepine :

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทานขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำสำหรับรับประทานขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • Lamotrigine : ยาเม็ดแบบรับประทานขนาด 25, 50, 100และ200 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาควบคุมอารมณ์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาควบคุมอารมณ์ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว และต้องอยู่ ในเงื่อนไขบางประการดังต่อไปนี้ เช่น

  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดใช้ยาโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ร่วมกัน
  • ไม่ใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
  • หยุดการใช้ยา หากเกิดอาการแพ้ยา แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีเกิดอาการข้างที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถขอคำปรึกษา จากแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • มารับยาและตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาควบคุมอารมณ์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคจิตเภท รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาควบคุมอารมณ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคจิตเภท รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาควบคุมอารมณ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน

ยาควบคุมอารมณ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาควบคุมอารมณ์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปากแห้ง กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อการทำงานของระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน ตัวสั่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เท้าบวม ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ใจสั่น หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจทำงานผิดปกติ หลอดเลือดดำอักเสบ เกิดภาวะลิ่มเลือดจับตัวในหลอดเลือด
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ กดไขกระดูก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว
  • ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะมากผิดปกติ เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น เกิดภาวะจิต/ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ต่อมไทรอยด์โต

มีข้อควรระวังการใช้ยาควบคุมอารมณ์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาควบคุมอารมณ์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ระหว่างที่ใช้ยากลุ่มนี้ ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกาย เพื่อตรวจภาวะแทรกซ้อนตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ระหว่างการใช้ยานี้หากพบอาการ อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่า อาจเกิดอาการแพ้ยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาควบคุมอารมณ์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ยาควบคุมอารมณ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาควบคุมอารมณ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้ เช่น

  • การใช้ยา Carbamazepine ร่วมกับยาบางกลุ่ม จะทำให้ปริมาณความเข้มข้นของยาเหล่านั้นในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษา ตัวอย่างของยาบางกลุ่มที่กล่าวถึง เช่น
    • ยาแก้ปวด เช่น Acetaminophen, Tramadol
    • ยาฆ่าพยาธิ เช่น Albendazole
    • ยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด เช่น Alprazolam, Clonazepam, Midazolam
    • ยาต้านเศร้า เช่น Amitriptyline, Nortriptyline
    • ยาสเตียรอยด์ เช่น Prednisolone, Dexamethasone
    • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Dicumarol, Warfarin
    • ยาฮอร์โมนต่างๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด, Levothyroxine
  • การใช้ยาLamotrigine ร่วมกับ Sodium Valproate สามารถทำให้ร่างกายทำลายยาLamotrigineได้ลดลง ส่งผลให้ยาLamotrigine อยู่ในร่างกายได้นานมากขึ้นจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงสูงขึ้นตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามรับประทานยาLithium ร่วมกับยาแก้ปวดบางตัว เช่น Tramadol เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักขึ้นได้

ควรเก็บรักษายาควบคุมอารมณ์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาควบคุมอารมณ์ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงพื้นดินหรือตามแม่น้ำคูคลองในธรรมซาติ

ยาควบคุมอารมณ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาควบคุมอารมณ์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Licarb (ไลคราบ) R.x.
Limed (ไลเมด) Medifive
Lamictal (ลามิกทอล) GlaxoSmithKline
Antafit (แอนตาฟิท) Polipharm
Carbazene (คาร์บาซีน) Medifive
Carmapine (คาร์มาปีน) Pharmasant Lab
Carpine (คาร์ปีน) Atlantic Lab

บรรณานุกรม

  1. https://www.britannica.com/science/antimanic-drug [2018,Aug11]
  2. https://www.youtube.com/watch?v=0mhAN4-8uWo [2018,Aug11]
  3. http://tmedweb.tulane.edu/pharmwiki/doku.php/mood_stabilizers_antimanic [2018,Aug11]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/sodium%20valproate%20aguettant/?type=brief [2018,Aug11]