ยาขับเหล็ก (Iron Chelators)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาขับเหล็ก

ยาขับเหล็กคือยาอะไร?

ยาขับเหล็ก(Iron Chelators) หมายถึง ยาที่ใช้กำจัดธาตุเหล็กในร่างกายของผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งมีภาวะเหล็กเกินจากการรับเลือดหรือดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากร่างกายของมนุษย์ยังไม่มีกลไกในการกำจัดธาตุเหล็กที่มากเกินความต้องการออกไป ดังนั้นธาตุเหล็กที่สะสมอยู่จึงส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ เช่น เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อตับและหัวใจ การทำงานของต่อมไร้ท่อผิดปกติ นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ตับอักเสบ โรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

ยาขับเหล็กมีกี่ชนิด?

ยาขับเหล็กที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่

1. ดีเฟอร์ร็อกซามีน (Deferoxamine) หรือเดสเฟอร์ริอ็อกซามีน (Desferrioxamine) มีชื่อการค้า คือ (Desferal®) เป็นยาตัวเลือกแรกที่ใช้รักษาภาวะเหล็กเกิน เนื่องจากใช้มานาน ประสิทธิภาพดีและค่อนข้างปลอดภัย มีวิธีใช้โดยการฉีดเข้าเส้นเลือดดำอย่างช้าๆ หรือหยดเข้าใต้ผิวหนังช้าๆ นาน 8-12 ชั่วโมง 5-7 วัน/สัปดาห์ แต่ยังมีข้อเสีย คือ ราคาแพง มีวิธีการใช้ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ไม่สะดวก ผู้ป่วยจึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการใช้ยา

2. ดีเฟอริโพรน (Deferiprone) มีชื่อการค้า คือ Ferriprox®, Kelfer®, GPO-L-ONE® เป็นยาที่เลือกใช้เป็นอันดับถัดมาในผู้ป่วยที่ใช้ Deferoxamine ไม่ได้ มีราคาถูกและอยู่ในรูปแบบรับประทานจึงใช้ได้อย่างสะดวก ผู้ป่วยให้ความร่วมมือมากกว่ายาฉีด แบ่งให้ 3 ครั้ง/วัน

3. ดีเฟอราซิร็อก (Deferasirox) มีชื่อการค้า คือ (Exjade®) เป็นยาขับเหล็กตัวใหม่ที่อยู่ในรูปแบบยาเม็ดที่ต้องละลายในน้ำเปล่า น้ำส้ม หรือน้ำแอปเปิ้ล แล้วคนให้เข้ากันก่อนรับประทาน รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง เป็นยาที่มีวิธีการใช้สะดวกแต่มีราคาแพง

ยาขับเหล็กมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นอย่างไร?

ยาขับเหล็กมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

1. Deferoxamine อยู่ในรูปแบบยาผงปราศจากเชื้อสำหรับใช้เป็นยาฉีด (Sterile powder for injection)

2. Deferiprone อยู่ในรูปแบบยาเม็ด (Tablet), ยาแคปซูล (Capsule), และยาสารละลาย (Oral solution)

3. Deferasirox อยู่ในรูปแบบยาเม็ดที่ต้องละลายในน้ำก่อนรับประทาน (Tablet for oral suspension)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาขับเหล็กอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาขับเหล็กดังนี้

1. Deferoxamine: ใช้กำจัดพิษจากภาวะธาตุเหล็กสูงผิดปกติทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง

2. Deferiprone: ใช้รักษาภาวะธาตุเหล็กเกินเรื้อรังเนื่องจากการรับเลือด (Transfusional haemosiderosis) ในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจจากภาวะเหล็กเกิน (Iron Overload Cardiomyopathy) และลดอัตราการตายจากการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

3. Deferasirox: ใช้รักษาภาวะธาตุเหล็กเกินเรื้อรังเนื่องจากการรับเลือด (Transfusional haemosiderosis) ในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

มีข้อห้ามใช้ยาขับเหล็กอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาขับเหล็ก ดังนี้

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ แพ้ส่วนประกอบอื่นๆ ในตำรับหรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยานั้นๆที่รุนแรง

2. ห้ามใช้ยา Deferoxamine ในผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง ไตวาย หรือมีปริมาณปัสสาวะน้อยลงผิดปกติ(Anuria)

3. ห้ามใช้ยา Deferoxamine ร่วมกับวิตามินซี (Vitamin C) เพื่อเสริมประสิทธิภาพการขับเหล็กในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะอาจทำให้การทำงานของหัวใจแย่ลง

4. Deferasirox เป็นยาเม็ดที่ต้องละลายในน้ำก่อนรับประทาน ห้ามเคี้ยวหรือกลืนยาทั้งเม็ด

5. ห้ามใช้ยา Deferasirox ในผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายไม่แข็งแรง โรคมะเร็งเม็ดเลือด มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเอ็มดีเอส (Myelodysplastic Syndrome, MDS) มีอัตราการกรองของไต(Glomerular filtration rate, GFR) ต่ำกว่า 40 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร หรือมีจำนวนเกล็ดเลือด (Platelet count) ต่ำกว่า 50 x 109 เซลล์/ลิตร

มีข้อควรระวังการใช้ยาขับเหล็กอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาขับเหล็ก ดังนี้

1. ไม่ควรใช้ยา Deferoxamine โดยการฉีดหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำภายในระยะเวลาสั้นๆ เพราะอาจทำให้ ใบหน้าแดง ผิวหนังแดง ผื่นลมพิษ ความดันโลหิตต่ำ และเกิดภาวะช็อกได้

2. ยา Deferoxamine อาจทำให้ผู้ป่วยไวต่อการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Yersinia enterocolitica, Yersinia pseudotuberculosis, Mucormycosis ดังนั้นหากผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว แพทย์จะหยุดยา Deferoxamine ชั่วคราวและให้ยาปฏิชีวนะจนกว่าอาการติดเชื้อจะหายดี

3. การใช้ Vitamin C ร่วมกับยา Deferoxamine เพื่อเสริมการรักษา สามารถใช้ได้หลังจากเริ่มใช้ยา Deferoxamine ไปแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน โดยให้ Vitamin C ขนาดต่ำ แบ่งให้หลายครั้งในขนาดไม่เกิน 200 mg ต่อวัน และต้องตรวจติดตามการทำงานของหัวใจในขณะที่ใช้ยานี้ร่วมกัน

4. ยา Deferoxamine อาจทำให้การมองเห็นและการได้ยินผิดปกติหากได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดยา แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

5. Deferiprone เป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่สำคัญ คือ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำและการติดเชื้อในกระแสโลหิต ดังนั้นต้องตรวจระดับเม็ดเลือดขาวสุทธิ (Absolute neutrophil count, ANC) ก่อนเริ่มใช้ยานี้ และตรวจติดตามระดับเม็ดเลือดทุกสัปดาห์ในช่วง 12 สัปดาห์แรก หากผู้ป่วยมี ไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ใจสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ชาตามปลายมือปลายเท้าในระหว่างที่ใช้ยา ควรหยุดยา แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

6. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Deferiprone ร่วมกับยาที่มีผลทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ เช่นยา Lamotrigine, Penicillin G, Vancomycin และยาเคมีบำบัด เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะตรวจเลือดติดตามระดับเม็ดเลือดขาวอย่างใกล้ชิด

7. เนื่องจาก Deferiprone, Deferasirox เป็นยาที่มีความสามารถในการจับกับไอออนของโลหะ ดังนั้นหากต้องการรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกับ ยาลดกรด หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี อะลูมิเนียม และ/หรือ สังกะสี เป็นส่วนประกอบ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

8. Deferasirox เป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร รวมถึงเกิดแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่นที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือทำให้เลือดออกไม่หยุด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs, ยากลุ่ม Corticosteroids, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, และยากลุ่ม Bisphosphonates เป็นต้น

9. ยา Deferasirox อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง คือทำให้ ตับวาย หรือไตวาย เฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ รวมทั้งแพทย์จะตรวจเลือดติดตามการทำงานของตับและไตทั้งก่อนใช้และขณะที่ใช้ยานี้

10. ยา Deferasirox อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯ คือ กดไขกระดูก ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้ เช่น ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ หรือทำให้ภาวะโลหิตจางมีอาการแย่ลง

การใช้ยาขับเหล็กในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขับเหล็กในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้

1. ระวังการใช้ยา Deferoxamine และ Deferasirox ในหญิงมีครรภ์ เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยามากเพียงพอ ควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่อาจได้รับ คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์เท่านั้น

2. Deferiprone เป็นยาที่มีหลักฐานว่า มีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นควรเลือกใช้ก็ต่อเมื่อยานี้เป็นประโยชน์และจำเป็นต้องยอมรับความเสี่ยงดังกล่าวเท่านั้น หากผู้ป่วยหญิงในวัยเจริญพันธุ์ต้องใช้ยานี้ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

การใช้ยาขับเหล็กในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขับเหล็กในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้

  • ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาขับเหล็กมากเพียงพอในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสูงอายุมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามากกว่าวัยอื่นๆ เช่น รบกวนการมองเห็นและการได้ยิน การทำงานของตับ ไต หรือหัวใจผิดปกติ ดังนั้นควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ฯ และแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุแต่ละราย

การใช้ยาขับเหล็กในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขับเหล็กในเด็กควรเป็นดังนี้

1. Deferoxamine เป็นยาขับเหล็กที่ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หากต้องการใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรระวังการใช้ยาในขนาดสูง เพราะอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูก และทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า ดังนั้นควรติดตามระดับความสูงและน้ำหนักตัวของเด็กทุกๆ 3 เดือนในขณะที่ใช้ยานี้

2. Deferiprone เป็นยาขับเหล็กที่ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

3. ยา Deferasirox ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาขับเหล็กอย่างไร?

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาขับเหล็กดังนี้

1. ยาDeferoxamine: ทำให้เกิดอาการ ปวด บวม แดง ผื่นขึ้น หรือคัน บริเวณที่ฉีด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ บริเวณแขนหรือขา ปวดศีรษะ มีไข้ ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้า รบกวนการมองเห็นและการได้ยิน

2. ยาDeferiprone: อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบบ่อย ได้แก่ ทำให้มีปัสสาวะมีสีน้ำตาลแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดข้อ ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ต่ำ(Neutropenia) อาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง ได้แก่ ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์น้อย (Agranulocytosis) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำมาก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

3. ยาDeferasirox: อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบบ่อย ได้แก่ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผื่นบริเวณผิวหนัง ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น อาการอื่นๆ ได้แก่ แผลในทางเดินอาหาร ผื่นผิวหนัง รบกวนการมองเห็นและการได้ยิน อาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง ได้แก่ เลือดออกในทางเดินอาหาร ตับ และ/หรือไต ทำงานผิดปกติ ตับวาย และ/หรือไตวาย ผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง ซึ่งอาการรุนแรงเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาขับเหล็ก) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา. Drugs used in hypoplastic, haemolytic and renal anaemias http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503182330.pdf [2018,Aug11]
  2. ธนกร ศิริสมุทร. การใช้ยาขับเหล็กในโรคธาลัสซีเมีย. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล 17 (2007) : 62-64.
  3. วิปร วิประกษิต. แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาภาวะเหล็กเกินด้วยยาดีเฟอริโพรน. https://www.gpo.or.th/LinkClick.aspx?fileticket=i%2BBHkV36HNw%3D&tabid=118&language=en-US [2018,Aug11]
  4. สุชาดา นิลกำแหง วิลคินส์. ยาขับเหล็กที่ใช้ในโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย. วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม 24 : 8-10.
  5. Advani, P., and others. Beta Thalassemia Medication