ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง (CNS stimulants)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง

ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางหมายความว่าอย่างไร?

ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง หรือยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง หรือยากระตุ้นการทำงานของประสาทส่วนกลาง(Central nervous system stimulant ย่อว่า CNS stimulant หรือ Analeptics)เป็นยาที่เพิ่มการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง โดยกระตุ้นให้ผู้ป่วย รู้สึกตื่นเต้น ไม่ง่วงนอน กระฉับกระเฉง มีแรงทำงาน ลดความเหนื่อยล้า มีอารมณ์เคลิ้มสุข สนุกสนาน และมีความอยากอาหารน้อยลง

ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางแบ่งเป็นกี่กลุ่ม?

ยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ดังนี้

ก. ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants): แบ่งย่อยเป็น

1. ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants, TCAs): เช่นยา อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), อิมิพรามีน (Imipramine), โคลมิพรามีน (Clomipramine), ด็อกซิพิน (Doxepin), เมลิทราเซน (Melitracen)

2. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors, MAOIs): เช่นยา ฟีเนลซีน (Phenelzine), ไอโซคาร์บ็อกซาร์ซิด (Isocarboxazid), ทรานิลไซโปรมีน (Tranylcypromine), โมโคลบีมายด์ (Moclobemide)

3. ยายับยั้งการเก็บกลับของสารซีโรโทนิน/Serotoninบริเวณปลายประสาท (Selective serotonin reuptake inhibitors, SSRIs): เช่นยา ฟลูอ็อกซิทีน (Fluoxetine), เซอร์ทราลีน (Sertraline), ซิทาโลแพรม (Citalopram), เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram), ฟลูว็อกซามีน (Fluvoxamine), พาร็อกซีทีน (Paroxetine)

4. ยายับยั้งการเก็บกลับของสารซีโรโทนินและสารนอร์เอพิเนฟรีน/Norepinephrineบริเวณปลายประสาท (Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors, SNRIs): เช่นยา ดูล็อกซีทีน (Duloxetine), เวนลาฟาซีน (Venlafaxine), เดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine)

ข. ยากระตุ้นการหายใจ (Analeptics): เช่นยา ด็อกซาแพรม (Doxapram)

ค. ยาลดความอยากอาหาร (Anorexic drugs): เช่นยา แอมฟีพราโมน (Amfepramone) หรือ ไดเอทธิลโพรพิออน (Diethylpropion), เฟนเทอร์มีน (Phentermine), ออลิสแตท (Orlistat)

ง. ยากระตุ้นจิตอารมณ์ (Psychomotor stimulants): แบ่งย่อยเป็น

1. ยากลุ่มแอมเฟตามีนและอนุพันธ์ (Amphetamine and Derivatives): เช่นยา แอมเฟตามีน (Amphetamine), เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine), เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate), โมดาฟินิล (Modafinil), อะโทม็อกซีทีน (Atomoxetine)

2. ยากลุ่มเมทิลแซนทีน (Methylxanthines): เช่นยา คาเฟอีน

3. ยาอื่นๆ: เช่น นิโคติน (Nicotine)

ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางมีรูปแบบจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำใสปราศจากเชื้อ (Sterile Solution)
  • หมากฝรั่ง (Gum)
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)
  • ยาพ่นจมูก (Nasal spray)
  • ยาพ่นปาก (Mouth spray)

อนึ่ง อ่านเรื่องรูปแบบของยาแผนปัจจุบันเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางมีข้อบ่งใช้ เช่น

ก. ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants): ใช้รักษาโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)

ข. ยากระตุ้นการหายใจ (Analeptics): ข้อบ่งใช้ เช่น

1.ใช้กระตุ้นการหายใจหลังการผ่าตัด และใช้ในผู้ป่วยที่เกิดภาวะการหายใจล้มเหลว หรือหยุดหายใจหลังจากได้รับยาสลบ

2.ใช้กระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่เกิดภาวะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวและระบบประสาทถูกกดจากการได้รับยาต่างๆเกินขนาด

3.ใช้กระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังที่เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ค. ยาลดความอยากอาหาร (Anorexic drugs): มีข้อบ่งใช้ เช่น

1.ใช้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป

2.ใช้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index, BMI) มากกว่า 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร ในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 27 กิโลกรัม/ตารางเมตร ในผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ยาลดความอยากอาหารเป็นวิธีการรักษาเสริมเมื่อผู้ป่วยควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างชัดเจน

ง. ยากระตุ้นจิตอารมณ์ (Psychomotor stimulants): มีข้อบ่งใช้ เช่น

1.ยากลุ่มแอมเฟตามีนและอนุพันธ์: ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder ย่อว่า ADHD) และภาวะง่วงเกิน/ลมหลับ (Narcolepsy)

2.ยากลุ่ม Methylxanthines: ได้แก่ ยา Caffeine ช่วยเสริมฤทธิ์ของยาอื่นๆที่ใช้เป็นยาหลัก เช่น ยาแก้ปวด ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน และข้อบ่งใช้ของยา Theophylline คือ รักษาโรคหืด

3.Nicotine: ใช้เป็นนิโคตินทดแทนในผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่

ยากระตุ้นประสามส่วนกลางมีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยากระตุ้นประสามส่วนกลางมีข้อห้ามใช้ เช่น

1.ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีแพ้ยาชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน

2. ห้ามใช้ยาต้านซึมเศร้า กลุ่ม TCAs ในผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ตับมีการทำงานบกพร่องอย่างรุนแรง โรคพอร์ฟีเรีย(Porphyria,โรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยมากที่มีความผิดปกติในสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง) ผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีอาการฟุ้งพล่าน (Mania)จากโรคอารมณ์สองขั้ว

3.ห้ามใช้ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs และหากต้องการเปลี่ยนยาจากกลุ่ม SSRIs ไปเป็นกลุ่ม MAOIs ควรเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ยกเว้นยา Fluoxetine ควรห่างกันอย่างน้อย 6 สัปดาห์

4. ห้ามใช้ยา Doxapram ในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองบวม ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ระบบหายใจมีปัญหา เช่น มีเสียงหวีดขณะหายใจ (Wheezing)

5. ห้ามใช้ยาลดความอยากอาหารเพียงวิธีเดียวในการรักษาโรคอ้วน และห้ามใช้ยาลดความอยากอาหารมากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน เพราะไม่มีการศึกษาใดพบว่าการใช้ยาลดความอยากอาหาร 2 ตัวร่วมกันแล้วได้ประโยชน์มากกว่าการใช้ยาเพียงตัวเดียว และอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาเหล่านั้นได้มากกว่าขึ้นด้วย

6.ห้ามใช้ยากลุ่มแอมเฟตามีนและอนุพันธ์ร่วมกับยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOIs

มีข้อควรระวังการใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง เช่น

1. ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม MAOIs เป็นยาที่ทำปฏิกิริยากับอาหารที่มีไทรามีน (Tyramine,กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง) สูง ได้แก่ อาหารที่เก็บไว้นาน หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการหมักดอง เช่น เนยแข็ง ไวน์ ชีส โดยอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนเกิดอันตรายได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้เมื่อกำลังรับประทานยากลุ่ม MAOIs

2. ระวังการใช้ยากลุ่มที่กระตุ้นฤทธิ์สารสื่อประสาทชนิดซีโรโทนิน/Serotonin (Serotonergic drugs) เช่น ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs, SNRIs, MAOIs และยาลดความอยากอาหาร เช่น Diethylpropion, Phentermine เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการซีโรโทนิน (Serotonin syndrome)

3. ระวังการใช้ยา Doxapram ในผู่ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง มีเนื้องอกของต่อมหมวกไต ชนิดที่เรียกว่า Pheochromocytoma ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

4. ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเมื่อหยุดใช้ยาลดความอยากอาหาร ดังนั้นควรปรับพฤติกรรมอื่นๆร่วมด้วย โดยการคุมอาหาร และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้น้ำหนักตัวคงที่

5. ไม่ควรใช้ยากลุ่มแอมเฟตามีนและอนุพันธ์ในการรักษาภาวะซึมเศร้า โรคอ้วน อาการอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยล้า เพราะอาจทำให้เกิดการติดยาได้

การใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยาต้านซึมเศร้าที่ควรเลือกใช้เป็นกลุ่มแรกในหญิงตั้งครรภ์ คือ ยากลุ่ม TCAs เพราะเป็นยาที่มีการใช้มานาน ทำให้มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ นอกจากนี้ยาอื่นที่สามารถใช้ได้ คือ กลุ่ม SSRIs ยกเว้นยา Paroxetine

2. ห้ามใช้ยาลดความอยากอาหารทุกชนิดในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

3. ยา Doxapram เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

4. ยากลุ่มแอมเฟตามีนและอนุพันธ์เป็นยาที่ไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์ อาจเลือกใช้เป็นยา Methylphenidate, Atomoxetine, Modafinil ก็ต่อเเมื่อแพทยพิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้น มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

การใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เนื่องจากวัยสูงอายุเป็นวัยที่มีการทำงานของตับและของไตลดลง หรืออาจเป็นโรคตับและ/หรือโรคไต ส่งผลให้ความสามารถในการทำลายยาต่างๆและขับยาต่างๆออกจากร่างกายลดลงตามมา ดังนั้นควรระมัดระวังและติดตามความปลอดภัยในผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับยาต่างๆที่รวมยากระตุ้นประสาทส่วนกลางอย่างใกล้ชิด

2. เนื่องจากวัยสูงอายุมักจะใช้ยาต่างๆหลายชนิด จึงควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ว่า กำลังใช้ยาใดอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) รวมทั้งควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยาต่างๆรวมถึงยากระตุ้นประสาทส่วนกลางด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจนเต้นเร็ว เป็นต้น

การใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. การใช้ยาต้านเศร้าทุกชนิดในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น (อายุน้อยกว่า 25 ปี) อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ดังนั้นครอบครัวควรติดตามและเฝ้าระวังพฤติกรรมที่ไม่ปกติของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติในอารมณ์ของผู้ป่วย ควรรีบด่วนพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันนัด

2. ไม่ควรใช้ยา Doxapram ในเด็ก การใช้ยา Doxapram ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาจทำให้พัฒนาการทางสมองของเด็กช้าลง หัวใจเต้นผิดปกติ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง เป็นต้น

3. ไม่ควรใช้ยาลดความอ้วนในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้ที่เพียงพอ

4. ระวังการใช้ยากระตุ้นจิตอารมณ์ในผู้ป่วยเด็กหรือวัยรุ่นที่มีการทำงานของหัวใจผิดปกติ เพราะยามีผลทำให้ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และควรตรวจติดตามการเจริญเติบโตของเด็กในระหว่างการรักษาตามแพทย์นัดเสมอ

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยากระตุ้นประสาทส่วนกลางที่พบได้ เช่น

1.ยาต้านซึมเศร้า: ทำให้ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น จิตใจไม่สงบ วิตกกังวล

2. ยาDoxapram ทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะ มึนงง

3.ยาลดความอยากอาหาร: ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ กระวนกระวาย มีอาการทางจิตประสาท เช่น หูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอน

4.ยากลุ่มแอมเฟตามีนและอนุพันธ์: อาจทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด ก้าวร้าว เกิดการติดยากลุ่มนี้

5. ยาCaffeine อาจทำให้เกิดอาการ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปัสสาวะบ่อย อาจเกิดอาการขาด Caffeine เมื่อหยุดยา ทำให้มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ประหม่า ความตื่นตัวลดลง ซึมเศร้า

6. ยา Nicotine ทำให้สะอึก ระคายเคืองช่องปากและลำคอ การรับรสเปลี่ยนไป ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง คอแห้ง แสบร้อนในช่องปาก ปวดฟัน

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/tnf_2010_central_nervous_system_vol1.pdf [2016,Dec10]
  2. ธีระ กลลดาเรืองไกร. “สารพิษ” ภัยร้ายต่อจิต. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=704 [2016,Dec10]
  3. สุรชัย อัญเชิญ. ยาออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง. กรุงเทพมหานคร: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. (อัดสำเนา)
  4. Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.
  5. Golder, F.J., and others. Respiratory stimulants drugs in the post-operative setting. Respiratory and Physiology 189. (2013) : 395-402