ยากดการหายใจ (Drug-induced respiratory depression)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยากดการหายใจหมายความอย่างไร?

ยากดการหายใจ (Drug-induced respiratory depression) คือ ยาที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางที่ทำงานควบคุมอวัยวะระบบหายใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่รุนแรง คือ ‘กดการทำงานของศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองส่วนเมดัลลาออบลองกาตา (Medulla Oblongata)’ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ง่วงซึม/ซึม, หายใจช้า หรือ หายใจน้อยครั้งกว่าปกติ, หายใจตื้น, หายใจเบา,  ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจและถึงตายได้

ยากดการหายใจแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยากดการหายใจ ทั่วไปแบ่งตามกลุ่ม/ประเภทยาได้ดังนี้

ก. ยาสลบ (General anesthetics): ได้แก่

  • ยาดมสลบ (Inhalational Anesthetics): เช่นยา  อีเทอร์ (Ether), ฮาโลเธน (Halothane), ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide), เอนฟลูเรน (Enflurane), เซโวฟลูเรน (Sevoflurane), เดสฟลูเรน (Desflurane), ไอโซฟลูเรน (Isoflurane), เมทอกซีฟลูเรน (Methoxyflurane), ไซโคลโพรเพน (Cyclopropane)
  • ยาฉีดสลบ (Intravenous Anesthetics): เช่นยา  ไธโอเพนทาล (Thiopental), เมโธเฮกซิทาล (Methohexital), โพรโพฟอล (Propofol), เคตามีน (Ketamine), เอโทมีเดท (Etomidate), ไมดาโซแลม (Midazolam), เฟนทานิล (Fentanyl)

ข. ยานอนหลับและยาคลายกังวล(Hypnotics and anxiolytics): ได้แก่

  • ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines, BDZs):  เช่นยา  ลอราซีแพม (Lorazepam), โคลนาซีแพม (Clonazepam), ทีมาซีแพม (Temazepam), ฟลูราซีแพม (Flurazepam), อัลปราโซแลม (Alprazolam), ไตรอาโซแลม (Triazolam), เอสตาโซแลม (Estazolam), ไมดาโซแลม (Midazolam), ไนตราซีแพม (Nitrazepam)
  • ยากลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturates): เช่นยา เมโธเฮกซิทาล (Methohexital), ไธโอเพนทาล (Thiopental), เพนโทบาร์บิทาล (Pentobarbital), เซโคบาร์บิทาล (Secobarbital), อะโมบาร์บิทาล (Amobarbital), อะโพรบาร์บิทาล (Aprobarbital), บิวทาบาร์บิทาล (Butabarbital), ฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital)

ค. ยาระงับปวด/ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid Analgesics): เช่นยาโคเดอีน (Codeine), เฟนทานิล (Fentanyl), เมทาโดน (Methadone), มอร์ฟีน (Morphine), เพทิดีน (Pethidine), ทรามาดอล (Tramadol), บิวพรีนอร์ฟีน (Buprenorphine)

ยากดการหายใจมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ทั่วไป ยากดการหายใจมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาเม็ดอมใต้ลิ้น (Sublingual tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาเหน็บทวารหนัก (Suppositories)
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)
  • สารละลายใส ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile Solution)
  • ยาผง ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile powder)
  • ยาอีมัลชั่น ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile emulsion)
  • ก๊าซ/แก๊ส (Gas)
  • ไอระเหย (Vapour)

อนึ่ง: อ่านเรื่องรูปแบบของยาแผนปัจจุบันเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยากดการหายใจอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยากดการหายใจ  เช่น

ก. ยาสลบ: ใช้นำสลบเพื่อการผ่าตัด, ใช้กล่อมประสาทขณะผ่าตัดหรือใส่ในเครื่องช่วยหายใจ ช่วยให้ผู้ป่วยหมดสติ หลงลืมชั่วคราว ไม่รู้สึกเจ็บปวด ไม่เคลื่อนไหว กล้ามเนื้อคลายตัว

ข. ยากลุ่ม Benzodiazepines: ใช้ระยะสั้นสำหรับบรรเทาอาการวิตกกังวลขั้นรุนแรง, วิตกกังวลก่อนการผ่าตัด, อาการนอนไม่หลับที่เกี่ยวกับความวิตกกังวล, ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ, ยารักษาโรคลมชัก, และใช้รักษาอาการขาดแอลกอฮอล์ (Alcohol withdrawal syndrome)

ค. ยากลุ่ม Barbiturates: ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับขั้นรุนแรงที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยานอนหลับกลุ่มอื่น,  รักษาโรคลมชัก,  และใช้เป็นยาสลบชนิดฉีด

ง. ยาระงับปวดโอปิออยด์: ใช้บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง เช่น อาการปวดจากโรคมะเร็ง  และระงับปวดในการผ่าตัด

มีข้อห้ามใช้ยากดการหายใจอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยากดการหายใจ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง (Hypersensitivity) ต่อยานั้นๆ
  • ห้ามใช้ยาดมสลบชนิด Sevoflurane, Desflurane, และ Isoflurane ในผู้ที่มีภาวะขาดน้ำหรือเสียเลือดอย่างรุนแรง (Severe hypovolemia) และห้ามใช้ในผู้ที่มีโอกาสเกิดภาวะแพ้ยาสลบที่เรียกว่าภาวะไข้สูงอย่างร้าย(Malignant hyperthermia)
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines, Barbiturates, และยาระงับปวดโอปิออยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะทำให้เกิดการติดยาหรือการชินยา (Tolerance, ต้องใช้ขนาดยาสูงขึ้นจึงจะควบคุมอาการโรคได้ จึงอาจเกิดอันตรายจากการได้ยาเกินขนาด)
  • ห้ามหยุดยากลุ่ม Benzodiazepines และ Barbiturates ด้วยตนเอง เพราะการหยุดยากลุ่มเหล่านี้ แพทย์ต้องค่อยๆปรับลดขนาดยาลงทีละน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนยา
  • ห้ามใช้ยาระงับปวดชนิดโอปิออยด์ในผู้ป่วยที่การหายใจถูกกดอย่างเฉียบพลัน,  มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง, ผู้ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะ, ภาวะโคม่า, ภาวะช็อก, ผู้ป่วยโรคฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)

มีข้อควรระวังการใช้ยากดการหายใจอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากดการหายใจ เช่น

  • ระวังการใช้ยากดการหายใจในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์ ผู้ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม และทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากดการหายใจร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม เช่น ยาแก้แพ้ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมจากยา
  • ถ้าต้องใช้ยากดการหายใจร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป อาจทำให้ยา เสริมฤทธิ์กัน จึงควรต้องเฝ้าระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอย่างใกล้ชิด
  • ระวังการใช้ยากดการหายใจในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและของไตผิดปกติ เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
  • ระวังการใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ในผู้ที่มีโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง   โรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria,โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก ที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของเม็ดเลือดแดง) เพราะอาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวเหล่านั้นแย่ลง และในผู้ป่วยที่มีประวัติการติดยา หรือติดสุราด้วยเหตุ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยติดยากลุ่ม Benzodiazepinesได้ง่ายขึ้น
  • หากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่ม Barbiturates ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรตรวจนับเม็ดเลือด (ตรวจซีบีซี/CBC) เป็นระยะตามที่แพทย์เห็นสมควร เพราะยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบเลือด เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งหากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้ เจ็บคอ  มีการติดเชื้อ หรือมีเลือดออกผิดปกติ (เช่น เหงือกเลือดออก) ต้องหยุดยานี้และรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • ระวังการใช้ยาระงับปวดโอปิออยด์ในผู้ที่มีระบบหายใจผิดปกติ เช่น โรคซีโอพีดี/โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease, COPD), ความดันโลหิตต่ำ, ต่อมลูกหมากโต, ลมชัก, เพราะอาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวเหล่านั้นแย่ลง และระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการติดยาต่างๆ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยนำยากลุ่มโอปิออยด์ มาใช้อย่างไม่เหมาะสม (ใช้เป็นยาเสพติด) จนส่งผลให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง

การใช้ยากดการหายใจในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากดการหายใจในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ระวังการใช้ยาสลบในหญิงตั้งครรภ์/หญิงมีครรภ์ เพราะยาสลบสามารถผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ และหากหญิงตั้งครรภ์ได้รับยานี้ขนาดสูงเกินไปขณะนำสลบเพื่อการผ่าท้องคลอดบุตร อาจทำให้ยากดการหายใจของทารกในครรภ์ จนเกิดอันตรายต่อทารกได้
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines และ Barbiturates ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือเกิดการถอนยา/ลงแดงในทารกแรกเกิด ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น เช่น ใช้ควบคุมอาการชัก เพราะถ้าผู้ป่วยชักอาจทำให้ทารกในครรภ์ขาดอากาศหายใจจนอาจถึงตายได้
  • ระวังการใช้ยาระงับปวดโอปิออยด์ในหญิงมีครรภ์ ควรใช้ในระยะเวลาสั้นที่สุด และขนาดยาต่ำที่สุด เพราะการใช้ยานี้ในระยะยาว อาจทำให้ยากดการหายใจในทารกในครรภ์ หรือเกิดอาการถอนยาในทารกแรกเกิด จนเกิดอันตรายต่อทารกได้

การใช้ยากดการหายใจในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากดการหายใจในผู้สูงอายุ ควรเป็นดังนี้ เช่น

  • วัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีการทำงานของตับและของไตลดลง หรืออาจเป็นโรคตับและ/หรือโรคไต ส่งผลให้ความสามารถในการทำลายยาและขับยาออกจากร่างกายลดลง  ดังนั้น การใช้ยากดการหายใจในผู้สูงอายุจึงควรปรับลดขนาดยาเริ่มต้นลง เพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น ยากลุ่ม Benzodiazepines และ Barbiturates  ที่อาจทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม  เดินเซ สับสน และทำให้ผู้สูงอายุล้มได้รับบาดเจ็บได้
  • ผู้สูงอายุมักใช้ยารักษาโรคประจำตัวหลายชนิด จึงควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ว่ากำลังใช้ยาใดอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) ตัวอย่างเช่น ยากลุ่ม Barbiturates มีคุณสมบัติเป็นตัวเหนี่ยวนำเอนไซม์ (Enzyme inducer) จึงมีผลลดระดับยาอื่นๆในกระแสเลือดจนอาจส่งผลให้ยาเหล่านั้นด้อยประสิทธิภาพลง เช่นยา  Warfarin, ยากลุ่ม Corticosteroids, ยาTheophylline เป็นต้น ดังนั้น แพทย์จึงอาจต้องปรับขนาดการใช้ยาต่างๆให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

การใช้ยากดการหายใจในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากดการหายใจในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ควรเป็นดังนี้ เช่น

  • การใช้ยากดการหายใจในเด็ก แพทย์จะเริ่มจากขนาดต่ำๆ แล้วจึงค่อยๆปรับขนาดยาขึ้น เพราะเด็กมีความไว/การตอบสนองต่อยามากกว่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ง่าย
  • ไม่ควรใช้ยาระงับปวดโอปิออยด์ในเด็กหากมีอาการปวดไม่รุนแรง ควรเลือกใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่น เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSIADs) แทน

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากดการหายใจเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง)ที่เกิดจากยากดการหายใจ  นอกจากอาการไม่พึงประสงค์ฯชนิดรุนแรง คือ  กดการหายใจแล้ว ยากลุ่มนี้ยังพบอาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆ   เช่น

ก. ยาสลบ: ทำให้มีอาการ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดหลัง หนาวสั่น ปวดหัว สับสน หลงลืมชั่วคราว  มึนงง ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ติดเชื้อที่ปอด/ปอดบวม ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง

ข. ยากลุ่ม Benzodiazepines: ทำให้มีอาการ เช่น ง่วงซึม ปวดหัว เวียนศีรษะ บ้านหมุน กระสับกระส่าย  สับสน หลงลืมชั่วคราว ความดันโลหิตต่ำ กลั้นปัสสาวะไม่ได้

ค. ยากลุ่ม Barbiturates: ทำให้มีอาการ เช่น ง่วงซึม เดินเซ กระสับกระส่าย เกิดรอยฟกช้ำ/ห้อเลือด หรือเลือดออกง่าย ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ผื่นแพ้บริเวณผิวหนัง ผื่นแพ้แสงแดด (Photosensitivity)

ง.ยาระงับปวดโอปิออยด์: ทำให้เกิดอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม มึนงง ปากคอแห้ง ท้องผูก ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ ติดยา

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากดการหายใจ) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง  ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)  รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติเล่ม 1 ยาระบบทางเดินอาหาร.    http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/main_drug_file/20171115142328.pdf   [2023,April15]
  2. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางวัสัญญีวิทยาและการระงับปวด. http://202.28.95.4/pharmacy/myfile/1_anesthetics_and_pain_medication_0.pdf   [2023, April15]
  3. พยอม ตันติวัฒน์ ศูนย์วิจัยยาเสพติด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic analgesics). http://www.ddrc.ihr.chula.ac.th/Knowledge%20and%20Reviews/analgesics.pdf   [2023,April15]
  4. https://www.scribd.com/document/396933793/Opioids-pdf [2023,April15]