ยกระดับ “ซูโดอีเฟดรีน” เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (ตอนที่ 1)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่ได้ออกประกาศควบคุมยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นยาวัตถุออกฤทธิ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมยาโดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่

  • การจัดระบบรองรับยาส่งคืนจากร้านขายยาและสถานบริการที่ไม่ประสงค์จะครอบครองยา
  • ตรวจสอบยอดคงเหลือเพื่อเข้าสู่ระบบการจ่ายยาวัตถุออกฤทธิ์ และ
  • การจัดระบบจำหน่ายยาที่คงเหลือในทุกบริษัทให้แก่สถานบริการที่มีประกาศครอบครองการใช้ยาที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์

โดยให้ทุกสถานพยาบาลทำแผนและประมาณการใช้ยาล่วงหน้ามาที่ อย. และเมื่อมีใบสั่งซื้อไปที่บริษัท จะมีระบบบันทึกการรายงานเพื่อการดำเนินการตรวจสอบ และจัดระบบยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนของประเทศให้ชัดเจน ทั้งจำนวน สูตรตำรับยาที่จะผลิตในอนาคต และการมอบหมายบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการใช้ และสามารถตรวจสอบได้ทันที

วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (Psychoactive drug) เป็นสารเคมีที่มีผลต่อระบบสมองส่วนกลาง (Central nervous system) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพอารมณ์ ความรู้สึกตัว การรับรู้ และพฤติกรรม สารนี้อาจใช้เพื่อการรักษาอาการทางจิต เช่น ช่วยให้มีความสุข สนุกสนาน ตื่นตัว หรือใช้ในการฟื้นฟูสภาพผู้ติดยา (Opioid dependency) หรือผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) แต่มีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหลายตัวที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้จากการใช้ยาเกินขนาด

รัฐบาลทั่วโลกได้มีกฏหมายบังคับเกี่ยวกับการผลิตและการขายยาเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อลดการใช้ยาในทางที่ผิด อย่างมาตราการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในปี พ.ศ. 2514 (Convention on Psychotropic Substances of 1971) ที่เกิดจากอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งได้กระทำกัน ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 เพื่อควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น แอมเฟตามีน (Amphetamines) บาร์บิทูเรท (Barbiturates) เบนโซไดอาเซฟีน (Benzodiazepines) และไซคีเดลิค (Psychedelics)

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อร่วมมือกับประเทศภาคีอื่นๆ ในการควบคุมการผลิต การขาย การนำเข้า การส่งออก การนำผ่านหรือการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มิให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของบุคคลและสังคม จึงได้ตรา “พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518” ขึ้น

ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เรียกวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างสั้นๆ ว่า “วัตถุออกฤทธิ์” ซึ่งมีความหมายว่า “วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นสิ่งธรรมชาติหรือที่ได้จากสิ่งธรรมชาติ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นวัตถุสังเคราะห์ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา” โดยมีการจัดแบ่งประเภทของวัตถุออกฤทธิ์เพื่อการควบคุม ซึ่งพิจารณาจากความเสี่ยงของวัตถุออกฤทธิ์นั้นต่อการเสพติดของประชากรและประโยชน์ในการรักษาโรค ออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งจะกล่าวต่อไปในวันพรุ่งนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. รมว.สาธารณสุข สั่งดำเนิน 3 มาตรการแก้ปัญหายารั่วไหล http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000053093 [2012, May 6].
  2. Psychoactive drug. http://en.wikipedia.org/wiki/Psychoactive_drug [2012, May 6].
  3. Convention on Psychotropic Substances. http://en.wikipedia.org/wiki/Convention_on_Psychotropic_Substances [2012, May 6].
  4. พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538975214 [2012, May 6].