มือคืออนาคตของเรา

มือคืออนาคตของเรา-1


สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (UN : UNITED NATIONS) ได้กำหนดให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) ซึ่งปี 2560 นี้ ความสำคัญของการล้างมือ คือ “อนาคตของเรา” “Our Hands Our Future” มุ่งเน้นการมีสุขภาพที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดีส่งผลให้ตัวเรา ครอบครัว ชุมชน และโลกเรามีภาวะสุขภาพดีในอนาคต

การล้างมือ เป็น มาตรการสำคัญช่วยป้องกันและลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพภาพ รวดเร็ว ประหยัดที่ได้ผลดีที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของ แพทย์ พยาบาล และทีมสุขภาพในโรงพยาบาล ปัจจุบันทั่วโลกพบว่า ในแต่ละวันมีหลายพันคนที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อในขณะนอนรักษาในโรงพยาบาล จากการศึกษาพบว่า จำนวนเชื้อที่เปื้อนมือหลังจากทำแผลผู้ป่วย มีประมาณ 1 แสน ถึง 1 ล้านตัว เชื้อโรคมีชีวิตอยู่บนมือได้นานถึง 3 ชั่วโมง การแพร่กระจายของเชื้อชนิดหนึ่งที่รุนแรงมีชื่อว่า Vancomycin-Resistant Enterococcus (VRE) หลังจากมือของบุคลากรสัมผัสกับผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อชนิด VRE แล้วไปสัมผัสบริเวณที่ไม่มีการปนเปื้อนเชื้อ VRE ทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อไปยังบริเวณนั้นถึงร้อยละ 10.6 สอดคล้องกับโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลทุกระดับ จุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลมากที่สุดคือ แบคทีเรีย โดยเชื้อที่พบบ่อยคือ เชื้อชื่อ P. aeruginosa, Klebsiella spp., A. baumannii, Methicillin resistant Staphylococcus aureus (MRSA) และ Enterococci ซึ่งเชื้อกลุ่มนี้มีการพัฒนาการดื้อยาเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพปีละมากกว่า 100,000 ราย โดยผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมากกว่า 30,000 ราย และสูญเสียทรัพยากรจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมากกว่า 40,000 ล้านบาทหรือมากกว่าร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยและมีความสำคัญทั้งการติดเชื้อในโรงพยาบาลและชุมชน โดยมีอัตราการดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนานที่ต้องใช้ยารักษาที่มีราคาแพงมาก และเชื้อดื้อยาบางชนิดไม่มียาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิผลดีและปลอดภัยสำหรับรักษา ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพสามารถติดต่อได้ด้วยการสัมผัส มีมือเป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยสามารถติดต่อได้จากการที่มือสัมผัสกับสิ่งของ เครื่องใช้หรือสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยา อีกทั้งสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้ป่วยรายอื่น สิ่งแวดล้อม และชุมชนได้

“มือ” ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและเป็นเส้นทางหลักของการส่งผ่านเชื้อโรคในระหว่างการดูแลสุขภาพ เพราะในแต่ละวันเราใช้มือตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ทั้งจับต้องสิ่งต่างๆ หยิบอาหารเข้าปาก สัมผัสผู้อื่น ดังนั้นมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อผ่านทางมือที่สำคัญคือ การล้างมือ การล้างมืออย่างถูกต้องของบุคลากรสามารถลดอุบัติการณ์การติดเชื้อได้ นับว่ามีความสำคัญมากในการลดการแพร่กระจายเชื้อได้มาตรการการล้างมือจึงเป็นมาตรการหนึ่งทำได้ง่าย ที่สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อ การล้างมืออย่างมีประสิทธิภาพคือการล้างมือด้วยสบู่และล้างมือถูกต้องครบ6 ขั้นตอน จะสามารถลดเชื้อโรคได้ถึงร้อยละ 50 โปรดจำไว้ว่า Our Hand Our Future มือคืออนาคตของเรา