มารู้จัก DVT กัน ก่อนเดินทางสงกรานต์นี้ (ตอนที่ 3)

มาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis: DVT) ที่ได้ปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน (Gold standard) เป็นวิธีการที่เรียกว่า “Intravenous Venography” หมายถึงการฉีดสารทึบแสง (Constrast agent) เข้าไปที่หลอดเลือดดำ (Peripheral vein) แล้วถ่ายรังสีเอ็กซ์ (X-ray) เพื่อดูว่า เส้นทางเดินของหลอดเลือดว่ามีเลือดอุดตันหรือไม่

ในปี พ.ศ. 2549 มีการพัฒนาเกณฑ์การทำนายภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยเฝ้าระวังความเสี่ยงที่ DVT จะวิวัฒนากลายเป็นภาวะหลอดเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary embolism: PE) ปัจจัยต่างๆ ในเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่

  1. มีการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
  2. การที่น่อง (บริเวณ 10 ซม. ใต้กระดูกหน้าแข้ง) บวมโตกว่าอีกข้างเกิน 3 ซม.
  3. หลอดเลือดดำที่ขา โป่งผิดปกติ (ที่มิใช่หลอดเลือดดำขอด/โป่งขด)
  4. มีอาการบวมที่กดแล้วบุ๋มค้างเฉพาะที่
  5. มีประวัติภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  6. มีขาบวมทั้งขา
  7. มีอาการเจ็บเป็นจุดกระจายตามทางเดินของหลอดเลือด
  8. เป็นเหน็บชาหรืออัมพาตหรือการเข้าเฝือกส่วนล่าง
  9. นอนนิ่งบนเตียงนานเกิน 3 วัน หรือมีการผ่าตัดที่วางยาสลบในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา และ
  10. มีการตรวจวิเคราะห์วิธีอื่น (Alternative diagnosis) ที่ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน หากมีภาวะข้างต้นระหว่าง 2 – 4 ข้อ ก็สามารถสรุปได้ว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

การตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีอื่น ได้แก่วิธีการ “D-dimer” ในกรณีที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ โดยเริ่มตรวจสอบจากเลือด (Blood test) ถึงระดับลิ่มในหลอดเลือด และละลายลิ่มเลือดด้วยสารละลายโปรตีนที่ทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม (Plasmin) อีกวิธีการหนึ่ง คือการตรวจภาพหลอดเลือดดำ (Imaging) ผ่านเครื่องอุลตราซาวนด์ (Ultrasound) พร้อมกับวัดการไหลของเลือดว่ามีการอุดตันหรือไม่ ถ้ามี ขอบเขตอยู่ใต้หรือเหนือเข่า

ปัจจุบัน วิธีการที่เรียกว่า “Duplex ultrasonography” มีความไวสูง (High sensitivity) สามารถเจาะจงเฉพาะที่ (Specificity) และตรวจซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ (Reproducibility) จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนค่อยๆ ทดแทนวิธีการ “Intravenous Venography” ในการทดสอบการประเมินโรค DVT

สมาคมแพทย์ทรวงอกอเมริกัน (American College of Chest Physicians: ACCP) ได้แนะนำมาตรการเป็นคู่มือในปี พ.ศ. 2555 เรียกชื่อว่า “2012 ACCP Clinical Guidelines” ซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับตั้งแต่สูงสุด (A1) ไปจนถึงต่ำสุด (2C) เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (Venous thromboembolism: VTE)

ในคู่มือดังกล่าว ได้กำหนดระดับ 2C สำหรับผู้เดินทางระยะทางไกล ผู้เคยเป็น VTE ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดหรือบาดเจ็บรุนแรง (Trauma) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Active malignancy) สตรีมีครรภ์ ผู้ใช้ยาบำรุงฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) ผู้สูงวัย ผู้พิการ คนเป็นโรคอ้วนอย่างรุนแรง (Severe obesity) หรือผู้เป็นโรคสัมพันธ์กับหลอดเลือดอุดตัน (Thrombophilic disorder) มาตรการแนะนำในระดับนี้ได้แก่ การเดินอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังน่อง และนั่งในที่นั่งริมทางเดินเวลาอยู่บนเครื่องบิน เพื่อง่ายต่อการออกมาเดินเหินเป็นครั้งคราว

คู่มือดังกล่าวยังแนะนำให้ใช้ถุงน่องบีบรัดขาที่อยู่ต่ำกว่าเข่าอัดอากาศแบบลดหลั่นชั้น (Graduated compression stockings: GCS) ระหว่างเดินทาง แต่ไม่แนะนำให้กินยาแก้ปวด (Aspirin) หรือยาป้องกันลิ่มเลือดก่อตัว (Anticoagulant) การใช้ถุงน่องได้ลดระดับ DVT แบบไม่มีอาการ (Asymptomatic) ในบรรดาผู้โดยสารบนเครื่องบิน แต่ผลกระทบต่อ VTE แบบมีอาการ (Symptomatic) ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยมาก่อน

แหล่งข้อมูล:

  1. วิธีป้องกันหลอดเลือดอุดตัน+เส้นเลือดขอด+ขาบวม http://www.oknation.net/blog/health2you/2012/03/03/entry-3 [2012, April 10].
  2. Deep vein thrombosis. http://en.wikipedia.org/wiki/DVT [2012, April 10].