มารู้จัก DVT กัน ก่อนเดินทางสงกรานต์นี้ (ตอนที่ 2)

อาการโดยทั่วไปของโรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis: DVT)ได้แก่ ขาที่เจ็บปวด บวม และแดง และการขยายตัวของพื้นผิวหลอดเลือดดำ เส้นรอบวงของขาข้างที่ได้รับผลกระทบจะกว้างขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับขาอีกข้างหนึ่ง ทั้งนี้เกิดจากมีการน้ำบวม (Edema)

ในภาวะ Phlegmasia alba dolens ขาจะบวมซีดและเย็น พร้อมด้วย ชีพจรหลอดเลือดแดงเต้นช้าลง เนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ (Spasm) ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดตันเฉียบพลัน จากหลอดเลือดดำบริเวณสะโพกและโคนขา เนื่องจากภาวะ DVT

ส่วน DVT ที่ร้ายแรงและพบได้ไม่บ่อยนักคือ Phlegmasia cerulea dolens ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันตรายถึงชีวิต เกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลันของหลอดเลือดดำ ที่ไหลเวียนบริเวณสะโพกและต้นขา ขาจะเกิดอาการเจ็บปวด มีสีน้ำเงิน/เขียวคล้ำเนื่องจากการขาดออกซิเจนไปเลี้ยง และบวมน้ำ ในที่สุดอาจทำให้เนื้อมีลักษณะตายเน่า (Gangrene)

มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความน่าจะเป็นของการที่แต่ละบุคคลจะเกิด DVT โดยเฉพาะในวัยที่สูงขึ้น องค์ประกอบเลือดจะมีลักษณะที่เอื้อต่อการจับตัวเป็นลิ่มมากขึ้น ประมาณร้อยละ 35 ของคนที่มีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ มักมีประวัติพันธุกรรม ซึ่งอาจเกิดจากการขาดสารต้านการจับตัวเป็นลิ่มของเลือด หรือมีความผิดปรกติใน ยีน/จีน (Gene) อย่างไรก็ตามภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำนี้ อาจเกิดกับบุคคลไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆเลย อีกทั้งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หลายประการพร้อมๆกัน ก็อาจไม่เคยประสบภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำเลยก็ได้

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น การรับการผ่าตัดใหญ่ ศัลยกรรมกระดูก เป็นโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งตับอ่อน การถูกบังคับให้อยู่กับที่นานๆ เช่นการเข้าเฝือก และ/หรือการนั่งอยู่กับที่นานๆเช่นระหว่างการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบิน

นอกจากนั้น ก็ยังมีภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะหลังการตั้งครรภ์ การมีประวัติเคยเป็นภาวะ DVT อาการบาดเจ็บสาหัส เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะตนเอง/โรคภูมิต้านตนเอง/โรคภูมิต้านตนเองบางชนิด (เช่น โรคเอสแอลอี หรือ Systemic lupus erythematosus: SLE) ซึ่งร่างกายไม่สามารถหลั่งสารที่ป้องกันโลหิตจับตัวเป็นก้อน/เป็นลิ่ม (Anticoagulant) อย่างเป็นปรกติ การใช้ฮอร์โมนเพศทดแทนในภาวะหมดประจำเดือน การสวนหลอดเลือดดำใหญ่ โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบางอย่าง ภาวะน้ำหนักตัวเกิน การติดเชื้อ การมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Human immunodeficiency virus: HIV) การมีเม็ดโลหิตแดงมากเกินไป และการใช้เคมีบำบัด ส่วนสาเหตุทางพันธุกรรมของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ภาวะ โปรตีนที่มีชื่อว่า “Factor V Leiden” ผิดรูป

ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ มักเกิดที่บริเวณน่อง และลามไปยังหลอดเลือดดำที่เข่า แต่ก็เป็นไปได้ที่ลิ่มเลือดจะสลายไปในกระแสเลือดได้เอง มีแนวโน้มว่า 70-90% DVT จะเกิดที่ขาซ้ายทั้งนี้เนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่ถูกเบียดทับของหลอดเลือดสะโพกซ้าย

กระบวนการนี้ แตกต่างจากอาการหัวใจล้ม (Heart attack) ที่เกิดจากหลอดเลือดแดงของหัวใจอุดตัน ซึ่งในขณะที่หลอดเลือดแดงเกิดการอุดตัน ผนังหลอดเลือดแดงจะต้องเสียหายหรือบาดเจ็บ จึงจะก่อให้เกิดการอุดตัน แต่ในภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำนั้น ไม่พบว่ามีความเสียหายหรือบาดเจ็บที่ผนังหลอดเลือดดำ

แหล่งข้อมูล:

  1. วิธีป้องกันหลอดเลือดอุดตัน+เส้นเลือดขอด+ขาบวม http://www.oknation.net/blog/health2you/2012/03/03/entry-3 [2012, April 9].
  2. Deep vein thrombosis. http://en.wikipedia.org/wiki/DVT [2012, April 9].