มะเร็งไส้ตรง (Rectal cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ นิยามไส้ตรง มะเร็งไส้ตรง

มะเร็งไส้ตรง หรือ มะเร็งลำไส้ตรง(Rectal cancer) คือ มะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายสุดที่จะต่อเนื่องไปเป็นทวารหนัก โดยเกิดจากเซลล์จุดใดของไส้ตรงก็ได้ เจริญแบ่งตัวผิดปกติตลอดเวลา และร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จึงทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อร้าย/ก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งในไส้ตรง ที่ส่งผลทำลายเนื้อเยื่อปกติของไส้ตรง จนก่ออาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งที่พบบ่อย คือ ปวดเบ่งอุจจาระเสมอผิดปกติไปจากเดิม, ท้องผูกสลับท้องเสีย, และ อุจจาระเป็นเลือด, ต่อจากนั้นจะลุกลามทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน และในที่สุดลุกลาม/รุกรานเข้ากระแสเลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วตัว พบบ่อยที่ ตับ ปอด กระดูก และ/หรือรุกราน เข้าระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองทั่วตัว พบบบ่อยคือ ในช่องท้อง และที่เหนือกระดูกไหปลาร้า

ไส้ตรง เป็นส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด(Colon) ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายสุดนี้มีลักษณะเป็น ‘ท่อตรง’ จึงได้ชื่อว่า ‘ไส้ตรง หรือลำไส้ตรง(Rectum,มาจากภาษาลาติน แปลว่า ตรง)’ ซึ่งนอกจากมีลักษณะ’ตรง’แล้ว ไส้ตรงยังเป็นส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ไม่อยู่ในช่องท้องเหมือนลำไส้ใหญ่ส่วนอื่น จึงส่งผลให้ ต่อมน้ำเหลืองของไส้ตรง จะเป็นต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน(Pelvic node)ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา (ซึ่งต่อมน้ำเหลืองลำไส้ใหญ่ส่วนช่องท้อง จะเป็นต่อมน้ำเหลืองรอบๆท่อเลือดแดงช่องท้อง คือ Periaortic node) ทั้งนี้ ไส้ตรงมีขนาดยาวประมาณ 12-15 เซ็นติเมตร(ซม.)โดยศัลยแพทย์ให้นิยามไส้ตรงว่า ยาว 15 ซม. เพราะนับจากตำแหน่งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระดับปุ่มกระดูกกระเบนเหน็บ(Promontary of sacrum)ลงมาจนถึงส่วนต่อกับทวารหนัก แต่นักกายวิภาคศาสตร์นิยามว่า ไส้ตรงยาว 12ซม. โดยนับจากระดับกระดูกข้อที่3ของกระดูกกระเบนเหน็บ(S3)ลงมาถึงส่วนต่อกับทวารหนัก

ไส้ตรง เกิดมะเร็งได้เหมือนกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนช่องท้อง ดังนั้นเมื่อกล่าวถึง’ มะเร็งลำไส้ใหญ่’ ในภาพรวม *จะหมายรวมลำไส้ใหญ่ส่วนช่องท้อง(Colon)และลำไส้ใหญ่ส่วนไส้ตรง(Rectum)’ ภาษาอังกฤษจึงเป็น ‘Colorectal cancer ย่อว่า CRC’* ซึ่งมะเร็งของลำไส้ทั้ง2ส่วนนี้ มีธรรมชาติของโรค สาเหตุเกิด อาการ วิธีวินิจฉัย แนวทางการรักษา การพยากรณ์โรค การตรวจคัดกรอง ที่คล้ายกัน ต่างกันเล็กน้อยในการรักษาต่อมน้ำเหลืองเพราะดังกล่าวแล้วว่า ต่างตำแหน่งกัน

ในการรักษา แพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง แยกโรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนช่องท้อง หรือเรียกทั่วไปว่า ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่(Colon cancer)’ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ และ
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนไส้ตรง เรียกว่า ‘มะเร็งไส้ตรง(Rectal cancer)’ ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

อนึ่ง ทั่วไป มะเร็งไส้ตรงที่รวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่/CRC มีหลากหลายเซลล์มะเร็งเหมือนกันกับมะเร็งอื่นๆ ทั้งในมะเร็งกลุ่ม คาร์ซิโนมา(Carcinoma) และในกลุ่ม ซาร์โคมา(Sarcoma) แต่เกือบทั้งหมดจะเป็น มะเร็งคาร์ซิโนมาชนิด ‘อะดีโนคาร์ซิโนมา(Adenocarcinoma)’

ดังนั้นทั่วไป เมื่อกล่าวถึงมะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่/CRC จึงหมายถึง มะเร็งชนิด ‘อะดีโนคาร์ซิโนมา’ และในบทความนี้ ก็จะกล่าวถึง ‘มะเร็งไส้ตรงชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา’เท่านั้น

มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่รวมถึงมะเร็งไส้ตรง/CRC เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลก ประเทศไทยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี ค.ศ. 2015 พบ มะเร็งไส้ตรง ในชายไทย 6รายต่อประชากรชายไทย1แสนคน และในหญิง 4.3 รายต่อประชากรหญิง 1แสนคน ส่วนในสหรัฐอเมริกา รายงานพบได้ประมาณ 4.5% สำหรับเพศชาย และประมาณ 4%ในเพศหญิง ส่วนสหภาพยุโรป รายงานพบมะเร็งไส้ตรงได้ประมาณ 15-25 รายต่อประชากรยุโรป1แสนคน รวมทั้งชายและหญิง

มะเร็งไส้ตรงมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

มะเร็งไส้ตรง

สาเหตุเกิดมะเร็งไส้ตรงที่รวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่/CRC ยังไม่ทราบ แต่ปัจจัยเสี่ยงทั้งของการเกิดมะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะเช่นเดียวกัน ได้แก่

  • มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง( พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน)เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ/หรือมะเร็งไส้ตรง
  • มีประวัติตนเองเป็น โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ ชนิดที่เซลล์เป็นเนื้องอก(Colorectal adenoma), โรคมะเร็งรังไข่, และ/หรือเคยเป็น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้มานานเป็นปีๆ ได้แก่โรค ลำไส้ใหญ่เป็นแผลเรื้อรัง, โรคโครห์นกลุ่มมีการอักเสบของลำไส้ใหญ่ร่วมด้วยอย่างเรื้อรัง
  • ดื่มสุราต่อเนื่อง
  • สูบบุหรี่ต่อเนื่อง
  • โรคอ้วน
  • และมีความเป็นไปได้ว่า การบริโภคเนื้อแดงที่รวมถึงที่แปรรูป เช่น ฮอดดอก, แฮม, ในปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เป็นอีกปัจจัยเพิ่มความเสี่ยง
  • อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป

มะเร็งไส้ตรงมีกี่ระยะ?

มะเร็งไส้ตรงมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งต่างๆรวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่

  • ระยะ1: ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งลุกลามถึงเฉพาะกล้ามเนื้อชั้นตื้นๆในผนังลำไส้ตรง
  • ระยะ2: ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งลุกลามจนถึงกล้ามเนื้อชั้นลึกของผนังไส้ตรงและถึงชั้นเยื่อหุ้มผนังชั้นนอกไส้ตรง แต่ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ซึ่งระยะนี้ แบ่งย่อยเป็น
    • ถ้าลุกลามเข้าเนื้อเยื่อที่ติดผนังไส้ตรง เรียกว่า ระยะ2A
    • ถ้าลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้องที่ติดกับลำไส้ เรียกว่า ระยะ2B
    • ถ้าลุกลามจนถึงอวัยวะอื่นใกล้เคียงไส้ตรงเรียกว่า ระยะ2C
  • ระยะ3: คือ ระยะ2 (2A, 2B, 2C) ที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ไส้ตรง และยังขึ้นกับจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่มีมะเร็งลุกลามด้วย ดังนั้น โรคระยะที่3จึงแบ่งย่อยเป็น ระยะ3A, 3B, 3C ตามการลุกลามของโรคในลำไส้ ร่วมกับจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่มีมะเร็งรุกราน
  • ระยะ4: โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองไกลไส้ตรง เช่น ในช่องท้อง และ/หรือ เหนือไหปลาร้า และ/หรือ แพร่กระจายทางกระแสโลหิต/เลือดสู่ เนื้อเยื่อ/อวัยวะ อื่นๆ ที่พบบ่อย คือ ตับ ปอด และ กระดูก ซึ่ง
    • ถ้าแพร่กระจายเพียงอวัยวะเดียว/จุดเดียว จัดเป็น ระยะ4A
    • แต่ถ้าแพร่กระจายตั้งแต่2อวัยวะ/2จุดขึ้นไป จัดเป็น ระยะ4B
    • ถ้าแพร่กระจายเข้าเยื่อบุช่องท้องที่ไกลจากผนังลำไส้ อาจร่วมกับแพร่กระจายไปอวัยวะต่างหรือไม่ก็ได้ จัดเป็น ระยะ4C

*นอกจากนี้ ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในผนังไส้ตรงชั้นเยื่อเมือก เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0)’ ดังนั้นแพทย์หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive)

มะเร็งไส้ตรงมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่/CRC แต่จะเป็นอาการเหมือนโรคต่างๆของลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่อักเสบ ซึ่งอาการพบได้ของมะเร็งไส้ตรง ได้แก่

  • ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็น
  • อุจจาระเป็นเลือด เป็นมูก และ/หรือ เป็นมูกเลือด หรือ เป็นเลือดสด
  • ท้องผูกสลับท้องเสียที่หาสาเหตุไม่ได้ โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ซีดโดยหาสาเหตุไม่ได้ จากมีเลือดออกทีละน้อยเรื้อรังจากแผลมะเร็งโดยไม่รู้ตัว
  • อาจมีท้องผูกมากผิดปกติ หรือ ปวดท้องเรื้อรัง หรือทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระจะรู้สึกเหมือนอุจจาระไม่สุด ทั้งนี้จากมีก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอุจจาระ
  • น้อยราย อาจมีลำอุจจาระลีบเล็กเหมือนริบบิน(Ribbin)จากการอุดตันของลำไส้ใหญ่จากก้อนมะเร็ง
  • เมื่อโรคลุกลามมาก อาจมีอาการ
    • ผอมลง/น้ำหนักตัวลดอย่างมากในระยะ6เดือนประมาณ10%ขึ้นไปจากน้ำหนักตัวปกติ โดยหาสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวลดไม่พบ
    • อ่อนเพลียผิดปกติ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง และ/หรือเมื่ออาการเกิดซ้ำๆ ควรรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

อนึ่ง ผู้มีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม คือ มีครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรพบแพทย์ตรวจสุขภาพประจำปีและแจ้งแพทย์ทุกครั้งถึงการมีครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งไส้ตรง/ลำไส้ใหญ่ เพื่อแพทย์ตรวจประเมินที่อาจรวมถึงการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อคัดกรองมะเร็งไส้ตรง/ลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ในอายุน้อย เช่น 20-25 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งไส้ตรงได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งไส้ตรงได้เช่นเดียวกับวิธีวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ของคนในครอบครัว หรือผู้ป่วยเคยเป็นโรคนี้มาก่อน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางทวารหนัก
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
  • และการตัดชิ้นเนื้อจาก บริเวณผิดปกติ ก้อนเนื้อ และ/หรือ จากติ่งเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • อาจตรวจภาพลำไส้ใหญ่ด้วยการเอกซเรย์โดยสวนแป้งเข้าไปเคลือบลำไส้ใหญ่เพื่อให้มองเห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ (วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมในปัจจุบัน) และ/หรือ ตรวจภาพลำไส้ใหญ่และช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • การตรวจเลือด
    • ดูค่าความสมบูรณ์ของเลือด(ซีบีซี)
    • ดูการทำงานของตับและ ของไต
    • ดูค่าสารมะเร็งของมะเร็งลำไส้ใหญ่/ไส้ตรง(เช่น ค่าสารCarcinoembryonic antigen/ CEA)
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติทางพันธุกรรมกรณีสงสัยสาเหตุจากพันธุกรรม

*อนึ่ง เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่/ไส้ตรง สามารถสร้าง สารมะเร็ง (ทูเมอร์มากเกอร์/ Tumor marker)ได้ ซึ่งตรวจพบจากการตรวจเลือด แต่แพทย์ไม่ใช้ค่าสารนี้เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะสารมะเร็งนี้ พบ/สร้างได้ทั้งจาก

  • มะเร็งชนิดอื่นๆ
  • เซลล์อักเสบของเนื้อเยื่อ /อวัยวะต่างๆ
  • และจากเซลล์ปกติ

ดังนั้น แพทย์จึงใช้สารมะเร็งตัวนี้เพื่อ

  • ร่วมวินิจฉัยร่วมกับวิธีอื่นๆดังได้กล่าวแล้ว
  • เพื่อประเมินผลการรักษา
  • และเพื่อติดตามผลการรักษาหลังครบการรักษาแล้ว

รักษามะเร็งไส้ตรงอย่างไร?

แนวทางการรักษามะเร็งไส้ตรงเพื่อการหายขาดเช่นเดียวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั่วไปที่การรักษาหลักได้แก่ การผ่าตัดลำไส้ตรง และการรักษาร่วมกับ ยาเคมีบำบัด+รังสีรักษา ที่อาจเป็นการรักษาก่อนหรือหลังการผ่าตัด ทั้งนี้การจะรักษาด้วยวิธีอะไรจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ร่วมกับ

  • ระยะโรค
  • ตำแหน่งที่เกิดโรค
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยที่รวมถึงโรคประจำตัว และ
  • อายุผู้ป่วย

ทั้งนี้ ในจุดที่โรคเกิดใกล้ทวารหนัก การผ่าตัดก้อนมะเร็งอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดลำไส้ตรงรวมทั้งทวารหนักออกด้วย จึงอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดทำทวารเทียม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสามารถลดโอกาสมีทวารเทียมได้จากการให้รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดนำก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งให้เหลือก้อนเล็กที่สุด

ส่วนการรักษาโรคในระยะสุดท้าย จะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ซึ่งจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การผ่าตัดเล็ก ยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา แบบประคับประคอง และวิธีอื่นๆตามอาการผู้ป่วย

อนึ่ง:

  • การรักษามะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เป็นวิธีรักษามาตรฐาน ครอบคลุมอยู่ในทุกสิทธิการรักษาทุกระบบของไทย
  • ปัจจุบัน มียารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง หลายชนิดที่มีรายงานใช้รักษามะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่มักใช้ในกรณีโรคลุกลามมาก โรคแพร่กระจาย และ/หรือย้อนกลับเป็นซ้ำ เช่นยา Bevacizumab อย่างไรก็ตาม ยาต่างๆในกลุ่มนี้ยังไม่สามารถรักษามะเร็งฯให้หายได้ และยังมีค่าใช้จ่ายสูงมากรวมถึง ยังไม่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิการรักษาทุกสิทธิของประเทศเราที่รวมถึงสิทธิข้าราชการ

ผลข้างเคียงจากการรักษาเป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่/CRC ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ เสี่ยงต่อการดมยาสลบ และอาจต้องมีทวารเทียม
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีรักษา (แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา, และ เรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน)
  • ยารักษาตรงเป้า / ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด รวมทั้งโรคมะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่/CRC จะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • ผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น
    • โรคเบาหวาน
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • และโรคไขมันในเลือดสูง
  • ผู้สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และ
  • เป็นผู้สูงอายุ

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึง มะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะคล้ายกัน นำมาปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาไปเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น อุจจาระเป็นเลือดมากขึ้น ปวดอวัยวะต่างๆมากขึ้น
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูก/ท้องเสียต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

มะเร็งไส้ตรงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค หรือ อัตรารอดที่ห้าปีของมะเร็งไส้ตรง(Rectal cancer/ Rectal carcinoma) ใกล้เคียงกันกับของมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆ

ซึ่งอัตรารอดที่ห้าปีของมะเร็งไส้ตรง ได้แก่

  • โรคระยะที่1: ประมาณ 85-90%
  • โรคระยะที่2:
    • ระยะ2A ประมาณ 75-80%
    • ระยะ2B, 2C ประมาณ 50-60 %
  • โรคระยะที่3:
    • ระยะ 3A ประมาณ 70-75%
    • 3B ประมาณ 60- 65 %
    • 3C ประมาณ 30-50%
  • โรคระยะที่4: ทั้ง 4A, 4B,4C ประมาณ 0-10%

ป้องกันมะเร็งไส้ตรงอย่างไร? คัดกรองมะเร็งไส้ตรงอย่างไร?

การป้องกันที่รวมถึงการคัดกรองมะเร็งไส้ตรง/มะเร็งลำไส้ใหญ่/CRC คือ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ’สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง’)ที่หลีกเลี่ยงได้ และ
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) เพื่อตรวจติ่งเนื้อเมือกในลำไส้ใหญ่ที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งเมื่อพบติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ การรักษา คือ การผ่าตัดติ่งเนื้อ ที่เป็นการรักษาที่อันตรายน้อย เพราะไม่ใช่การผ่าตัดลำไส้ออก

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th edition
  2. Glynne-Jones, R. et al. Annals of Oncology 2017; 28 (Supplement 4): iv22–iv40
  3. Haggar, FA., and Boushey, RP. Clin Colon Rectal Surg 2009;22(4):191-197
  4. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://www.cancer.gov/types/colorectal/hp/rectal-treatment-pdq[2018,Dec29]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/281237-overview#showall[2018,Dec29]
  7. https://www.cancer.org/cancer/colon-rectal-cancer/about/key-statistics.html[2018,Dec29]