มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic Myelogenous Leukemia:CML)

สารบัญ

บทนำ

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia หรือ ลิวคีเมีย) มีหลายชนิด แต่แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่ม ลิมโฟซิติค (Lymphocytic leukemia) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มมัยอีโลจีนัส (Myelogenous leukemia) ซึ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มยังแบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน (Acute) และชนิดเรื้อรัง (Chronic) ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลจีนัสชนิดเรื้อรัง ที่เรียกในภาษาแพทย์ว่า Chronic Myelogenous Leukemia แต่นิยมเรียก ชื่อย่อของโรค คือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (CML) ซึ่งในบทนี้ต่อไป ขอเรียกโรคนี้ว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซีเอ็มแอล

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลคืออะไร ?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบบ่อยอีกโรคหนึ่ง แต่ในภาพ รวมทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ พบได้น้อยกว่า ชนิดเอแอลแอลมาก

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มมัยอีโลจีนัส ชนิดเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากมีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดมัยอีลอยด์/Myeloid (เม็ดเลือดขาวมี 2 ชนิด คือ ชนิด มัยอีลอยด์ และชนิดลิ้มโฟไซต์/Lymphocyte) ในไขกระดูกมากผิดปกติ มีการดำเนินโรคที่ค่อนข้างช้า ไม่รุนแรงเหมือน มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (ALL) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล (AML)

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลมักพบในใคร ?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลเป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ยที่พบได้บ่อย คือ 38-42 ปี และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อยประ มาณ 1.3 : 1 และในผู้ป่วยเด็กนั้นประมาณ 80% มักพบในเด็กอายุมากกว่า 4 ปี

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล ?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล แต่มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มปัจจัย คือ

  • ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ประมาณ 90-95% ของผู้ป่วยจะตรวจพบว่ามี พันธุกรรม ชนิด ฟิลาเดลเฟีย โครโมโซม (Philadelphia (Ph) chromosome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 9 และคู่ที่ 22 ซึ่งส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดปกติ กลาย เป็นเซลล์ตัวอ่อนที่แบ่งตัวมากขึ้นจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งซีเอ็มแอล
  • ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น
    • ได้รับรังสีไอออนไนซ์ (Ionizing radiation เป็นรังสีใช้ในการตรวจและรักษาโรค) ปริมาณสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอุบัติการณ์ของซีเอ็มแอลสูงในรังสีแพทย์
    • รังสีจากสารกัมมันตรังสีชนิดต่างๆ เช่น ซีเซียม (เช่น จากอุบัติเหตุของโรงไฟ ฟ้าปรมาณู) โดยได้รับในปริมาณที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ไขกระดูก เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี หรือ นานกว่านี้ ความเสียหายนั้นๆอาจขยายตัวขึ้น ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ได้
    อนึ่ง สาเหตุทางสิ่งแวดล้อมนี้มีความสัมพันธ์กับโรคนี้เพียงประมาณ 5-7% เท่านั้น และแทบจะไม่สัมพันธ์กับผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคนี้เลย
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลมีอาการอย่างไรบ้าง ?

อาการที่พบในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลนั้น จะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากโรคอื่นๆ โดยมีลักษณะทางโลหิตวิทยา (เลือด) และทางอาการค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะ (phase) คือ

  • ระยะเรื้อรัง (Chronic phase) ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเซลล์ค่อนข้างใกล้เคียงเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติ แต่ไขกระดูก ยังอาจทำงานได้เกือบปกติ เซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้พบทั้งในไขกระดูก กระ แสเลือด ตับและม้าม ซึ่งผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน ซีด อ่อนเพลีย มีจ้ำเลือดออกตามผิวหนัง แน่นท้องหรือปวดท้องเนื่องจากตับและม้ามโต และปวดกระดูกในผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวจำนวนสูงมากมาก(hyperleukocy tosis) อาจมีอาการทางสมอง หายใจลำบากและตามองเห็นไม่ค่อยชัดได้ (จากมีเซลล์มะเร็ง ในสมอง ในปอด และ/หรือ ในลูกตา) ผู้ป่วยจะอยู่ในระยะนี้นานประมาณ 3-5 ปี ขึ้นกับการตอบสนองต่อการรักษา อนึ่ง อาการที่พบได้บ่อยในโรคระยะนี้ คือ มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อึดอัดแน่นท้อง คลำก้อนได้ที่ชายโครงซ้าย (ม้ามโต) หรือบางรายอาจไม่มีอาการเลย แต่ตรวจพบเม็ดเลือดขาวสูงจากการตรวจสุขภาพทั่วไป
  • ระยะระหว่างกลาง (Accelerated phase) เป็นระยะที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากระยะเรื้อรังเป็นระยะรุนแรง (Blastic phase) ผู้ป่วยเริ่มมีอาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเกิดขึ้นอย่างช้าๆก็ได้ เซลล์มะเร็งของผู้ป่วยจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเซลล์มะเร็งที่มีลักษณะใกล้เคียงเม็ดเลือดขาวปกติ ไปเป็นเซลล์ตัวอ่อน และเกิดภาวะเม็ดเลือดปกติต่ำ ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ดังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆมากขึ้น คือ มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักลด ภา วะซีด ติดเชื้อได้ง่าย และเลือดออกได้ง่าย และมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนมากขึ้น นอกจากนั้น โรคอาจแพร่กระจายเข้าสู่สมองได้บ่อย ผู้ป่วยจะอยู่ในระยะนี้ประ มาณ 1-1.5 ปี ขึ้นกับการตอบสนองต่อการรักษาเช่นกัน
  • ระยะรุนแรง (Blastic phase) ในระยะนี้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวจะกลายเป็นเซลล์ตัวอ่อนเกือบทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล(AML) ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลจีนัสชนิดเฉียบพลัน คือ โลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ มีเม็ดเลือดขาวแบบตัวอ่อนจำนวนมากทั้งในเลือดและในไขกระดูก นอกจาก นั้นผู้ป่วยอาจมีอาการคันและมีผื่นขึ้นตามตัว หากผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวสูงมากกว่า 100,000/ลูกบาศก์มิลลิเมตร จะทำให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดขาวสูงมากมาก(Hyperleukocytosis syndrome) คือ กลุ่มอาการเกิดจากเม็ดเลือดขาวที่สูงมากเหล่านี้อุดกั้นในหลอดเลือด และในเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ จึงทำให้เนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่า นั้น สูญเสียการทำงาน เช่น ในสมอง และในไต ผู้ป่วยมักจึงเสียชีวิตภายในระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน ถึงแม้จะได้รับการรักษาก็ตาม
 

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลได้อย่างไร ?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล ได้จาก

  • อาการผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบอาการไข้ ภาวะซีด ตับโต ม้ามโต มีจ้ำเลือดออกตามผิวหนัง
  • การตรวจเลือดซีบีซี(CBC) ซึ่งมักพบว่า ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ และมักมีเม็ดเลือดขาวมากกว่า 100,000/ลูกบาศก์มิลลิเมตร
  • การตรวจไขกระดูกทางพยาธิวิทยา (การตรวจทางพยาธิวิทยา) ซึ่งจะช่วยการวินิจ ฉัยโรคได้แน่นอนถูกต้อง
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เช่น
    • ดูการทำงานของไต เพราะอาจมีการทำงานของไตผิดปกติได้
    • ดูการทำงานของตับ เพราะอาจมีการทำงานของตับผิดปกติได้
    • ดูระดับสารมะเร็งในโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา เช่น แอลดีเอช (LDH)
    • ดูระดับกรดยูริค (Uric acid) อาจมีระดับกรดยูริคสูงขึ้นได้มาก ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของไตได้
    • ดูระดับเกลือแร่ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียม อาจมีระดับของสารต่างๆสูงขึ้นก่อให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ได้
  • การตรวจโครโมโซม (สารพันธุกรรม) เพื่อดูความผิดปกติทางโครโมโซม โดยเฉพาะชนิดฟิลาเดลเฟีย ซึ่งพบได้ประมาณ 90-95% ในผู้ป่วยมะเร็งซีเอ็มแอล
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอกและปอด
  • เจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจเพิ่มเติม ในผู้ป่วยที่สงสัยการแพร่กระจายของเซลล์มะ เร็งเข้าสู่สมอง
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลมีกี่ระยะ ?

ไม่มีการจัดระยะโรคในมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด รวมทั้งชนิดซีเอ็มแอล เพราะเป็นโรคเกิดในไขกระดูกทั้งตัว ดังนั้นเมื่อเกิดโรค โรคจึงเกิดทั่วตัวแล้ว แต่สามารถแบ่งโรคได้เป็น 3 ระ ยะตามความรุนแรงของโรค ดังกล่าวแล้ว คือ ระยะเรื้อรัง ระยะระหว่างกลาง และระยะรุนแรง

รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลอย่างไร ?

การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งซีเอ็มแอลนั้น ในปัจจุบันมีการรักษาได้ 3 วิธีหลัก ซึ่งการจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งทั้ง 3 วิธี ได้แก่

  • การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ซึ่งตัวยายังมีราคาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งการรักษายังมีค่าใช้จ่ายสูงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงวิธีรักษาได้เช่นกัน ทั้งนี้การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ เซลล์ตัวอ่อน ในมะเร็งซีเอ็มแอลแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
    • การปลูกถ่ายไขกระดูกด้วยไขกระดูกของผู้อื่น (Allogeneic stem cell transplanta tion) มีข้อจำกัดที่ต้องมีผู้บริจาคไขกระดูกที่มีเลือดตรงกับผู้ป่วย ทั้งที่เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน หรือจากผู้บริจาคคนอื่นๆ และผู้ป่วยที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้นต้องมีอายุน้อยกว่า 50 ปี เพราะหากผู้ป่วยอายุมากกว่า มักมีผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษาสูง ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากการรักษาค่อนข้างสูง
    • การปลูกถ่ายไขกระดูกด้วยไขกระดูกของตนเอง (Autologous stem cell transplanta tion) เป็นการปลูกถ่ายไขกระดูกหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแล้วจนไม่พบเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยกว่า เนื่องจากเป็นการใช้เซลล์ของตัวเอง
  • การใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งมีหลายสูตรยา ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ หรือ ข้อกำ หนดในการรักษา (Guideline) ของแต่ละโรงพยาบาล

    กรณีมีม้ามโตมาก จนก่ออาการแน่นอึดอัดในช่องท้อง การรักษาอาจเป็นการฉายรังสีรักษาที่ม้าม แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และข้อกำหนดในการรักษาของแต่ละโรง พยาบาล

 

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลมีผลข้างเคียงอย่างไร ?

  • ผลข้างเคียง จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธี และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาหลายๆวิธีร่วมกัน
  • ผลข้างเคียงจากการให้ยารักษาตรงเป้า เช่น มีผื่นขึ้น ปวดศีรษะ ปวดตามตัว คลื่นไส้ มีเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ มีความผิดปกติในการทำงานของตับ (ตรวจพบจากตรวจเลือด) แต่ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ และมักจะหายได้เองหลังจากหยุดยา นอกจาก นั้นอาจมีภาวะเลือดออกผิดปกติตามอวัยวะ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่รุนแรงที่สุด แต่พบได้น้อย
  • ผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผิว หนังดำคล้ำ ไขกระดูกสร้างเซลล์ปกติลดลง ส่งผลให้มีภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
  • ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายไขกระดูก เช่น มีเม็ดเลือดขาวต่ำ จึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และมีเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีโอกาสเลือดออกผิดปกติได้ง่าย (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
  • ผลข้างเคียงจากฉายรังสีที่ม้าม คือ มีเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลเป็นโรครุนแรงไหม ?

ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลส่วนใหญ่ เมื่อได้รับการรักษา มักมีชีวิตอยู่ได้ประ มาณ 3-5 ปีนับจากการวินิจฉัยโรค (อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 40-80%) ซึ่งความแตกต่างในอัตรารอดชีวิต ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาในการรักษาควบคุมโรคในระยะเรื้อรัง ถ้าควบ คุมโรคในระยะนี้ได้ดี โอกาสรอดชีวิตจะสูงขึ้น เพราะผู้ป่วยจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือนถ้าโรคผ่านจากระยะเรื้อรัง เข้าสู่ ระยะระหว่างกลาง และระยะรุนแรง นอกจากนั้น ยังขึ้นกับ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลไหม ? ควรพบแพทย์เมื่อไร ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด รวมทั้งชนิด ซีเอ็มแอลให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าว จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลได้อย่างไร ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการได้รับรังสีไอออนไนซ์ เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในบทความการดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

Updated 2013, July 15