เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งเต้านม ตอนที่ 9

ทางเลือกในการรักษาแยกตามระยะโรคมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง?

ความผิดปกติก่อนมะเร็งเต้านมของท่อน้ำนม

อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  1. ผ่าตัดแบบอนุรักษ์เต้านม ร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้รังสีรักษาหรือยาฮอร์โมน
  2. ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้ยาฮอร์โมน
  3. เข้าเป็นผู้ป่วยเพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวกับ การผ่าตัดแบบอนุรักษ์เต้านมร่วมกับการให้ยาฮอร์โมน โดยอาจร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้รังสีรักษา

ความผิดปกติก่อนมะเร็งเต้านมของต่อมน้ำนม

อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  1. ตัดชิ้นเนื้อเพียงเพื่อการวินิจฉัยความผิดปกติก่อนเป็นมะเร็งเต้านมของต่อมน้ำนมให้ได้ แล้วทำการตรวจร่างกายและเอกซเรย์เต้านม (การถ่ายภาพรังสีเต้านม) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อมองหาการเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิธีนี้เรียกว่า “การเฝ้าสังเกต”
  2. การให้ยาฮอร์โมนทามอกซิเฟน (Tamoxifen) รับประทาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
  3. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ทางเลือกนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นบางกรณี เช่น ในสตรีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าวิธีการนี้เป็นการรักษาที่ก้าวร้าวเกินความจำเป็นอยู่
  4. เข้าเป็นผู้ป่วยในการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวกับยาต่างๆซึ่งอาจป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้
  5. ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 เอ และระยะที่ 3 ซี ที่สามารถรับการผ่าตัดรักษาได้

    อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

    1. การผ่าตัดแบบอนุรักษ์เต้านม เพื่อเอาเพียงก้อนมะเร็งและเนื้อเต้านมปกติรอบข้างเล็กน้อยออกไปเท่านั้น แล้วตามด้วยการเลาะต่อมน้ำเหลืองและการให้รังสีรักษา
    2. การผ่าตัดเต้านมกึ่งถอนรากถอนโคน ร่วมหรือไม่ร่วมกับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม
    3. เข้าเป็นผู้ป่วยในการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวกับการประเมินต่อมน้ำเหลืองแรกที่มะเร็งอาจกระจายมา โดยการตรวจชิ้นเนื้อแช่แข็งแล้วตามด้วยการผ่าตัดเต้านม
    4. การรักษาเพิ่มเสริม (การรักษาที่ให้หลังการผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสในการหายจากโรค) อาจประกอบไปด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ คือ
      1. การให้รังสีรักษาที่ต่อมน้ำเหลืองซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้ๆกับเต้านม และที่บริเวณผนังหน้าอกหลังการผ่าตัดเต้านมกึ่งถอนรากถอนโคน
      2. การให้ยาเคมีบำบัดทั้งระบบ ร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้ยาฮอร์โมน
      3. การให้ยาฮอร์โมนเท่านั้น

    ระยะที่ 3 บี และระยะที่ 3 ซี ที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดรักษาได้

    อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

    1. การให้ยาเคมีบำบัดทั้งระบบ
    2. การให้ยาเคมีบำบัดทั้งระบบแล้วตามด้วยการผ่าตัด (แบบอนุรักษ์เต้านม หรือแบบเอาเต้านมออกทั้งหมด) ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองแล้วตามด้วยการให้รังสีรักษา อาจให้การรักษาทั้งระบบเพิ่มเสริม (อาจเป็นยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน หรือทั้งสองอย่าง) ด้วยก็ได้
    3. เข้าเป็นผู้ป่วยในการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวกับยาต้านมะเร็งขนานใหม่ สูตรยาเคมีบำบัดร่วมสูตรใหม่ และวิธีการในการรักษาแบบใหม่

    ระยะที่ 4 และกรณีที่มีโรคแพร่การกระจายไปแล้ว

    อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

    1. การให้ยาฮอร์โมนหรือยาเคมีบำบัด ร่วมหรือไม่ร่วมกับยาทราสตูซูแมบ / Trastuzumab (ชื่อการค้าคือ เฮอร์เซปติน/Herceptin ซึ่งเป็นยารักษาตรงเป้าชนิดหนึ่ง)
    2. การให้รังสีรักษาหรือการผ่าตัด เพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการอื่นๆ
    3. เข้าเป็นผู้ป่วยในการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวกับยาเคมีบำบัดหรือยาฮอร์โมนขนานใหม่ หรือสูตรยาเคมีบำบัดร่วมสูตรใหม่กับยาทราสตูซูแมบ
    4. เข้าเป็นผู้ป่วยในการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวกับแนวทางในการรักษาใหม่ๆ เช่น การให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง ร่วมกับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ก่อเกิดเม็ดเลือดที่อยู่ในระบบไหลเวียนเลือด (Peripheral blood stem cell transplantation)

    สรุปเรื่องมะเร็งเต้านม

    ในประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ในแต่ละปีมากขึ้นเรื่อยๆ จนมากกว่าโรคมะเร็งปากมดลูกที่เคยพบมากเป็นอันดับ 1 ในสตรีแล้ว คุณผู้หญิงจึงควรทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งเป็นประจำ เพื่อจะได้พบก้อนหรือสิ่งผิดปกติของเต้านมเสียตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เมื่อพบสิ่งผิดปกติใดๆของเต้านมควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว อย่าลังเลใจ มัวแต่ผัดผ่อนเวลา เพราะอาจทำให้สายเกินไปที่จะรักษาโรคให้หายขาดได้ พึงระลึกเสมอว่ามะเร็งของเต้านมหรืออวัยวะใดก็ตาม ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกหรือยิ่งเร็วเท่าใด ความหวังที่โรคจะหายขาดก็ยิ่งมีมากขึ้นเพียงนั้น หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมแล้ว (ต้องเป็นผลการวินิจฉัยจากผลการตรวจชิ้นเนื้อเท่านั้น) ก็อย่ามัวแต่ปฏิเสธ ต่อรอง หรือร้องไห้เสียใจจนไม่เป็นอันทำอะไร ควรปฏิบัติตนและยอมรับการรักษาตามที่แพทย์ผู้ตรวจแนะนำ อย่าหลงเชื่อและเสียเวลาไปในการรักษาโรคมะเร็ง ด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์และยากลางบ้านต่างๆ เพราะก้อนมะเร็งนั้นก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะหายขาดได้ก็ย่อมจะลดลงไปทุกขณะ

    บรรณานุกรม

    1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.