เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งเต้านม ตอนที่ 5

การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งเต้านมมีวิธีการใดบ้าง

การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้งเป็นประจำดังได้กล่าวมาแล้วใน เรื่องมะเร็งเต้านม ตอนที่ 4 จะช่วยให้พบก้อนมะเร็งได้ตั้งแต่เริ่มแรกซึ่งยังมีขนาดเล็กมาก หากพบก้อนแล้วก็ควรไปปรึกษาแพทย์เสียก่อน อย่าเพิ่งด่วนสรุปลงไปว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมแล้ว เพราะก้อนที่เต้านมซึ่งคลำพบได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่ก้อนมะเร็งหรอกครับ แพทย์จะเป็นผู้สั่งทำการตรวจเพิ่มเติมตามความจำเป็นก่อน จึงจะสามารถให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาขั้นต่อไปได้ โดยอาจทำการตรวจเต้านมด้วยรังสีเอกซ์ (การถ่ายภาพรังสีเต้านม) การตัดเอาก้อนเนื้อนี้ออก หรือใช้เข็มดูดเซลล์ที่ก้อนเนื้อนั้นออกไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (การตรวจทางพยาธิวิทยา หรือ การตรวจทางเซลล์วิทยา) เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือไม่เสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาให้การรักษาที่ถูกต้องได้ตามผลการวินิจฉัยของก้อนเนื้อนั้นต่อไป

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพยากรณ์โรคและทางเลือกในการรักษามีอะไรบ้าง?

การพยากรณ์โรค/การบอกความรุนแรงของโรคและทางเลือกในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้

  1. ระยะของโรคมะเร็งเต้านม (โรคลุกลามกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะต่างๆมากเพียงใดแล้ว)
  2. ชนิดของเซลล์โรคมะเร็งเต้านม
  3. ปริมาณของตัวรับ (Receptor) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสโตเจน (Progestogen) ใน ก้อนเนื้อมะเร็ง
  4. อายุ สุขภาพทั่วไป และการเข้าสู่วัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) แล้วหรือยังของผู้ป่วย
  5. เป็นการวินิจฉัยครั้งแรกหรือเป็นการวินิจฉัยว่าโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.