เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งเต้านม ตอนที่ 7

ภาพรวมของการรักษาโรคมะเร็งเต้านม เป็นอย่างไร?

การรักษาโรคมะเร็งเต้านมในทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น ก็คล้ายคลึงกันกับการรักษาโรคมะเร็งโดยทั่วไป คือมีอยู่ 5 วิธี ได้แก่

  1. วิธีการผ่าตัด
  2. การให้รังสีรักษา
  3. การให้ยาเคมีบำบัด
  4. การให้ยาฮอร์โมน
  5. การให้ยารักษาตรงเป้า

ทั้งนี้อาจให้การรักษาโดยวิธีการเดียว หรือร่วมไปด้วยกันหลายๆวิธีก็ได้

รายละเอียดของวิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง?

มีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยวิธีต่างๆอยู่มากมาย บางอย่างจัดเป็นวิธีมาตรฐาน (วิธีที่ใช้กันอยู่แล้วในปัจจุบัน) และบางอย่างก็เป็นวิธีที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยทางคลินิก (คือกำลังนำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยจริงนั่นเอง) ก่อนเริ่มการรักษา ผู้ป่วยอาจอยากที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยทางคลินิก การศึกษาวิจัยทางคลินิกในด้านวิธีการรักษาก็คือ การศึกษาวิจัยที่มีเจตนาจะช่วยในการปรับปรุงพัฒนาวิธีการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการรักษาชนิดใหม่ที่จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง เมื่อผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกได้แสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วยวิธีใหม่ดีกว่าวิธีเก่า วิธีการรักษาใหม่นั้นก็อาจกลายเป็นวิธีการรักษามาตรฐานขึ้นมาได้

การศึกษาวิจัยทางคลินิกต่างๆนั้น มีการดำเนินการอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก การเลือกวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่เหมาะสมที่สุดนั้น ควรเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นมาจากการปรึกษาหารือกันของผู้ป่วยกับครอบครัวและทีมแพทย์ผู้ดูแล

วิธีผ่าตัด

ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ มักจะได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกจากเต้านม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็จะมีการเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองใต้วงแขน/รักแร้ออกไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วย (การตรวจทางพยาธิวิทยา) เพื่อตรวจหาดูว่ามีการกระจายของเซลล์มะเร็งมาที่นี่หรือเปล่า

การผ่าตัดแบบอนุรักษ์เต้านม เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกแต่พยายามที่จะไม่เอาเนื้อเต้านมปกติออกไปด้วย ซึ่งก็ได้แก่วิธีการผ่าตัดดังต่อไปนี้

  1. การผ่าตัดเอาออกเฉพาะก้อน (Lumpectomy) เป็นหัตถการที่จะผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อปกติรอบๆก้อนมะเร็งออกไปด้วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
  2. การผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน (Quadrantectomy) เป็นหัตถการที่จะผ่าตัดเอาบางส่วนของเต้านมที่มีก้อนมะเร็งอยู่ภายใน และเนื้อเต้านมปกติบางส่วนรอบๆมันออกไปด้วยกันเลย อาจเรียกหัตถการนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่าการผ่าตัดเต้านมออกตามส่วน (ที่แบ่งแยกได้ทางกายวิภาคศาสตร์) ก็ได้

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบอนุรักษ์เต้านม อาจได้รับการเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองใต้วงแขน/รักแร้ออกไปบางส่วนเพื่อการตรวจวินิจฉัยด้วย หัตถการนี้อาจทำไปเลยในการผ่าตัดคราวเดียวกัน หรือกลับมาทำในภายหลังก็ได้ เพราะว่าแผลผ่าตัดเพื่อการเลาะต่อมน้ำเหลืองนั้น จะเป็นคนละแผลกับแผลที่ใช้ในการผ่าตัดก้อนมะเร็ง

วิธีผ่าตัดชนิดอื่นๆที่ใช้กันอยู่ ก็ได้แก่

  1. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด เป็นหัตถการที่จะผ่าตัดเอาเต้านมที่มีก้อนมะเร็งอยู่ออกไปทั้งหมด อาจเรียกวิธีการผ่าตัดชนิดนี้ว่าการผ่าตัดเต้านมออกอย่างง่ายก็ได้ (Simple mastectomy) อาจทำการเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองใต้วงแขนออกไปบางส่วนในการผ่าตัดคราวเดียวกันหรือกลับมาทำในภายหลังก็ได้ โดยลงแผลเพื่อการเลาะต่อมน้ำเหลืองคนละที่กันกับแผลที่ใช้ในการผ่าตัดก้อนมะเร็ง
  2. การผ่าตัดเต้านมกึ่งถอนรากถอนโคน (Modified radical mastectomy เรียกย่อว่า MRM) เป็นหัตถการที่จะผ่าตัดเอาเต้านมที่มีก้อนมะเร็งอยู่ออกไปทั้งหมด รวมทั้งเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองใต้วงแขน/รักแร้ออกไปเป็นจำนวนมาก ทำการเลาะเนื้อเยื่อที่อยู่บนกล้ามเนื้อของหน้าอกและในบางครั้งก็ตัดบางส่วนของกล้ามเนื้อหน้าอกออกไปด้วยในการผ่าตัดคราวเดียวกัน
  3. การผ่าตัดเต้านมแบบถอนรากถอนโคน (Radical mastectomy) เป็นหัตถการที่จะผ่าตัดเอาเต้านมที่มีก้อนมะเร็งอยู่ รวมทั้งกล้ามเนื้อหน้าอกใต้เต้านม และต่อมน้ำเหลืองใต้วงแขน/รักแร้ออกไปทั้งหมด ในบางครั้งอาจเรียกหัตถการนี้ว่า การผ่าตัดเต้านมแบบถอนรากถอนโคน“ฮาลสเต็ด (Halsted mastectomy)”
  4. แม้แต่ในกรณีที่แพทย์ได้ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็ง ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในระหว่างการผ่าตัด ออกไปหมดแล้ว ผู้ป่วยก็ยังอาจจะต้องได้รับรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด หรือยาฮอร์โมน หลังจากการผ่าตัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งใดๆ ที่อาจมีหลงเหลืออยู่หลังจากการผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสในการหายจากโรค ซึ่งเรียกการรักษาหลังการผ่าตัดนี้เรียกว่า การรักษาเพิ่มเสริม (Adjuvant treatment)

    หากผู้ป่วยกำลังจะได้รับการผ่าตัดเอาเต้านมออก ก็อาจพิจารณาทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมหลังการตัดเอาเต้านมออกไปด้วยเลย การผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมอาจทำไปเลยในคราวเดียวกันกับการผ่าตัดเอาเต้านมออก หรือจะกลับมาทำในภายหลังก็ได้ เต้านมที่ได้รับการผ่าตัดสร้างเสริมขึ้นมาใหม่นี้ อาจทำขึ้นมาจากเนื้อเยื่ออื่นๆ (ที่ไม่ใช่เต้านม) ของผู้ป่วยเอง โดยใช้ถุงที่บรรจุน้ำเกลือหรือเจลซิลิโคนฝังไว้ข้างในเนื้อเยื่อนั้น (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้ถุงที่บรรจุซิลิโคนได้เฉพาะในการศึกษาวิจัยทางคลินิกเท่านั้น)

    บรรณานุกรม

    1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.