มะเร็งสมองเกิดเองก็ได้ ลามมาก็มี (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

มะเร็งสมองเกิดเองก็ได้-6

      

• รังสีบำบัด ซึ่งแบ่งเป็น

      o รังสีจากภายนอก (External radiation) โดยใช้รังสีอนุภาคพลังงานสูง (High-energy beam) ยิงทะลุกะโหลกเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักทำสัปดาห์ละ 5 วัน เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์

      o รังสีภายใน (Internal or implant radiation) โดยใช้แคปซูลรังสี (Radioactive capsule) ฝังในก้อนเนื้องอก แล้วค่อยๆ ปล่อยพลังงานออกมาเพื่อทำลายก้อนเนื้อจนหมด

      o รังสีศัลยกรรม (Stereotactic radiosurgery) เช่น Gamma Knife หรือ Linear accelerator ซึ่งเป็นเทคนิคการผ่าตัดโดยไม่ใช้มีด (Knifeless) และไม่ต้องเปิดกะโหลกศีรษะ อาศัยการบอกตำแหน่งด้วยซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอ แล้วยิงด้วยรังสีอนุภาคพลังงานสูงในมุมต่างๆ เพื่อทำลายเนื้อร้าย เป็นการรักษาที่ซับซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดกะโหลกและใช้เวลาฟื้นตัวที่สั้นกว่า

• เคมีบำบัด เป็นการใช้เคมีในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ทั้งในรูปของการกินหรือการฉีดเข้าหลอดเลือด (Intravenously) ซึ่งอาจใช้เคมีตัวเดียวหรือหลายตัวร่วมกัน เช่น ยา Temozolomide และ ยา Bevacizumab

• การให้ยา เช่น ก่อนการผ่าตัดจะมีการให้

      - ยาสเตียรอยด์ Dexamethasone เพื่อลดบวม

      - ยากันชัก เช่น ยา Levetiracetam ยา Phenytoin หรือ ยา Carbamazepine เป็นต้น

• หากมีน้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง หรือ ซีเอสเอฟ (Cerebrospinal fluid = CSF) ที่มากเกิน ก็จะมีการถ่ายน้ำออกจากโพรงสมองก่อน

      ทั้งนี้ การรักษาโรคมะเร็งสมองสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น การให้เคมีบำบัดมีผลทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง อ่อนแรง ระบบภูมิต้านทานถูกกดทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รังสีบำบัดทำให้ผิวถูกทำลาย (เป็นสีแดงหรือสีดำ) ผมร่วงโดยเฉพาะบริเวณที่ถูกรังสี การผ่าตัดอาจทำให้สมองบวม กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสมองทำหน้าที่ไม่ปกติ ซึ่งผลข้างเคียงนั้นเป็นได้ทั้งกรณีที่หายเมื่อสิ้นสุดการรักษาหรืออาจคงอยู่ถาวร

      และเนื่องจากโรคมะเร็งสมองสามารถกระทบต่อทักษะด้านต่างๆ เช่น การพูด การมองเห็น และการคิด ดังนั้นจึง อาจต้องทำการฟื้นฟูสภาพ (Rehabilitation) ด้วย เช่น

• กายภาพบำบัด (Physical therapy)

• กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy)

• อรรถบำบัด (Speech therapy)

      ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งสมอง แต่การตรวจพบแต่เนิ่นๆ และทำการรักษา จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการฉายรังสีบริเวณศีรษะ การสัมผัสกับสารเคมี การติดเชื้อเฮชไอวี

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Brain tumor. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/brain-tumor/symptoms-causes/syc-20350084[2018, September 12].
  2. Brain Cancer. https://www.webmd.com/cancer/brain-cancer/brain-cancer [2018, September 12].
  3. Brain Cancer. https://www.emedicinehealth.com/brain_cancer/article_em.htm[2018, September 12].