มะเร็งลิ้น (Tongue cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งลิ้น(Tongue cancer )คือโรคที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อลิ้นมีการเจริญเติบโตแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเกินปกติมาก และร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็ง กล่าวคือ ก้อนมะเร็งมีการรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อลิ้นทั้งหมดจนลิ้นเสียการทำงาน กลายเป็นก้อนเนื้อ/แผลเรื้อรังที่ขยายขนาดต่อเนื่อง และรุกราน/ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆในช่องปาก ลำคอ ต่อมน้ำเหลืองลำคอ และในที่สุดแพร่กระจายทางกระแสโลหิตและทางระบบน้ำเหลืองไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย รวมถึงต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ ที่พบแพร่กระจายไปบ่อย คือ ปอด กระดูก และตับ

อนึ่ง ลิ้น (Tongue) เป็นอวัยวะหนึ่งของช่องปาก มีหน้าที่รับรสอาหาร ช่วยคลุกเคล้าอาหารกับน้ำลาย ช่วยการกลืนอาหาร/น้ำดื่ม ช่วยการออกเสียง และยังมีต่อมน้ำลายเล็กๆกระจายทั่วไปบนลิ้น ซึ่งช่วยในการสร้างน้ำลาย

โรคมะเร็งลิ้น จัดรวมอยู่ในโรคมะเร็งช่องปาก จากการที่มีธรรมชาติของโรค อาการ การวินิจฉัย ระยะโรค การรักษา เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งของลิ้นมักรุนแรงกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่นๆของช่องปาก เช่น โรคมะเร็งริมฝีปาก เป็นต้น เพราะเมื่อพบโรค มะเร็งลิ้นมักอยู่ในระยะลุกลาม รุนแรงกว่า เนื่องจาก ลิ้นเป็นอวัยวะมีหลอดเลือด และระบบน้ำเหลืองมากมาย มากกว่าเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆของช่องปาก จึงมักมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอได้สูงและอย่างรวดเร็ว

สถิติมะเร็งลิ้นมักรวมอยู่ในโรคมะเร็งช่องปาก น้อยครั้งที่จะมีรายงานแยกเฉพาะของลิ้น ในสหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. 2556 รายงานมะเร็งลิ้นรวมอยู่ในมะเร็งช่องปาก โดยพบมะเร็งช่องปากทั้งชายหญิง ได้ 5.2 รายต่อประชากรชายหญิง1แสนคน ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในช่วงปี พ.ศ. 2553- 2555(รายงานปี 2558) พบโรคมะเร็งลิ้นในผู้หญิง 1.0 รายต่อประชากรหญิง1 แสนคน และ ในผู้ชาย 2.2 ราย ต่อประชากรชาย 1แสนคน

โรคมะเร็งลิ้นเป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า ส่วนใหญ่พบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 60-65 ปี อย่างไรก็ตาม พบในช่วงอายุต่ำกว่า45 ปีได้ แต่ไม่ค่อยพบในเด็กๆ ซึ่งโรคมะเร็งลิ้นในคนอายุต่ำกว่า 45 ปี เชื่อว่าน่ามีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม มากกว่าปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตซึ่งที่สำคัญ คือ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV, Human papilloma virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุมาจากเพศสัมพันธ์ทางปากเมื่อไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย

โรคมะเร็งลิ้นมีกี่ชนิด?

มะเร็งลิ้น

โรคมะเร็งลิ้นมีหลากหลายชนิด ทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) แต่เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม/ชนิดคาร์ซิโนมา(Carcinoma of the tongue หรือ Tongue carcinoma) และเกือบทั้งหมดของชนิด คาร์ซิโนมา จะเป็นมะเร็งจากเซลล์ของเยื่อเมือกชนิด สะความัส (Squamous cell carcinoma บางท่านย่อว่า SCC)

ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง “โรคมะเร็งลิ้น” จึงหมายถึงโรคมะเร็งชนิดนี้ คือชนิด ‘Squamous cell carcinoma’ ซึ่งรวมถึงบทความนี้ด้วย

โรคมะเร็งลิ้นเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

สาเหตุขอโรคมะเร็งลิ้นที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่ปัจจัยเสี่ยง เช่นเดียวกับโรคมะเร็ง ช่องปาก คือ

  • บุหรี่
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เมื่อทั้งสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงจะเพิ่มเป็นหลายๆเท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ช่องปากติดเชื้อไวรัสเอชพีวี จากการมีเพศสัมพันธ์ทางปากดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
  • อาจจากสาเหตุทางพันธุกรรมเมื่อเกิดในคนอายุน้อยกว่า 45 ปี

โรคมะเร็งลิ้นมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคมะเร็งลิ้น คือ มีแผล หรือก้อนเนื้อเรื้อรังที่ลิ้นส่วนใดก็ได้ ซึ่งมักไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ เป็นได้ทั้งมีขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตร (มล.)ไปจนถีงใหญ่เป็นเซนติเมตร (ซม.) นอกจากนั้น คือ

  • อาการเจ็บลิ้นเรื้อรัง
  • มีฝ้าแดง หรือฝ้าขาวเรื้อรังที่ลิ้นส่วนใดก็ได้ ฝ้าเหล่านี้ มักเป็นฝ้าที่เกิดจากเซลล์เยื่อเมือกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง
  • มีกลิ่นปากเรื้อรัง
  • เมื่อแผล/ก้อนเนื้อใหญ่ขึ้น จะส่งผลถึงการกลืนลำบาก เสียงพูดเปลี่ยนเหมือนอมอะไรในปาก
  • มีเลือดออกจากแผลง่าย มีน้ำลายปนเลือด หรือ เสลดปนเลือด
  • เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น จะคลำได้ต่อมน้ำเหลืองลำคอโต (อาจในตำแหน่งใต้คาง ใต้ขากรรไกร และ/หรือตัวลำคอเอง) ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ต่อมน้ำเหลือง อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้ ทั่วไป ต่อมฯจะโตมากกว่า 1ซม.ขึ้นไป

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งลิ้นได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งลิ้นได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย ตรวจช่องปากและลิ้นด้วยการดู/คลำ/เครื่องมือการตรวจทางหูคอจมูก และตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองต่างๆในส่วนลำคอ แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากแผล/ก้อนเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

เมื่อผลชิ้นเนื้อระบุเป็นโรคมะเร็ง จะมีการตรวจต่างๆเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรคมะเร็ง และสุขภาพผู้ป่วย เช่น

  • เอกซเรย์ภาพปอด ดูโรคของปอด หัวใจ และโรคมะเร็งแพร่กระจายสู่ปอด
  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องปากและลำคอ ดูการลุกลามของโรคในช่องปาก และต่อมน้ำเหลืองต่างๆบริเวณลำคอ
  • ตรวจเลือดดูการทำงานของไขกระดูก (ตรวจซีบีซี/CBC) ดูการทำงานของ ตับ ไต และดูค่าเกลือแร่ต่างๆ
  • การตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับ และ
  • ตรวจภาพสะแกนกระดูก ดูโรคแพร่กระจายสู่กระดูก
  • ซึ่งการตรวจดูการแพร่กระจายของโรคทั้ง2วิธีหลังนี้(สะแกนกระดูก และ/หรือ อัลตราซาวด์ตับ) มักตรวจเฉพาะในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

โรคมะเร็งลิ้นมีกี่ระยะ?

มะเร็งลิ้นมีการจัดระยะโรคเช่นเดียวกับมะเร็งช่องปาก เพราะลิ้นจัดเป็นเนื้อเยื่อ/อวัยวะหนึ่งของช่องปาก(ดังได้กล่าวใน ‘บทนำ’) และแบ่งเป็น4ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งต่างๆทุกชนิด นอกจากนี้ บางระยะยังแบ่งเป็นระยะย่อยๆ(มักใช้เฉพาะระหว่างแพทย์โรคมะเร็ง) เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยบอกการพยากรณ์โรค วิธีรักษา และเพื่อการศึกษาวิจัย

ทั้ง4 ระยะของมะเร็งลิ้น ได้แก่

  • ระยะที่1: ก้อนมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า หรือเท่ากับ 2 ซม. และโรคจำกัดอยู่เฉพาะที่ลิ้นเท่านั้น
  • ระยะที่2: ก้อนมะเร็งมีขนาดโตกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน 4 ซม. และโรคจำกัดอยู่เฉพาะที่ลิ้นเท่านั้น
  • ระยะที่3: ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 4 ซม และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเกิดโรคที่ลิ้น 1 ต่อม โดยต่อมฯมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.
  • ระยะที่4: แบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ 4A: ก้อนมะเร็งลุกลามมากเข้ากระดูกกราม และ/หรือกระดูกใบหน้า และ/หรือเข้าโพรงอากาศใบหน้า และ/หรือ เนื้อเยื่อลิ้นส่วนอยู่ลึกมาก และ/หรือผิวหนังที่ใบหน้า
    • ระยะ4B: คือ มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอโดยต่อมฯโตมากกว่า 6ซม. แต่ยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมน้ำเหลือง และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งลุกลามออกนอกต่อม ,และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองทั้ง2ข้างของลำคอ, และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง1ต่อมแต่เป็นต่อมที่อยู่ด้านตรงข้ามก้อนมะเร็งที่ขนาดเล็กกว่า3ซม.แต่โรคลุกลามออกนอกต่อมน้ำเหลือง และ/หรือโรคลุกลามถึงกระดูกฐานสมอง และ/หรือถึงหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ลำคอ
    • ระยะ4C: คือ มะเร็งแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด กระดูก ตับ, และ/หรือแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกเหนือจากลำคอ เช่น ที่รักแร้ ที่ขาหนีบ เป็นต้น

อนึ่ง ‘มะเร็งระยะ0’ หรือ Carcinoma in situ (CIS) แพทย์ด้านโรคมะเร็งหลายท่าน ยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกราน(Non invasive)ทะลุผ่านเยื่อบุผิวของลิ้น โรคระยะนี้ มีอัตรารอดที่ห้าปีจากการผ่าตัดวิธีการเดียวสูงถึง ประมาณ90%

โรคมะเร็งลิ้นรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งลิ้น คือ

  • ในโรคระยะที่ 1 อาจเป็นการผ่าตัดลิ้น หรือการฝังแร่/การใส่แร่ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • โรคในระยะที่ 2-4 กลุ่มยังไม่มีโรคแพร่กระจาย เมื่อสามารถผ่าตัดได้ แพทย์มักให้การรักษาด้วยการผ่าตัดก่อน หลังจากนั้น จึงรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัดตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • ส่วนโรคในระยะที่ 4 กลุ่มมีโรคแพร่กระจายแล้ว หรือในโรคระยะต่างๆที่สุขภาพผู้ป่วยไม่อำนวย แนวทางการรักษา จะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ซึ่งแพทย์พิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไปตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด การใส่สายให้อาหารผ่านทางจมูกเข้าสู่กระเพาะอาหาร หรือใส่ท่อให้อาหารผ่านผนังหน้าท้องเข้ากระเพาะอาหารโดยตรงในกรณีกลืนไม่ได้

อนึ่ง:

  • ในการรักษาโดยการให้รังสีรักษา แพทย์มักปรึกษาทันตแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพช่องปากและฟันก่อนให้รังสีรักษา ซึ่งถ้าพบมีฟันผุมาก ทันตแพทย์มักต้องถอนฟันก่อน และจะเริ่มรังสีรักษาได้ต่อเพื่อแผลถอนฟันติดดีแล้ว เพื่อป้องกันแผลถอนฟันไม่ติดเรื้อรังส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของช่องปากและกระดูกกรามได้
  • ในโรคระยะลุกลาม รุนแรง การรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ร่วมกับรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด อาจเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้ แต่ทั้งนี้ ยายังมีราคาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยารักษาตรงเป้าได้

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งลิ้นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งลิ้น ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด เช่น การสูญเสียอวัยวะ คือ ลิ้น ซึ่งอาจผ่าตัดออกเพียงบางส่วนหรืออาจต้องผ่าตัดออกทั้งลิ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะโรค และตำแหน่งที่เกิดโรค การเสียเลือด และ/หรือแผลผ่าตัดติดเชื้อ
  • รังสีรักษา เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • ยาเคมีบำบัด เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และอาจมีเลือดออกได้ง่ายจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งลิ้นรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งลิ้น เป็นโรคมะเร็งมีความรุนแรง/การพยากรณ์โรค ระดับปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หาย โดยโอกาสขึ้นกับ ระยะโรค อายุ และสุขภาพผู้ป่วย

ทั่วไปอัตรารอดที่ 5 ปีหลังการรักษาใน

  • โรคระยะที่1 ประมาณ 70-75%
  • ระยะที่ 2 ประมาณ 60 %
  • ระยะที่ 3 ประมาณ 30-50%
  • ระยะที่ 4 (A,B) เมื่อยังไม่มีโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต ประมาณ 0- 10%
  • ระยะที่ 4 (C) เมื่อมีโรคแพร่กระจายแล้วประมาณ 0-5%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลิ้นไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลิ้น ดังนั้น การดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การสังเกตความผิดปกติของลิ้น เมื่อมีแผลเรื้อรัง หรือก้อนเนื้อซึ่งไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยโรค และให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งลิ้นอย่างไร?

วิธีลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งลิ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งช่องปาก และโรคมะเร็งอื่นๆ ลงได้อีกด้วย เช่น มะเร็งคอหอย มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ คือ

  • การไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และ เลิกบุหรี่ และแอลกอฮอล์ เมื่อบริโภคอยู่
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอชพีวีในช่องปากจากมีเพศสัมพันธ์ทางปากด้วยการใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปากเสมอ

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงมะเร็งลิ้น จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา ใช้ยาต่างๆ ที่แพทย์แนะนำ ให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง ไม่หยุดการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

*นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆมากขึ้น เช่น ปวด/เจ็บลิ้นมาก กลืนแล้วสำลักตลอดเวลา กลืนอาหารไม่ได้
  • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่ง เช่น ท้องผูกมาก คลื่นไส้อาเจียนมาก ขึ้นผื่นทั้งตัว
  • เมื่อกังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th edition
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
  4. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia
  5. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  6. Kazi,R. The Internet Journal of Otorhinolaryngology 2003;2(2): https://print.ispub.com/api/0/ispub-article/12016 [2018,Nov3]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/847428-overview#showall [2018,Nov3]
  8. https://www.cancer.org/cancer/oral-cavity-and-oropharyngeal-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Nov3]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Oral_cancer [2018,Nov3]