มะเร็งลำไส้ใหญ่ หายได้ถ้าพบเร็ว (ตอนที่ 6)

การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy drugs) เช่น ยา 5-flurouracil ยา Xeloda ยา Camptosar และยา Eloxatin ยาเหล่านี้มักใช้ร่วมกัน นอกจากการให้ยาเคมีบำบัด อาจให้โดยตรงไปยังตับเลย หากมะเร็งได้กระจายไปยังบริเวณนั้นแล้ว

คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration : FDA) ได้อนุมัติยา 5 ตัว ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ อันได้แก่ ยา Erbitux ยา Avastin ยา Stivarga ยา Zaltrap และยา Vectibix โดยเป็นวิธีการรักษาที่แตกต่างออกไปซึ่งเรียกว่า เป็นการรักษาแบบ “ภูมิคุ้มกันบำบัดหรือชีวบำบัด” (Immunotherapy or biologic therapy)

ยาเหล่านี้ จะทำการสกัดเลือดหรือโปรตีนที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งเพื่อไม่ให้เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโต สามารถใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะที่มีการกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

สำหรับการแบ่งระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง นั้น จะแบ่งตามการแพร่กระจายของเชื้อไปตามผนังลำไส้และทวารหนัก หรือไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่ละระยะจะมีการรักษาที่แตกต่างกันไป

มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ระยะ 0 จะพบในส่วนที่อยู่ในสุดของลำไส้เท่านั้น การรักษามักใช้วิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้

  • Polypectomy คือ การส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนักแล้วฉายแสงให้ติ่งเนื้อส่วนนั้นไหม้และสลายไป
  • การผ่าตัดโดยการตัดต่อลำไส้ (Resection / Anastomosis) โดยการตัดเอาส่วนที่มีเชื้อมะเร็งออกแล้วต่อด้วยเนื้อเยื่อที่ปกติเพื่อให้ลำไส้ทำงานได้ต่อไป

มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะ 1 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามจากเนื้อเยื่อชั้นในสุดของผนังลำไส้ใหญ่ ไปยังเนื้อเยื่อในชั้นกลาง อยู่ภายในผนังลำไส้ ยังไม่กระจายออกไปยังนอกผนังลำไส้

การรักษาจะรวมถึงการผ่าตัดเพื่อเอาเซลล์มะเร็งและเนื้อเยื่อโดยรอบออก เพราะการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออกทั้งหมดทำให้การรักษาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยอัตราการมีชีวิตรอดหลังผ่าตัด 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 93 ตามสถิติของสมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society)

ระยะ 2 เป็นระยะที่มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ใหญ่ขึ้น และมีการขยายไปยังกล้ามเนื้อผนังลำไส้ แต่ยังไม่ไปถึงต่อมน้ำเหลือง

การรักษาจะใช้การผ่าตัดเอามะเร็งและเนื้อเยื่อโดยรอบออก ทั้งยังอาจจะมีการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ (Recurrence) ทั้งนี้เพราะการรักษาด้วยเคมีบำบัดในระยะนี้อาจได้ประโยชน์ไม่มากนัก นักวิทยาเนื้องอก (Oncologist) มีส่วนช่วยในการตัดสินใจว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดในระยะ 2 นี้จำเป็นหรือไม่ ทั้งนี้ อัตราการมีชีวิตรอดหลังผ่าตัด 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 78

แหล่งข้อมูล:

  1. Understanding Colon Cancer -- Diagnosis and Treatment. - http://www.webmd.com/colorectal-cancer/guide/understanding-colorectal-cancer-detection-and-treatment [2013, April 20].
  2. Colorectal Cancer Treatment by Stage. - http://www.webmd.com/colorectal-cancer/guide/treatment-stage [2013, April 20].