มะเร็งลำไส้ใหญ่ หายได้ถ้าพบเร็ว (ตอนที่ 2)

“มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ” (Colorectal cancer) เกิดจากการเซลล์บางตัวที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ (Colon) หรือลำไส้ตรง (Rectum) มีความผิดปกติและมีการเจริญเติบโตเป็นก้อนเนื้องอก (Tumor) ซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นมะเร็ง

มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เป็นสาเหตุของการตายอันดับที่ 3 ของชาวอเมริกันทั้งชายและหญิง ในระยะแรกมักจะไม่ปรากฏอาการอะไร แต่จะแสดงอาการออกเมื่ออยู่ในระยะที่มีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ รักษาได้ ถ้าตรวจพบในระยะแรก

มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มักเริ่มจากการเป็นติ่งเนื้อ (Polyp) แล้วพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง มีติ่งเนื้อ 2 ชนิดที่พบในลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงดังนี้

  • ติ่งเนื้อไฮเปอร์พลาสติค (Hyperplastic) และติ่งเนื้อชนิดเกิดจากการอักเสบ (Inflammatory polyps) โดยปกติติ่งเนื้อชนิดนี้จะไม่พัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดี ควรนำติ่งเนื้อไฮเปอร์พลาสติคโดยเฉพาะที่อยู่ทางด้านขวาของลำไส้ออก
  • ติ่งเนื้อชนิดอะดีโนมา (Adenoma หรือ Adenomatous polyp) ที่อยู่ทางด้านซ้าย อาจมีการพัฒนาไปเป็นมะเร็งลำไส้ได้

นอกจากนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง อาจพัฒนาจากบริเวณที่มีเซลล์ผิดปกติที่ลำไส้หรือส่วนปลายสุดของลำไส้ (Rectum) และมักพบได้ในคนที่มีการอักเสบในลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบโครห์น (Crohn's Disease) หรือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง หรือที่เรียกย่อๆ ว่า โรคยูซี (Ulcerative colitis : UC)

มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มักเกิดในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป (ประมาณร้อยละ 90) โดยมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหรือเป็นติ่งเนื้อ
  • มีการกินอาหารเนื้อสีแดง (Red meats) และเนื้อที่ผ่านกระบวนการ (Processed meats)
  • เป็นโรคที่มีการอักเสบในลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบโครห์น หรือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
  • เป็นโรคอ้วน (Obesity)
  • สูบบุหรี่
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • เป็นโรคเบาหวานชนิด 2 (Type 2 diabetes)

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ที่เป็นภาวะถ่ายทอดทางพันธุกรรมมี 2 ชนิด คือ

  • มะเร็งที่เกิดจากติ่งเนื้อมากๆ ในลำไส้ (Familial adenomatous polyposis : FAP) ภาวะนี้เป็นภาวะที่มีติ่งเนื้อนับเป็นพันๆ ติ่งในลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง โดยเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่าคนพวกนี้หากไม่ได้รับการรักษาติ่งเนื้อ จะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งก่อนอายุ 40 ปี
  • ภาวะถ่ายทอดมะเร็งลำไส้ง่ายแบบที่ไม่สัมพันธ์กับติ่งเนื้อ (Hereditary nonpolyposis colorectal cancer : HNPCC หรือที่เรียกว่า Lynch syndrome) เป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกแบบหนึ่ง โดยพบว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นมะเร็งช่วงก่อนอายุ 50 ปี
  • ทั้งนี้เราสามารถตรวจหาภาวะนี้ได้จากการทดสอบทางพันธุกรรม (Genetic testing)

แหล่งข้อมูล:

  1. What Is Colorectal Cancer?. - http://www.webmd.com/colorectal-cancer/guide/what-is-colorectal-cancer [2013, April 16].
  2. Causes. - http://www.mayoclinic.com/health/colon-cancer/DS00035/DSECTION=causes [2013, April 16].