มะเร็งลำไส้ใหญ่ หายได้ถ้าพบเร็ว (ตอนที่ 1)

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าประชากรโลกที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีๆ จนคาดว่า จะเพิ่มเป็น 9 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2559 และเพิ่มเป็น 11.4 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2573

โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรทั้งหญิงชายทั่วโลก ได้แก่ มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม สำหรับประเทศไทยก็พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งเช่นกัน โดยมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

โดยมีการประมาณกันว่า ในจำนวนประชากรผู้ชายไทย 100,000 คน มีคนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 10.9 คน ส่วนจำนวนประชากรผู้หญิงไทย 100,000 คน มีคนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 7.3 คน โดยจังหวัดที่พบมากที่สุด ก็คือ กรุงเทพมหา นครและจังหวัดใกล้เคียง ตามด้วยจังหวัดลำปาง เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น

พลโทรองศาตราจารย์นายแพทย์ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบลำไส้ใหญ่ ทวารหนักและมะเร็งวิทยา กล่าวว่า การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเกิดเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งก่อน โดยสารก่อมะเร็งในกากอาหารที่อยู่ภายในลำไส้ใหญ่ร่วมกับน้ำย่อย กรดน้ำดีและแบคทีเรีย สร้างความระคายเคืองต่อเยื่อบุลำไส้ใหญ่ จนแบ่งตัวผิดปกติที่เรียกว่า “การผ่าเหล่า” ซึ่งเมื่อขบวนการเล่านี้เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง เกิดติ่งเนื้อที่มีความผิดปกติซ้ำอีกเรื่อยๆ ก็จะเติบโตเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งในที่สุด

โดยปกติ ติ่งเนื้อขนาด 1 เซนติเมตร จะใช้เวลานาน 10 ปี ในการเปลี่ยนเป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงพบมะเร็งชนิดนี้ในคนที่อายุเฉลี่ย 63 ปี และมักพบในคนท้องผูก ซึ่งเยื่อลำไส้ใหญ่สัมผัสความระคายเคืองได้นานกว่าคนถ่ายปกติ หรือคนที่กินอาหารที่มีกากใยสูง

นพ.ปริญญา กล่าวอีกว่า โรคร้ายที่ระยะติ่งเนื้อนี้ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ ให้ปรากฏเลย ดังนั้นจึงแนะนำว่า ให้หญิงหรือชายที่มีอายุ 50 ปี ที่ไม่มีอาการใดๆ ควรทำการตรวจลำไส้ใหญ่ตลอดความยาว (Colonoscopy) ส่วนผู้ที่มีประวัติพ่อแม่พี่น้องโดยตรงเป็น ให้เริ่มตรวจที่อายุ 40 ปี

ลำไส้ใหญ่ (Colon) เป็นท่อกล้ามเนื้อยาว 6 ฟุต ซึ่งเชื่อมระหว่างลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ส่วนปลายสุด (Rectum) ลำไส้ใหญ่จะแยกน้ำออกจากอุจจาระ และเป็นที่รวมของก้อนอุจจาระ ลำไส้ใหญ่จะปลดปล่อยอุจจาระไปยังทวารหนักวันละ 1 - 2 ครั้ง

ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายสุด (Rectum) เป็นลำไส้ตรงยาว 8 นิ้ว เชื่อมระหว่างลำไส้ใหญ่และช่องทวารหนัก มีหน้าที่รับอุจจาระจากลำไส้ใหญ่เพื่อทำการถ่ายออกจากร่างกาย

มะเร็งที่เกิดในลำไส้ใหญ่เราเรียกว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) และมะเร็งที่เกิดในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายสุดเราเรียกว่า มะเร็งลำไส้ตรง (Rectal cancer) แต่ส่วนใหญ่เรามักเรียกรวมกันว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (Colorectal cancer)

แหล่งข้อมูล:

  1. มะเร็งลำไส้ใหญ่ เสี่ยง ! ทั้งหญิง-ชาย - http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/332932 [2013, April 15].
  2. What Is Colorectal Cancer?. - http://www.webmd.com/colorectal-cancer/guide/what-is-colorectal-cancer [2013, April 15].