มะเร็งระยะศูนย์ (Stage 0 cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่มีการรุกราน/ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ข้างเคียง เข้าต่อมน้ำ เหลืองที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนั้นยังสามารถแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต/กระแสเลือด และ /หรือระบบน้ำเหลือง ไปยังอวัยวะต่างๆ และ/หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากอวัยวะต้นกำเนิดมะเร็ง เช่น ปอด ตับ กระดูก และสมอง ซึ่งความรุนแรงของการรุกราน/ลุกลาม และ/หรือ แพร่กระจายนี้ เรียกว่า ระยะโรคมะเร็ง ซึ่งแพทย์ใช้เป็นตัวบอกการพยากรณ์โรค/ความรุน แรงของโรค รวมถึงวิธีรักษา

ระยะโรคมะเร็ง มักแบ่งเป็น 4 ระยะ จากความรุนแรงน้อยไปหามาก คือ ระยะที่ 1, 2, 3, และ 4 อย่างไรก็ตาม มะเร็งบางชนิด จะมีระยะโรคที่เซลล์เริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง เป็นโรคระยะที่ยังไม่จัดเป็นมะเร็ง เพราะเซลล์ยังไม่มีการรุกรานเข้าเนื้อเยื่อข้าง เคียง เรียกว่า เป็น Non-invasive carcinoma หรือ เป็นโรคมะเร็งระยะ 0 (ระยะศูนย์)

มะเร็งระยะ 0 คืออะไร? เกิดกับอวัยวะใดได้บ้าง?

มะเร็งระยะศูนย์

มะเร็งระยะ 0 (มะเร็งระยะศูนย์) เป็นระยะของโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อบุผิว ซึ่งเป็นมะเร็งในกลุ่มคาร์ซิโนมา (Carcinoma) ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยส่วนหนึ่งของมะเร็งคาร์ซิโนมา โรคมะเร็งจะเริ่มจากมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่มีการอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อต่างๆ (เช่น การติดเชื้อไว รัส เป็นต้น) ไปเป็นเซลล์ที่มีลักษณะเป็นเซลล์มะเร็ง (เช่น มีการแบ่งตัวผิดปกติ) แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) ออกนอกเนื้อเยื่อบุผิว ดังนั้นจึงยังไม่ใช่โรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคมะ เร็งที่แท้จริง จะต้องมีการรุกรานเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้ ซึ่งแพทย์เรียก เนื้อเยื่อที่เซลล์กลายเป็นเซลล์มะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน/ไม่ใช่มะเร็งที่แท้จริงนี้ว่า “โรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Pre invasive carcinoma หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า ซีไอเอส/CIS)” ดังนั้น ในการจัดระยะโรคมะเร็ง จึงจัดเนื้อเยื่อก่อนการเป็นมะเร็งนี้เป็น “โรคระยะศูนย์ (Stage 0)”

โรคระยะ 0 พบได้ในมะเร็งคาร์ซิโนมาของทุกอวัยวะทั่วร่างกาย โอกาสเกิดเท่ากันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย มักเป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ หรือในผู้สูงอายุ โดยอวัยวะที่มักมีโรคมะเร็งระยะ 0 คือ ปากมดลูก เต้านม ลำไส้ใหญ่ ผิวหนัง ช่องปาก กระเพาะปัสสาวะ และช่องคลอด

โรคมะเร็งระยะ 0 ของบางอวัยวะอาจมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น

  • ปากมดลูก อาจเรียกอีกชื่อว่า CIN III (Cervical intraepithelial neoplasia grade III)
  • ของเต้านมซึ่งมี 2 ชนิดย่อย อาจเรียกว่า DCIS (Ductal carcinoma in situ) และ LCIS (Lobular carcinoma in situ)
  • และของช่องคลอด อาจเรียกว่า VAIN (Vaginal intraepithelial neoplasia)

มะเร็งระยะ 0 มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งระยะ 0 เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเดียวกับสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่

  • การติดเชื้อเรื้อรังของอวัยวะนั้นๆ อาจจาก ไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง) และ/หรือการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
  • การสูบบุหรี่ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็งปอด และมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะ เร็งตับ และโรคมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ
  • การได้รับสารก่อมะเร็งเรื้อรัง
  • การขาดสารอาหารที่มีประโยชน์
  • อาจจากการบริโภคยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศ

มะเร็งระยะ 0 มีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไป มะเร็งระยะ 0 ไม่ก่ออาการ ตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง แต่บางครั้ง เป็นอาการจากแผลอักเสบเรื้อรัง เช่น ตกขาวในโรคปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง หรือ เจ็บ/แสบช่องปาก ในโรคช่องปากอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น หรือตรวจพบ มีฝ้าแดง หรือ มีฝ้าขาว หรือ มีก้อนเนื้อ เช่น โรคโพลิป หรือ ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่

ทั้งนี้ โรคมะเร็งระยะ 0 ที่มีการตรวจคัดกรองให้พบได้ คือ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะ เร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งระยะ 0 ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งระยะ 0 ได้ด้วยวิธีการเดียวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งทุกชนิด คือ จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง การตรวจภาพอวัยวะนั้นๆด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ แต่ที่ได้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากตำแหน่งที่เกิดโรคหรือที่รอยโรค เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ทั้งนี้ การตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นการตรวจวิธีเดียวที่ใช้แยกระหว่างโรคมะเร็งระยะ 0 กับโรคมะเร็งที่แท้จริง คือโรคมะเร็งระยะที่เซลล์มะเร็งมีการรุกรานเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงแล้ว

รักษามะเร็งระยะ 0 อย่างไร?

วิธีรักษาโรคมะเร็งระยะ 0 จะเช่นเดียวกับวิธีรักษาโรคมะเร็งทั่วไป คือ ผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด และ/หรือ ฮอร์โมน โดยจะใช้วิธีการใด ซึ่งอาจเป็นวิธีการเดียว หรือหลายวิธีร่วม กัน ขึ้นกับเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะใด แต่ทั้งนี้ขั้นตอนในการรักษาจะซับซ้อนน้อยกว่าการรักษาโรคมะเร็งระยะอื่นๆมาก เช่น การผ่าตัด มักเป็นการผ่าตัดออกเฉพาะรอยโรค ไม่จำเป็นต้องตัดออกทั้งอวัยวะ, หรือเมื่อเป็นการรักษาด้วย ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ตัวยาเคมีบำบัด และเทคนิคทางรังสีรักษาก็จะมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า และยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยารักษาตรงเป้า

มะเร็งระยะ 0 รุนแรงไหม?

โรคมะเร็งระยะ 0 มีโอกาสรักษาได้หายสูงมาก มักมีอัตรารอดที่ 5 ปี สูงตั้งแต่ 90% ขึ้นไป แต่ในบางครั้ง อาจพบโรคมะเร็งระยะ 0 ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองได้บ้าง ทั้งนี้เชื่อว่า น่าเกิดจากเป็นโรคมะเร็งระยะรุกรานตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่เราไม่สามารถวินิจฉัยในตอนแรกได้

การรักษามะเร็งระยะ 0 มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งระยะ 0 ขึ้นกับวิธีรักษา จึงเหมือนกับในการรักษาโรค มะเร็งทุกชนิด เพียงแต่โอกาสเกิดผลข้างเคียงจะน้อยกว่ามาก รวมทั้งความรุนแรงของผลข้าง เคียงก็จะต่ำกว่าด้วยเช่นกัน

  • การผ่าตัด ผลข้างเคียง เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจมีผลต่อความสวยงามได้บ้างในกรณีที่เป็นมะเร็งของอวัยวะที่เกี่ยวกับความสวยงาม เช่น เต้านม หรือ ช่องปาก เป็นต้น การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆที่ได้รับรังสีรักษา เช่น ต่อผิวหนัง เมื่อมีการฉายรังสีผ่านผิวหนัง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิว หนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) หรือผลข้างเคียงต่อเต้านมกรณีฉายรังสีโรคของเต้านม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ผลข้างเคียงและการดูแลในการฉายรังสีรักษาบริเวณเต้านม) เป็นต้น
  • ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียง คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด การติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และมีเลือดออกได้ง่ายจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ยาฮอร์โมน จะใช้เฉพาะกับเซลล์มะเร็งที่มีธรรมชาติของโรคตอบสนองต่อฮอร์โมนเท่า นั้น เช่น ในโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งโดยทั่วไปพบผลข้างเคียงจากยาฮอร์โมนมีน้อยมาก และมักเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม หรือในผู้ป่วยผู้หญิงที่ยังมีมดลูกอยู่ อาจมีเลือดออกกระปริดกระปรอยทางช่องคลอด แต่ออกครั้งละไม่มาก และยาฮอร์โมนบางชนิดอาจเพิ่มโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำได้ อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่กินยาฮอร์โมน ทามอกซิเฟน (Tamoxifen) มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ประมาณ 0.2%

ตรวจคัดกรองมะเร็งระยะ 0 ได้อย่างไร?

โรคมะเร็งชนิดที่สามารถมีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ ที่ทำให้พบโรคในระยะ 0 ได้ คือ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรค มะเร็งลำไส้ใหญ่)

ป้องกันมะเร็งระยะ 0 อย่างไร?

การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ รวมทั้งระยะ 0 ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย ทั้งนี้เพราะยังไม่สามารถทราบแน่นอนถึงสาเหตุที่ทำให้เกิด แต่สามารถลดโอกาสเกิดได้จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ โดย เฉพาะจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่ส่ำส่อนทางเพศ และ รู้จักใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์เสมอ
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกวัน จำกัดอาหารไขมัน แป้ง หวาน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ให้มากๆ ควบคุมปริมาณไม่ให้เกิดโรคอ้วน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าบริโภคอยู่ควรเลิกบริโภค

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง นอกจากการป้องกันปัจจัยเสี่ยงด้วยวิธีดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การป้องกัน คือ การพบแพทย์ เพื่อการตรวจสุขภาพประจำปี เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี ร่วมกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทั้ง 3 ชนิดตามคำแนะนำของแพทย์ คือ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

บรรณานุกรม

  1. Cancer staging http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/detection/staging[2014,Jan1].
  2. Carcinoma in situ http://en.wikipedia.org/wiki/Carcinoma_in_situ [2014,Jan1].
  3. Cervical intraepithelial hyperplasia http://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_intraepithelial_neoplasia [2014,Jan1].
  4. Epithelial dysplasia http://en.wikipedia.org/wiki/Epithelial_dysplasia [2014, Jan1].