มะเร็งปากมดลูก ถูกโฉลกกับหญิงมาก “กิ๊ก” (ตอนที่ 1)

ผลการสำรวจของผู้ผลิตถุงยางอนามัยดูเร็กซ์พบว่า ผู้ชายไทยนอกใจคนรักมากเป็นอันดับ 1 คือ ร้อยละ 54 ในขณะที่ผู้หญิงไทยนอกใจคนรักถึงร้อยละ 59 ติดอันดับ 2 ของโลกรองจากผู้หญิงประเทศไนจีเรีย

น.พ.ก้องศาสด์ ดีนิรันทร์ สูตินรีแพทย์ คลินิกเครือ ร.พ.กล้วยน้ำไท กล่าวว่า การมี “กิ๊ก” หลายคนของผู้หญิงและเกินเลยถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เพราะเพิ่มโอกาสของการติดเชื้อมากขึ้น โดยทั่วไปคนส่วนมากเข้าใจผิดคิดว่าถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกโรค แต่ความจริงแล้วไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงยังผลให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตด้วยโรคนี้เป็นอันดับ 1

มะเร็งปากมดลูกเป็นเนื้อร้ายที่เกิดจากเซลล์ของปากมดลูก อาการผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ มีเลือดออกทางช่องคลอด แต่ในบางกรณีก็อาจไม่พบอาการใดๆ ในเบื้องต้น แต่จะแสดงอาการออกเมื่อถึงขั้นรุนแรงแล้ว เช่น ไม่อยากอาหาร น้ำหนักตัวลดลง ปวดอุ้งเชิงกราน ปวดหลัง ปวดขา ขาบวม มีเลือดไหลออกทางช่องคลอดมาก กระดูกหัก และอาจมีอาการอุจจาระ/ปัสสาวะออกทางช่องคลอด

เชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV - Human Papilloma Virus) มีอยู่ 150-200 สายพันธุ์ แต่ชนิดที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีประมาณ 15 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก ที่เหลืออีกร้อยละ 30 เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่นๆ

การติดเชื้อเอชพีวี เป็นสาเหตุสำคัญในการเป็นมะเร็งปากมดลูก (90+%) ตามด้วยสาเหตุจากการสูบบุหรี่ แล้วยังมีสาเหตุอื่นอีกมากมายที่ทำให้เกิดโรคซึ่งรวมถึงเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV - Human Immunodeficiency Virus) ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน (หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกหลายคน) มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติ

ถุงยางอนามัย (Condom) สามารถป้องกันหูดที่อวัยวะเพศ (Genital wart) ซึ่งนำไปสู่มะเร็งปากมดลูก และป้องกันโรคติดต่อโดยเพศสัมพันธ์ (Sexually-Transmitted Disease: STD) อาทิ เอชไอวี แต่ไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเวลามีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสจะนำเชื้อเอชพีวีจากด้านนอกเข้าไปสู่บริเวณปากมดลูก ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีแผลถลอกบริเวณเยื่อบุภายใน

แม้ว่าการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยการทดสอบแพป (Papanicolaou test หรือที่เรียกว่า Pap smear) จะเป็นวิธีที่ได้ผลวิธีหนึ่ง แต่การวิเคราะห์เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริงจะตัองมีการตัดเนื้อเยื่อไปตรวจอีกครั้ง การทดสอบแพปทุก 3–5 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าร้อยละ 80

ผลการตรวจจะทำให้เห็นถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงในระยะที่เซลล์เริ่มมีการผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำการรักษาป้องกันได้ การตรวจมะเร็งปากมดลูกควรทำในระยะเวลา 3 ปีขึ้นไปหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรือเริ่มตรวจที่อายุ 21–25 ปี การตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปีหรือทุก 5 ปีขึ้นอยู่กับผลการตรวจว่าปกติหรือไม่ และในกรณีที่ปกติควรทำการตรวจไปจนถึงอายุ 60–70 ปี

การใช้วัคซีนเอชพีวีมี 2 ชนิด ได้แก่ Gardasil และ Cervarix สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 70 โดยใช้ฉีดในผู้หญิงที่อายุระหว่าง 9–26 ปี วัคซีนนี้จะให้ผลดีในผู้ที่ยังไม่เคยติดไวรัสเอชพีวี และจะสามารถป้องกันได้อย่างต่ำ 4–6 ปี

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือนผู้หญิงมี "กิ๊ก" เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1332476952 [2012, March 27].
  2. Cervical cancer. http://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_cancer [2012, March 27].