มะเร็งต่อมน้ำลาย (Salivary gland cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

มะเร็งต่อมน้ำลาย(Salivary gland cancer)คือโรคที่เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำลายที่ตำแหน่งใดก็ได้เกิดกลายพันธ์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง คือเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวเจริญเติบโตได้รวดเร็วผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จนในที่สุดเซลล์นี้จะเกิดเป็นก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งที่รุกราน/ลุกลามทำลายตัวต่อมน้ำลายเอง ลุกลามทำลายอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และในที่สุดจะแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองได้ทั่วร่างกาย รวมถึงแพร่กระจายทางกระแสเลือดเข้าทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

มะเร็งต่อมน้ำลาย เป็นมะเร็งพบน้อย ประมาณ 0.5%ของมะเร็งทั้งหมดทั่วร่างกาย แต่พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ มักพบในผู้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบมะเร็งต่อมน้ำลายทั้ง2เพศในช่วงปี ค.ศ 2009-2013, 1.7 รายต่อประชากรทั้งหมด 1 แสนคน ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเมื่อ ค.ศ 2015(ผู้ป่วยช่วงปี ค.ศ.2010-2012) พบมะเร็งต่อมน้ำลายในชายไทย 0.5รายต่อประชากรชายไทย1แสนคน, ในประชากรหญิงพบ 0.4รายต่อประชากรหญิง1แสนคน

อนึ่ง: ต่อมน้ำลาย (Salivary gland) มีหน้าที่หลักคือ สร้างน้ำลาย โดยต่อมน้ำลายแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ (Major salivary gland), และต่อมน้ำลายขนาดจิ๋ว (Minor salivary gland), ซึ่งในแต่ละวันต่อมน้ำลายทั้งหมดจะผลิตน้ำลายอยู่ในช่วงประมาณ 0.75 - 1.5 ลิตร

ก. ต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ (Major salivary gland): เป็นต่อมน้ำลายที่มีชื่อเรียกเฉพาะ มีทั้ง หมด 3 คู่ ซ้าย ขวา ได้แก่ ต่อมพาโรติด (Parotid gland), ต่อมใต้ขากรรไกร (Submandibular gland), และต่อมใต้ลิ้น (Sublingual gland)

  • ต่อมพาโรติด (Parotid gland) เป็นต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ที่สุดของต่อมน้ำลายทั้งหมด ขนาดประมาณ 4 x 4 เซนติเมตร (ซม.) น้ำหนักประมาณ 25-30 กรัม สร้างน้ำลายประมาณ 20 - 25% ของน้ำลายทั้งหมด เป็นต่อมน้ำลายอยู่หน้าต่อหูทั้งสองข้าง ซ้าย ขวา และเมื่อเกิดเป็นก้อนเนื้อ มักเป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง(ประมาณ 80%) เป็นมะเร็ง ประมาณ 20%
  • ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร หรือต่อมน้ำลายใต้กระดูกกราม(Submandibular gland) มีขนาดประมาณ 3 x 1 - 2 ซม. น้ำหนักประมาณ 15 กรัม สร้างน้ำลายประมาณ 65-75% ของน้ำลายทั้งหมด โดยมีท่อน้ำลายเปิดสู่ช่องปากในบริเวณใต้ลิ้น และเมื่อเกิดเป็นก้อนเนื้อ มักเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง (โรคมะเร็ง)
  • ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) เป็นต่อมน้ำลายที่มีขนาดเล็กกว่า ต่อมพาโรติดและต่อมใต้ขากรรไกร แต่มีขนาดไม่แน่นอน น้ำหนักประมาณ 3 กรัม สร้างน้ำลายประมาณ 5% ของปริมาณน้ำลายทั้งหมด และเมื่อเกิดเป็นเนื้องอก มักเป็นเนื้องอกมะเร็งเช่นกัน

ข. ต่อมน้ำลายขนาดจิ๋ว (Minor salivary gland): เป็นต่อมน้ำลายไม่มีชื่อเรียก มีขนาดเล็กประมาณ 1 - 2 มิลลิเมตร อยู่กระจัดกระจายทั่วไปในช่องปาก จากการศึกษาพบว่า อาจมีได้ถึง ประมาณ 600 - 1,000 ต่อม และสร้างน้ำลายทั้งหมดคิดเป็นประมาณ 2 - 5% เป็นต่อมน้ำลายที่ไม่ค่อยเกิดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ ยังมีเซลล์ของต่อมน้ำลายกระจัดกระจายอยู่ตามเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น โพรงจมูก ท่อลม หลอดลม และอวัยวะเพศ ซึ่งอาจเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำลายได้เช่นกัน ดังนั้นจึงพบมะเร็งต่อมน้ำลายเกิดกระจัดกระจายในอวัยวะต่างๆ ได้เกือบทุกอวัยวะนอกต่อมน้ำลายขนาดใหญ่และขนาดจิ๋วดังกล่าว แต่พบได้น้อยมากๆๆ ซึ่งทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งต่อมน้ำลาย’ จะหมายถึงมะเร็งของต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ทั้ง 3 คู่ และของต่อมน้ำลายขนาดจิ๋วที่กระจายอยู่ในช่องปากเท่านั้น

โรคมะเร็งต่อมน้ำลายมีกี่ชนิด?

มะเร็งต่อมน้ำลาย

มะเร็งต่อมน้ำลายมีหลากหลายชนิดเช่นเดียวกับมะเร็งของอวัยวะต่างๆ ทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และ กลุ่มมะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) แต่ชนิดพบบ่อย และเป็นเกือบทั้งหมดของมะเร็งต่อมน้ำลาย คือชนิด เกิดจากเยื่อเมือก/ เยื่อบุผิว ซึ่งคือ ชนิด ‘คาร์ซิโนมา’ ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อพูดถึง มะเร็งต่อมน้ำลาย จึงหมายถึง มะเร็งชนิดมะเร็งคาร์ซิโนมานี้ ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย

ทั้งนี้ มะเร็งต่อมน้ำลายชนิดคาร์ซิโนมาเอง ก็มีได้หลากหลายชนิดย่อยเช่นกัน เช่น Mucoepidermoid carcinoma(พบบ่อยกว่าชนิดอื่น) , Acinic cell carcinoma, Adenocystic carcinoma, Adenocarcinoma, Squamous cell carcinoma

โรคมะเร็งต่อมน้ำลายเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำลาย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงก็ยังไม่ชัดเจน มีเพียงบางการศึกษาพบว่า ปัจจัยเสี่ยง’อาจเกิดจาก’

  • การได้รับสารบางชนิดจากอาชีพบางอาชีพ เช่น ทำงานในอุตสาหกรรมยาง, ช่างไม้, ทำงานในอุตสาหกรรมแร่ใยหิน
  • ได้รับรังสีไอออนไนซ์/ Ionizing radiation (haamor.com/th/รังสีจากการตรวจโรค)ปริมาณสูง เนื่องจากพบโรคได้สูงขึ้นในคนญี่ปุ่นจากเมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิที่ได้รับรังสีชนิดนี้จากระเบิดปรมาณูเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

โรคมะเร็งต่อมน้ำลายมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย คือ

  • การมีก้อนเนื้อในต่อมน้ำลายซึ่งเป็นสาเหตุให้ต่อมน้ำลายโตจนมองเห็นและคลำได้ ซึ่งปกติเราจะมองไม่เห็นต่อมน้ำลาย และคลำได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้โดยไม่มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ร่วมด้วย และในระยะแรกก้อนเนื้อนี้มักไม่ก่ออะไร
  • แต่ต่อมาโดยก้อนเนื้อมักโตเร็ว ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้จนโรคลุกลาม โรคอาจลุกลามเข้า ต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเดียวกับต่อมน้ำลาย ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านนั้น โต คลำได้โดยมักไม่มีอาการเจ็บปวด
  • เมื่อโรคลุกลามเข้าเส้นประสาทใบหน้าที่อยู่ติดกับต่อมน้ำลาย ส่งผลให้เกิดใบหน้าด้านนั้นเบี้ยว และอาจมีอาการปวด/เจ็บก้อน หรือใบหน้าด้านนั้นตลอดเวลา

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำลายได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำลายได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ
  • การตรวจร่างกาย รวมถึง การตรวจคลำต่อมน้ำลาย และต่อมน้ำเหลืองลำคอ
  • การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจภาพต่อมน้ำลายด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ /ซีทีสแกน
    • การเจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา

อย่างไรก็ตาม ผลการวินิจฉัยที่แน่นอน จะได้จากการผ่าตัดต่อมน้ำลาย หลังจากนั้นจึงตรวจก้อนเนื้อจากการผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้แพทย์ไม่นิยมการตัดชิ้นเนื้อตรวจก่อนผ่าตัด เพราะการตัดชิ้นเนื้ออาจส่งผลให้เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าผิวหนังจากรอยแผลผ่าตัด และลุกลามเข้าสู่ผิวหนังของใบหน้าได้ นอกจากนั้น เมื่อมีเนื้องอกของต่อมน้ำลาย การรักษาคือการผ่าตัดต่อมน้ำลาย

อนึ่ง ภายหลังทราบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำลายแล้ว มักมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรคมะเร็ง และการตรวจเพื่อประเมินสุขภาพผู้ป่วย มักตรวจก่อนการผ่าตัด เช่น

  • ตรวจเลือดดู ค่าน้ำตาล(โรคเบาหวาน), ดูการทำงานของตับ ของไต และของไขกระดูก (ตรวจซีบีซี/CBC),
  • ตรวจปัสสาวะ (haamor.com/th/ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ/
  • การถ่ายภาพปอดด้วยเอกซเรย์ ซึ่งการตรวจเพื่อประเมินระยะโรค
  • ตรวจภาพต่อมน้ำลายร่วมกับต่อมน้ำเหลืองลำคอด้วยซีทีสแกนกรณียังไม่เคยมีการตรวจมาก่อน
  • ตรวจภาพตับด้วย อัลตราซาวด์ เพื่อดูการแพร่กระจายของโรค แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เพราะโรคมะเร็งต่อมน้ำลายพบแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) ได้น้อย และเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ปอดมากที่สุด

โรคมะเร็งต่อมน้ำลายมีกี่ระยะ?

การจัดระยะมะเร็งต่อมน้ำลาย นิยมจัดตามคำแนะนำขององค์กรด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา (American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) ปัจจุบันคือ AJCC 8th Edition โดยมะเร็งต่อมน้ำลายมี 4 ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งอื่นๆ ซึ่งแต่ระยะยัง แบ่งย่อยได้อีก ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เพื่อ ช่วยเลือกวิธีรักษา, ให้การพยากรณ์โรค, และเพื่อการศึกษา, ซึ่งทั้ง 4 ระยะหลัก คือ

  • ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมน้ำลาย และมีขนาดน้อยกว่า 2 ซม.
  • ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะในต่อมน้ำลาย แต่มีขนาดโตกว่า 2 ซม.และ ไม่เกิน 4 ซม.
  • ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 4 ซม., และ/หรือ เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเกิดโรค 1 ต่อม โดยต่อมฯมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.และเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามออกนอกเยื่อหุ้มต่อมน้ำเหลืองฯนั้น
  • ระยะที่ 4 แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ4A: ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เช่น เส้นประสาท, ผิวหนัง และกระดูกใบหน้า และอาจร่วมกับมีเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเกิดโรค 1 ต่อม ขนาดไม่เกิน 3 ซม.และยังไม่มีการลุกลามออกนอกเยื่อหุ้มต่อมน้ำเหลือง, หรือเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเกิดโรค มีขนาดโตกว่า 3 ซม.แต่ไม่เกิน6ซม., และ/หรือ ลุกลามเข้าหลายต่อมน้ำเหลืองฯหลายต่อมฯแต่ยังอยู่ข้างเดียวกับด้านเกิดโรค ขนาดต่อมฯต้องไม่เกิน 6 ซม., และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองทั้ง 2 ข้างของลำคอโดยต่อมฯต้องโตไม่เกิน 6ซม. ทั้งนี้ทุกต่อมน้ำเหลืองเซลล์มะเร็งต้องไม่ลุกลามออกนอกเยื่อหุ้มต่อมน้ำเหลือง
    • ระยะ4B: เซลล์มะเร็งลุกลามเข้ากระดูกฐานสมอง และ/หรือเข้าเนื้อเยื่อรอบเส้นเลือดแดงใหญ่ของลำคอ, และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอขนาดเกิน 6 ซม., และ/หรือ เซลล์มะเร็งลุกลามออกนอกเยื่อหุ้มต่อมน้ำเหลืองโดยไม่ขึ้นกับขนาด จำนวน และตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง
    • ระยะ4C : เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ, และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย ซึ่งมักแพร่กระจายสู่ปอดสูงสุด รองลงไป คือ กระดูก และตับ

อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์ (Stage 0)คือ ระยะที่เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะต่อมน้ำลาย และยังไม่มีการรุกราน/ลุกลามออกนอกเนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิว(Preinvasive cancer)ของต่อมน้ำลาย เรียกอีกชื่อว่า ’ ระยะ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS’ การรักษาโรคระยะนี้เป็นการผ่าตัดวิธีการเดียว และหลังรักษา อัตรารอดที่ห้าปีสูงมาก มักสูง90-95% อย่างไรก็ตามโรคระยะนี้พบน้อยมากๆๆ และโดยทั่วไป แพทย์โรคมะเร็งยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง(Invasive cancer)เพราะเซลล์มะเร็ง/โรคยังไม่มีการรุกราน/ลุกลาม

โรคมะเร็งต่อมน้ำลายรักษาอย่างไร?

การรักษาหลักของโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย เช่นเดียวกับมะเร็งทุกชนิด คือ การผ่าตัดได้แก่ การผ่าตัดต่อมน้ำลาย รวมทั้งอาจผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเกิดโรคออกด้วย

และเมื่อเป็นเซลล์มะเร็งชนิดรุนแรง และ/หรือโรคอยู่ในระยะลุกลาม มักรักษาต่อเนื่องด้วย การฉายรังสีรักษา, ส่วนยาเคมีบำบัดจะพิจารณารักษาผู้ป่วยเป็นรายๆไป ทั้งนี้เพราะเซลล์มะเร็งของต่อมน้ำลายค่อนข้างดื้อต่อยาเคมีบำบัด, ส่วนยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษา

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำลายอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งต่อมน้ำลาย ขึ้นกับวิธีรักษา นอกจากนั้น ผลข้าง เคียงจะสูงขึ้นอีกเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ผู้สูงอายุ

ซึ่งตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากวิธีรักษาต่างๆ เช่น

ก. การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ หรือเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทใบหน้าซึ่งอยู่ติดกับต่อมน้ำลาย เป็นสาเหตุให้ใบหน้าด้านนั้นเบี้ยวได้ ทั้งนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรือถาวรตลอดชีวิต และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ

ข. รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อช่องปาก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)

ค. ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้-อาเจียน ผมร่วง ภาวะ/โรคซีด การติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และมีเลือดออกได้ง่ายจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ง. ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งต่อมน้ำลายรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งต่อมน้ำลายเป็นโรคมีความรุนแรง/มีการพยากรณ์โรค รุนแรงระดับปานกลาง เป็นโรครักษาหายได้ แต่ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับ ระยะโรค, ชนิดเซลล์มะเร็ง, อายุ, และสุขภาพของผู้ป่วย

ทั่วไป ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของมะเร็งต่อมน้ำลายนอกจากขึ้นกับระยะโรคเป็นสำคัญแล้ว ยังขึ้นกับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Cell grading ย่อว่า G, โดย G0 คือเซลล์มะเร็งแบ่งตัวน้อย, G2 เซลล์มะเร็งแบ่งตัวปานกลาง, และ G3 เซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง) โดยความรุนแรงโรคจะสูงขึ้นเมื่อเซลล์มะเร็งมะเร็งแบ่งตัวสูงขึ้น ซึ่งทั่วไปมะเร็งต่อมน้ำลายจะมี2กลุ่ม คือ กลุ่มความรุนแรงโรคปานกลาง(ไม่มีความรุนแรงโรคต่ำ), และกลุ่มความรุนแรงโรคสูง

โรคมะเร็งต่อมน้ำลายชนิดความรุนแรงปานกลาง มักไม่ค่อยเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง หรือเข้าต่อมน้ำเหลือง ดังนั้นการรักษาโดยทั่ว ไปจึงมักใช้การผ่าตัดต่อมน้ำลายเพียงวิธีการเดียว

แต่ในโรคชนิดรุนแรงสูง หลังผ่าตัดแพทย์มักแนะนำการรักษาต่อเนื่องด้วย การฉายรังสีรักษาบริเวณต่อมน้ำลายนั้นๆซึ่งอาจรวมทั้งการฉายรังสีรักษาครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอด้านเดียวกับต่อมน้ำลายที่เกิดโรคด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของรังสีรักษาแพทย์

โดยทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปีตามระยะโรคนับจากที่วินิจฉัยโรคได้ คือ

  • โรคระยะที่ 1,2: ประมาณ 70 - 90%
  • โรคระยะที่ 3: ประมาณ 40-50%
  • โรคระยะที่ 4:
    • กลุ่มเมื่อโรคยังไม่แพร่กระจายเข้ากระแสเลือด จะประมาณ 20-30% และ
    • ระยะที่ 4 กลุ่มเมื่อโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดแล้ว ประมาณ 0 - 10%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมน้ำลายไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมน้ำลายให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคได้เร็วที่สุด คือเมื่อมีก้อน หรือมีต่อมน้ำลายโตผิดปกติ ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคได้แต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งต่อมน้ำลายอย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงแล้ว ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิด มะเร็งต่อมน้ำลาย ดังนั้นจึงต้องอาศัยการสังเกตตนเอง เมื่อพบมีก้อนเนื้อผิดปกติในตำแหน่งใดก็ตาม รวมทั้งที่ต่อมน้ำลาย ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

ดูแลตนเอง/ผู้ป่วยมะเร็งอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดจะคล้ายคลึงกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งรวมถึงในมะเร็งต่อมน้ำลายด้วย ทั้งนี้การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง/มะเร็งต่อมน้ำลายที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ไม่หยุดการรักษาต่างๆเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน เช่น การฉายรังสีรักษา, ยาเคมีบำบัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น มีไข้โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับท้องเสีย
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น, ท้องผูกต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

อนึ่ง: แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งรวมถึงมะเร็งต่อมน้ำลายจากบทความในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (haamor.com/th/การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง/ )
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (haamor.com/th/การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด/ )

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th.edition
  2. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: Boston: Jones and Bartlett Publishers.
  3. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia
  4. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand. Vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://www.cancer.org/cancer/salivary-gland-cancer/about/what-is-salivary-gland-cancer.html [2019,Aug17]
  6. https://www.cancer.gov/types/head-and-neck/hp/adult/salivary-gland-treatment-pdq [2019,Aug17]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Salivary_gland_tumour [2019,Aug17]
  8. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/ar.23569 [2019,Aug17]