มะเร็งของหนูน้อย (ตอนที่ 7)

มะเร็งของหนูน้อย

ปัญหาด้านสมอง – เด็กที่มีก้อนเนื้อในสมองหรือเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute lymphocytic leukemia = ALL) มักมีผลกระทบต่อสมอง เพราะใน 2-3 ขวบปีแรก สมองจะมีการเติบโตที่เร็ว ทำให้มีความไวต่อรังสี แพทย์จะพยายามเลี่ยงการใช้รังสีบำบัดบริเวณศีรษะ หรือชะลอการใช้รังสีบำบัดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเจริญเติบโตของสมอง

อย่างไรก็ดีแม้ในเด็กโตรังสีก็สามารถทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น ทำให้มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning disabilities = LD)

เคมีบำบัดที่ให้ผ่านหลอดเลือด (Intravenous หรือ IV chemo) หรือการฉีดยาที่ไขสันหลังโดยตรง (Intrathecal chemo) ก็สามารถทำให้เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้ได้ หากมีการให้ยาในปริมาณที่มากหรือให้ขณะที่เด็กยังอายุน้อย กล่าวคือ ความบกพร่องในการเรียนรู้มักเกิดในเด็กที่รักษาด้วยการให้เคมีบำบัดและรังสีบำบัดที่สมอง

นอกจากนี้อาจมีปัญหาเรื่องการชักกระตุก (Seizures) ปวดศีรษะบ่อย และปัญหาในการเรียนรู้ที่เรียกว่า การบกพร่องทางปัญญา (Cognitive impairments) ซึ่งได้แก่

  • ไอคิวต่ำ
  • ทำคะแนนสอบได้น้อย
  • มีปัญหาเรื่องความจำและสมาธิ
  • มีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างมือและตา
  • พัฒนาการช้า
  • มีปัญหาทางพฤติกรรม (Behavior problems)

ปัญหาด้านการมองเห็น (Eyesight) – มักเกิดกับเด็กที่เป็นมะเร็งจอประสาทตา (Retinoblastoma) เพราะบางครั้งการใช้รังสีรักษาที่บริเวณตาอาจทำให้เป็นต้อกระจก (Cataracts) หรือที่กระดูกบริเวณตาอาจทำให้กระดูกหน้าโตช้าลง ทำให้รูปหน้าเด็กเปลี่ยนไป

ผลข้างเคียงระยะยาวอื่นที่เกิดกับตาอาจได้แก่

  • ตาแห้ง (Dry eyes)
  • ตาแฉะ (Watery eyes)
  • เคืองตา (Eye irritation)
  • เยื่อหุ้มลูกตาสีขาวเปลี่ยนสี (Discolored sclera)
  • การมองเห็นไม่ดี (Poor vision)
  • ไวต่อแสง (Light sensitivity)
  • การมองเห็นตอนกลางคืนไม่ดี (Poor night vision)
  • มีก้อนเนื้อที่เปลือกตา (Tumors on the eyelid)
  • หนังตาตก (Drooping eyelid)

แหล่งข้อมูล

  1. Cancer in Children. http://www.cancer.org/cancer/cancerinchildren/ [2015, May 19].
  2. Signs of Childhood Cancer. http://www.ped-onc.org/diseases/SOCC.html [2015, May 19].