มะรุม (Moringa)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะรุม(Moringa)เป็นพืชในวงศ์ Moringaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moringa oleifera เป็นไม้โตเร็ว สามารถสูงได้ถึง 10–12 เมตร ชอบอากาศร้อนชื้น เปลือกแก่มีสีเทา เปลือกลำต้นอ่อนจะมีสีเขียวนวล มะรุมเป็นพืชที่พบได้ทุกภาคของประเทศไทย มีการเพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้านเช่น ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา เป็นต้น แต่ประเทศอินเดียมีการปลูกมะรุมเพื่อใช้เป็นอาหารและยาสมุนไพรมากที่สุดในโลก ส่วนของมะรุมที่ใช้บริโภค ได้แก่ ใบและฝักอ่อน สำหรับประเทศไทยมักจะคุ้นเคยกับสูตรตำรับอาหารแกงส้มมะรุมอยู่บ่อยๆ

ประโยชน์ของมะรุมมีอะไรบ้าง?

มะรุม

มะรุมถูกใช้เป็นพืชสมุนไพรนับเป็นเวลายาวนาน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2561 จากรายงานบันทึกประโยชน์ของมะรุมที่เขียนโดย Atli Arnarson นักศึกษาที่จบ ปริญญาเอกด้านโภชนาการ : Ph.D. in Nutrient ได้สรุปคุณประโยชน์ของมะรุมที่มี ต่อสุขภาพ ด้วยมะรุมเป็นพืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidants)เป็นปริมาณมาก รวมถึงสารอาหารอีกหลายตัว

ประโยชน์ของมะรุมที่ได้จากการศึกษางานวิจัยในต่างประเทศมีดังนี้

1. เป็นแหล่งของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ได้นำใบมะรุม 21 กรัม มาสกัดและตรวจพบองค์ประกอบดังนี้

ในแถบซีกโลกตะวันตกเขาจะขายใบมะรุมตากแห้งแบบผงเป็นอาหารเสริม หรือไม่ก็บรรจุในแคปซูล และมักนำมาใช้บำรุงร่างกายในผู้ที่ขาดสารอาหารประเภท วิตามิน เกลือแร่และโปรตีน อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรใช้มะรุมที่เป็นอาหารเสริมหรือยาสมุนไพรมาทดแทนการบริโภคอาหารประจำวัน แต่ควรใช้ในลักษณะการสนับสนุนเพิ่มเติมมากกว่า

2. เป็นที่ทราบกันดีว่าอนุมูลอิสระในร่างกายเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายประเภท เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคมะเร็ง มะรุมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างเช่น วิตามินซี วิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ เช่น

  • Quercetin เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้สูงมาก ช่วยให้ความดัน โลหิตของร่างกายลดลง
  • Chlorogenic acid เป็นกรดที่พบในพืชจำพวกกาแฟ แต่พบในมะรุมด้วยเช่นกัน กรดชนิดนี้จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ดีในระดับหนึ่ง

มีงานวิจัยทดลองให้อาสาสมัครสตรีรับประทานใบมะรุมที่บดเป็นผง 1.5 ช้อนชา (7 กรัม) ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนพบว่า ระดับสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการนำสารสกัดของมะรุมมาทำเป็นสารกันบูดช่วยป้องกันการเน่าเสียของเนื้อสัตว์อีกด้วย

3. มะรุมช่วยลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดโดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สารIsothiocyanates ซึ่งเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งในใบมะรุมมีคุณสมบัติดังกล่าว มีการทดลองกับอาสาสมัครสตรี 30 คนโดยให้รับประทานผงใบมะรุม 1.5 ช้อนชา (7 กรัม) ทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าน้ำตาลในเลือด(Fasting blood sugar) ลดลง 13.5%

4. ใบมะรุมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งคุณสมบัติด้านนี้คล้ายคลึงกับพืชผักผลไม้อีกหลายชนิดที่มีสรรพคุณต้านการอักเสบ เช่น Isothiocyanates และอนุพันธ์ของสารประกอบประเภทฟีโนลิก(Phenolic)

5. มะรุมช่วยลดไขมันในเลือด โดยมีการศึกษาและวิจัยให้มะรุมในสัตว์ทดลองที่มีระดับไขมันในเลือดสูง เปรียบเทียบกับยาลดไขมัน เช่น Lovastatin พบว่า อัตราส่วนการเพิ่มไขมันดีของ HDL สูงขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ผลสำเร็จของการใช้มะรุมที่จะเกิดกับมนุษย์หรือกับผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง

6. บรรเทาอาการหอบหืด จากการทดลองให้ผู้ป่วยรับประทานมะรุม 3 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นเป็นเวลา 3 สัปดาห์พบว่า อาการหอบหืดของผู้ป่วยลดความรุนแรงลงเป็นลำดับ

7. ใบมะรุมที่บดเป็นผง สามารถนำมาผลิตเป็นสบู่ฟอกมือก็ได้

ทั้งนี้ ยังมีการศึกษาการนำมะรุมมารักษา อาการโลหิตจาง ข้ออักเสบ มะเร็ง ลมชัก ท้องเสีย อาการปวดท้อง การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ใช้ต้านเชื้อโรคแบคทีเรีย- เชื้อรา -เชื้อไวรัส และเชื้อปรสิตต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนฤทธิ์ของการรักษาโรคในมนุษย์อีกมากมาย

นอกจากนี้การพัฒนามะรุมให้อยู่ในรูปของยาแผนปัจจุบัน โดยใช้สารสกัดก็ยังมีอุปสรรคในด้านความสม่ำเสมอของปริมาณสารสำคัญ รวมถึงพื้นที่ในการเพาะปลูก ตลอดจนควบคุมการเพาะปลูกมะรุมให้เป็นไปอย่างมาตรฐานก็นับว่าเป็นอุปสรรคอย่างมากทีเดียว

ผลข้างเคียงของมะรุมมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงของมะรุมมีดังนี้ เช่น

  • การบริโภค ใบ-ผล-เมล็ด ของมะรุม ในลักษณะอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งด้วย ความร้อน มักจะปลอดภัยและไม่ค่อยพบเห็นการก่อพิษแต่อย่างใด ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค รากของมะรุม หรือสารสกัดจากส่วนต่างๆของต้นมะรุม ซึ่งอาจทำให้เกิด พิษ เช่น ทำให้เป็นอัมพาตหรือแม้แต่เสียชีวิตในที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคมะรุมในสตรีตั้งครรภ์ ด้วยราก เปลือก และดอก ของมะรุม มีสารประกอบที่ทำให้มดลูกเกิดการหดตัวได้ ทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

บริโภคมะรุมอย่างไรดี?

เพื่อให้ปลอดภัย ควรบริโภคมะรุมดังนี้ เช่น

  • รับประทานแบบอาหารผักพื้นบ้านทั่วไป เช่น แกงมะรุม
  • รับประทานอาหารอย่างหลากหลาย(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน/ น้ำหนักตัวเกิน) ไม่ใช่บริโภคแต่มะรุมเป็นหลัก โดยเปลี่ยนเมนูอาหารในแต่ละวัน ไม่ต้องรับประทานแกงมะรุมซ้ำซากจำเจทุกวัน
  • รับประทานมะรุมแต่พอควรในมื้อเช้าช่วยให้พลังงาน รับประทานในมื้อเย็นช่วยให้นอนหลับ
  • ส่งเสริมให้ปลูกมะรุมไว้เป็นพืชผักภายในบ้าน และเลือกรับประทานมะรุมที่ไม่มี ยาฆ่าแมลงเจือปน
  • สามารถใช้มะนาวหรือน้ำผึ้งในการปรับรสชาติของมะรุม
  • ปรับอุปนิสัยการรับประทานเป็นไปในลักษณะ กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นพื้น
  • ถ้าจะรับประทานมะรุมเป็นแบบ อาหารเสริม/ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาสมุนไพร ยาแผนไทย/ยาแผนโบราณ ฯลฯที่นอกเหนือจากบริโภคแบบเป็นอาหาร ควรต้องปรึกษา แพทย์ เภสัชกร ก่อนเสมอ โดยเฉพาะในผู้มีโรคประจำตัว และ/หรือมีการใช้ยาแผนปัจจุบันชนิดต่างๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ใช้อยู่กับมะรุม

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthline.com/nutrition/6-benefits-of-moringa-oleifera [2018,July14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Moringa_oleifera [2018,July14]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4103706/ [2018,July14]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/12738086 [2018,July14]
  5. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1242/moringa [2018,July14]
  6. https://www.quora.com/Where-does-moringa-oleifera-grow-natively [2018,July14]
  7. https://www.africrops.com/moringa-oleifera/how-to-use-moringa/ [2018,July14]
  8. http://moringaleafextract.com/how-to-take-moringa-oleifera/ [2018,July14]