มดเอ๋ย มดลูก ! (ตอนที่ 5)

มดเอ๋ยมดลูก

กรณีที่มีการตัดรังไข่ทิ้งทั้ง 2 ข้าง ระหว่างการตัดมดลูก จะมีอาการวัยทองเกิดขึ้นทันทีทันใด เพราะระดับฮอร์โมนจะตกลงอย่างรวดเร็วเมื่อไม่มีรังไข่ และอาการจะรุนแรงกว่าอาการวัยทองที่เกิดตามธรรมชาติ

การตัดมดลูกทำได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพ ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ความปลอดภัยของผู้ป่วย ผลข้างเคียง และคำนึงถึงวิธีการที่บาดเจ็บน้อยที่สุดก่อนเสมอ โดยช่องทางในการทำการผ่าตัดมดลูก รวมถึง

  • การผ่าตัดทางหน้าท้อง (Abdominal hysterectomy) วิธีนี้มีการใช้กันประมาณร้อยละ 65 มดลูกที่ถูกตัดจะถูกนำออกทางช่องนี้ โดยมีรอยแผลประมาณ 5-7 นิ้ว และผู้ป่วยจะใช้เวลาประมาณมากกว่า 3 วัน ในการพักฟื้นที่โรงพยาบาล

    วิธีนี้เหมาะกับคนที่เป็นมะเร็ง อย่างมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) และคนที่เป็นเนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids) ขนาดใหญ่ เป็นโรคอ้วน หรือเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตรมาก่อน

    ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ ลดโอกาสที่ทางเดินท่อปัสสาวะและหลอดเลือดจะถูกทำลาย และสามารถแก้ไขเรื่องความหย่อนยานได้ในคราวเดียวกัน แต่มีข้อเสียคือจะเจ็บมากกว่า

  • การผ่าตัดทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy) แพทย์จะผ่าช่องคลอดและนำเอามดลูกออกทางช่องคลอด

    ข้อดีของวิธีนี้คือ เจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดทางหน้าท้องและการผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้อง จะใช้เวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยวันกว่า และไม่เห็นรอยแผลเป็น เหมาะกับคนที่ไม่ได้มีภาวะของการเป็นมะเร็ง เช่น กรณีกระบังลมหย่อน (Uterine prolapsed) เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial hyperplasia) หรือ มีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกไปในเชิงเป็นมะเร็ง (Cervical dysplasia)

  • การผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้อง (Laparoscopic hysterectomy) เป็นการเจาะช่องท้องเล็กๆ หลายจุดที่หน้าท้องเพื่อสอดเครื่องมือเข้าไป แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยดูผ่านจอโทรทัศน์

    ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ ใช้เวลาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลน้อยกว่า อย่างไรก็ดีเพื่อให้ได้ผลดีจากการใช้วิธีนี้ ความชำนาญของแพทย์ที่ทำการผ่าตัดถือว่าเป็นสิ่งสำคัญทีเดียว ส่วนข้อเสียก็คือ วิธีนี้อาจใช้เวลาในการผ่านานกว่า ค่าใช้จ่ายสูงกว่า และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการที่ทางเดินท่อปัสสาวะอาจจะถูกทำลาย

  • การผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย (Robot-assisted laparoscopic hysterectomy)

การพักฟื้นหลังการผ่าตัดต้องใช้เวลาพอสมควร แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการเคลื่อนไหวหลังการผ่าตัดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เดินไปห้องน้ำเอง ทั้งนี้ เพื่อลดอาการท้องผูกและการมีลมในท้อง ลดความเสี่ยงในการมีลิ่มเลือดและการติดเชื้อที่ปอด

แหล่งข้อมูล

1. Hysterectomy. http://www.webmd.com/women/guide/hysterectomy[2015, December 27].

2. Hysterectomy. http://www.medicinenet.com/hysterectomy/article.htm[2015, December 27].

3. Hysterectomy. http://www.womenshealth.gov/publications/our-publications/fact-sheet/hysterectomy.html[2015, December 27].

4. Hysterectomy fact sheet. http://www.womhealth.org.au/conditions-and-treatments/hysterectomy-fact-sheet [2015, December 27].