มดเอ๋ย มดลูก ! (ตอนที่ 4)

มดเอ๋ยมดลูก

ทางเลือกอื่นที่จะรักษาสุขภาพโดยที่ไม่ต้องทำการตัดมดลูกทิ้ง (ต่อ)

  • การรักษาเนื้องอกมดลูกโดยไม่ใช้การผ่าตัด ซึ่งรวมถึง การใช้หัตถการทางรังสีร่วมรักษา ที่เรียกว่า Uterine artery embolization (UAE) หรือ ด้วยวิธีใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอเป็นตัวชี้รอยโรคเพื่อเพิ่มความแม่นยำ และใช้คลื่นอัลตราซาวด์ความแรงสูงเป็นตัวยิงทำลายเนื้องอก (Magnetic resonance (MR)-guided focused ultrasound = MR[f]US) ซึ่งโดยหลังการใช้วิธีเหล่านี้จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก

    [UAE เป็นวิธีการอุดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก ซึ่งมักจะเป็นเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูก (Uterine arteries) เมื่อไม่มีอาหารไปเลี้ยง ก้อนเนื้องอกก็จะหดตัวและตาย ส่วน MR[f]US เป็นการส่งคลื่นอัลตราซาวด์ไปยังก้อนเนื้องอกทำให้ก้อนเนื้อร้อนและหดตัว]

การผ่าตัดมดลูกสามารถทำได้หลายวิธี คือ

  • Total hysterectomy - เป็นการตัดทั้งมดลูก (Uterus) และปากมดลูก (Cervix) ออก ส่วนรังไข่ (Ovaries) และท่อนำไข่ (Fallopian tubes) อาจทำการตัดออกหรือไม่ตัดออกก็ได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมที่สุด
  • Subtotal / supracervical hysterectomy - เป็นการตัดเฉพาะส่วนบนของมดลูกออก แต่ยังคงเหลือปากมดลูกไว้ ส่วนรังไข่อาจจะตัดทิ้งหรือไม่ก็ได้
  • Radical hysterectomy - เป็นการตัดทั้งหมดออก กล่าวคือ ทั้งมดลูก ปากมดลูก เนื้อเยื่อทั้ง 2 ข้างของปากมดลูก และส่วนบนของช่องคลอด วิธีนี้ใช้มากในการรักษาโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปากมดลูก ส่วนรังไข่และท่อนำไข่อาจตัดทิ้งหรือไม่ก็ได้

ระหว่างการตัดมดลูก แพทย์อาจตัดรังไข่ทิ้งด้วยเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ ทั้งนี้ ผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือนอาจมีปัญหาเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เป็นโรคหัวใจและโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้

อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยระยะหลังจะแนะนำว่า ให้ตัดแต่ท่อนำไข่ โดยเก็บรังไข่ไว้ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งรังไข่ ซึ่งเชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นที่ท่อนำไข่

ผู้หญิงที่ตัดมดลูกทุกคนจะไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก การจะมีภาวะวัยทอง (Menopause) หลังการตัดมดลูกหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าแพทย์ได้ตัดเอารังไข่ออกด้วยหรือไม่ หากไม่มีการตัดรังไข่ออกก็จะไม่เกิดอาการวัยทองทันทีทันใด แต่อาจจะมีอาการเร็วกว่าปกติของคนทั่วไป

เพราะเมื่อมดลูกถูกตัดออกแล้ว แม้จะไม่มีประจำเดือน แต่รังไข่ยังคงทำการสร้างฮอร์โมน อย่างไรก็ดีอาจมีอาการของวัยทองบ้าง เช่น ร้อนวูบวาบ ทั้งนี้เพราะการผ่าตัดไปปิดช่องทางของเลือดที่ไหลไปยังรังไข่ ซึ่งทำให้รังไข่ไม่สามารถปล่อยเอสโตรเจนออกมาได้

แหล่งข้อมูล

1. Hysterectomy. http://www.womenshealth.gov/publications/our-publications/fact-sheet/hysterectomy.html[2015, December 26].