มดเอ๋ย มดลูก ! (ตอนที่ 2)

มดเอ๋ยมดลูก

การตัดมดลูกมีความเสี่ยง เพราะทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ หรืออวัยวะส่วนอื่นในบริเวณใกล้เคียงอาจได้รับการกระทบกระเทือนจากการผ่าตัดมดลูก ซึ่งอาจต้องทำการผ่าตัดซ่อมอีก อย่างไรก็ดีก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงไม่มาก ผู้หญิงส่วนน้อยที่มีอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ อาการ

  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence)
  • ช่องคลอดทะลัก (Vaginal prolapsed)
  • เกิดฝี (Fistula formation) ระหว่างช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะ
  • ปวดเรื้อรัง
  • เจ็บแผล
  • ติดเชื้อ
  • เกล็ดเลือดจับตัวเป็นก้อน (Blood clots) ทำให้ปอดมีปัญหา
  • ตกเลือด (Hemorrhage)

การตัดมดลูกจะทำเมื่อเกิดกรณี

  • มีเนื้องอกในมดลูก (Uterine fibroids) ที่ไม่ได้เป็นเนื้อร้าย แต่อาจทำให้ผู้หญิงบางคนปวดหรือมีเลือดออกมาก
  • มีเลือดออกมากหรือผิดปกติทางช่องคลอด (Heavy or unusual vaginal bleeding) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน การติดเชื้อ การเป็นมะเร็ง หรือมีเนื้องอก จนทำให้เลือดออกมากเป็นระยะเวลานาน
  • กระบังลมหย่อน (Uterine prolapsed) ซึ่งเป็นภาวะที่มดลูกเลื่อนต่่าลงมาในช่องคลอด มักเกิดจากการคลอดบุตรหลายๆ คน หรือผ่านการคลอดบุตรโดยหมอตำแย แล้วช่องคลอดเกิดฉีกขาดและไม่ได้รับการเย็บรักษา การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่เยาว์วัย หรือช่องคลอดผ่านการใช้งานมาก การเป็นโรคอ้วน ซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับปัสสาวะและลำไส้ และมีความดันที่ท้องน้อย (Pelvic pressure)
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงระหว่างการมีประจำเดือน โดยมีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการไหลย้อนกลับของเลือดประจำเดือนจากโพรงมดลูกผ่านท่อนำไข่เข้าไปยังอุ้งเชิงกราน ซึ่งเลือดประจำเดือนเหล่านี้จะมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่

    แต่เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลุกเจริญผิดที่เหล่านี้ เป็นเนื้อเยื่อที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผลิตจากรังไข่ ดังนั้นเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน อาการต่างๆ จะลดน้อยลงจนหายไป เพราะไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่มาเลี้ยง

  • เนื้องอกแอดดิโนไมโอซิส (Adenomyosis) เป็นภาวะที่มีการฝังตัวของเยื่อบุมดลูกในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก หรือเยื่อบุมดลูกเจริญเข้าไปในผนังมดลูก ทำให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดและเลือดออกมาก
  • เป็นมะเร็งหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งที่มดลูก (Uterus) รังไข่ (Ovary) ปากมดลูก (Cervix) หรือ เยื่อบุมดลูก (Endometrium)

แหล่งข้อมูล

1. Hysterectomy. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002915.htm [2015, December 24].

2. Hysterectomy. http://www.webmd.com/women/guide/hysterectomy[2015, December 24].

3. Hysterectomy. http://www.womenshealth.gov/publications/our-publications/fact-sheet/hysterectomy.html[2015, December 24].

4. Abdominal hysterectomy. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/abdominal-hysterectomy/basics/definition/prc-20020767[2015, December 24].