ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง (Intraventricular hematoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ เป็นภาวะที่อันตรายมาก โดยเฉพาะในภาวะเลือดออกในโพรงสมอง (Intraventricular hematoma หรือ Intraventricular hemorrhage: IVH) ที่มีอันตรายมาก เราต้องทราบภาวะนี้ให้ดีว่า มีอาการผิดปกติอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด ควรติด ตามจากบทความนี้ครับ

ภาวะเลือดออกในโพรงสมองคืออะไร?

ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง

ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง คือ ภาวะที่มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ในเนื้อสมองส่วนที่เป็นโพรงสมอง (Ventricle) ซึ่งปกติเป็นที่อยู่ของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebro spinal fluid: CSF) โดยเลือดที่ออกในโพรงสมองนั้น อาจเกิดจากเลือดที่ออกโดยตรงในโพรงสมอง/เลือดออกในโพรงสมองปฐมภูมิ (Primary intraventricular hemorrhage) หรือเกิดจากเลือดออกภายในเนื้อสมองก่อน แล้วแตกทะลุเข้าสู่โพรงสมอง/เลือดออกในโพรงสมองทุติยภูมิ(Secondary intraventricular hemorrhage) ซึ่งทั้ง 2 กรณี จะส่งผลให้การไหลเวียนของ CSF ถูกอุดกั้น ส่งผลเกิดความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น (Increased intracranial pressure: ICP) จึงมีอาการผิดปกติต่างๆทางระบบประสาท

ภาวะเลือดออกในโพรงสมองพบประมาณร้อยละ 2-3% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายพบได้ใกล้เคียงกัน

ภาวะเลือดออกในโพรงสมองมีสาเหตุจากอะไร?

ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง มีสาเหตุพบบ่อยได้จาก

  • ภาวะเลือดออกในโพรงสมองปฐมภูมิ ที่มีเลือดออกภายในโพรงสมองตั้งแต่แรก ซึ่งมักเกิดจากการกระทบกระเทือนรุนแรงต่อโพรงสมองโดยตรง เช่น อุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ, จากหลอดเลือดในโพรงสมองผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม, หรือ จากเนื้องอกของเนื้อเยื่อในโพรงสมองที่เรียกว่าคอลลอยด์เพล็กซัส (Choroid plexus: เป็นเนื้อเยื่อมีหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง)

    ทั้งนี้พบภาวะเลือดออกในโพรงสมองปฐมภูมิได้ประมาณ 30% ของเลือดออกในโพรงสมองทั้งหมด

  • ภาวะเลือดออกในโพรงสมองทุติยภูมิ พบได้ประมาณ 70% ของเลือดออกในโพรงสมองทั้งหมด เกิดจากการแตกของหลอดเลือดในเนื้อสมองก่อน แล้วเลือดจึงทะลุเข้าไปในโพรงสมอง เช่น เลือดออกในเนื้อสมองจากโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี หรือ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง แล้วไหลเข้าสู่โพรงสมองในภายหลัง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกในโพรงสมอง?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกในโพรงสมอง ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีเลือดออกในเนื้อสมองในปริมาณมาก ที่ก่อให้เกิดก้อนเลือดขนาดใหญ่ และ/หรือเกิดเลือดออกอยู่ในเนื้อสมองส่วนลึกที่อยู่ใกล้กับโพรงสมอง

ภาวะเลือดออกในโพรงสมองมีอาการอย่างไร?

อาการของภาวะเลือดออกในโพรงสมอง คือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนทันที ตาพร่ามัว ซึ่งก็คืออาการของความดันในกะโหลกศีรษะที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และบางรายอาจ ชัก ซึมลง หมดสติ โคม่า และเสียชีวิต (ตาย) ในที่สุด

นอกจากนี้ อาการยังขึ้นกับมีเลือดออกในเนื้อสมอง หรือ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ด้วยหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง และเรื่อง ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง)

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง จึงควรนำส่งโรงพยาบาลทันทีตั้งแต่มีอาการ ไม่แนะนำให้สังเกตอาการดูแลที่บ้านโดยเด็ดขาด

*****หมายเหตุ โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดออกในโพรงสมองอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดออกในโพรงสมอง โดยใช้ข้อมูลจากประวัติอาการผิดปกติ ประ วัติทางการแพทย์ต่างๆ (เช่น โรคประจำตัว การกินยาต่างๆ) การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ร่วมกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

รักษาภาวะเลือดออกในโพรงสมองอย่างไร?

การรักษาภาวะเลือดออกในโพรงสมองเบื้องต้นสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยจะมีอาการรุน แรง มักจะหมดสติ แพทย์จะต้องดูแลเรื่องการหายใจและสัญญาณชีพ อาจต้องใส่ท่อช่วยหาย ใจ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ต่อมาจึงพิจารณาการผ่าตัดว่า จะนำเลือดออกมาจากโพรงสมองหรือเนื้อสมองอย่างไร หรือเพียงระบายเลือดออกจากโพรงสมองเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติและอาการของผู้ป่วย และอาจพิจารณาให้ยากันชัก เพื่อป้องกันการชักร่วมด้วย

ภาวะเลือดออกในโพรงสมองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ส่วนใหญ่การพยากรณ์โรค (ผลการรักษา) ภาวะเลือดออกในโพรงสมองจะได้ผลไม่ดี ผู้ป่วยมักจะอยู่ในสภาพอัมพาตนอนติดเตียง (Bed ridden) หรือไม่ก็เสียชีวิต (ตาย) อย่างรวด เร็วหลังเกิดอาการ

ภาวะเลือดออกในโพรงสมองมีผลแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากภาวะเลือดออกในโพรงสมองที่พบได้ คือ ความพิการ/อัมพาตรุนแรง/สภาพผัก, การติดเชื้อจากที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพผัก เช่น แผลกดทับ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ข้อยึดติด ชัก และเสียชีวิต (ตาย)

ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างไร?

ผู้ป่วยมักต้องได้รับการดูแลจากญาติหรือผู้ดูแล เพราะจะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จึงต้องเป็นหน้าที่ของญาติหรือผู้ดูแล ต้องดูแลเรื่องการให้อาหารและสารน้ำที่เพียงพอ ที่มักจะเป็นทางสายให้อาหารทางจมูกหรือทางหน้าท้อง (แพทย์ พยาบาล และโภชนากร จะเป็นผู้แนะนำ ), การพลิกตัวบ่อยๆ เพื่อป้องกันและ/หรือเมื่อมีแผลกดทับ, ดูแลการหายใจให้ดี, ให้ผู้ป่วยได้ รับยาตามแพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา, และพบแพทย์ตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยภาวะเลือดออกในโพรงสมอง ควรพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ไข้สูง ชัก แผลกดทับ เสมหะเขียวข้น (การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ), ปัสสาวะขุ่น (การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) และ/หรือซึมลง

ป้องกันภาวะเลือดออกในโพรงสมองได้ไหม?

ภาวะเลือดออกในโพรงสมองนี้

  • ถ้าเป็นชนิดปฐมภูมิ ก็ไม่สามารถป้องกันได้
  • แต่ถ้าเป็นชนิดทุติยภูมิที่เกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมองในส่วนลึก และมีการแตกเข้าสู่โพรงสมองภายหลังนั้น สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมความดันโลหิตสูงให้ได้ดี, ถ้าทานยาละลายลิ่มเลือด ก็ต้องควบคุมระดับยาไม่ให้เกินขนาด ตามคำแนะนำของแพทย์, และการระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ