ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรค/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion) คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการมีน้ำ/ของเหลวเข้าไปสะสมอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอดมากผิดปกติ จึงก่อให้เกิดอาการต่างๆขึ้น เช่น ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ถ้าอาการมากจะนอนราบไม่ได้

เยื่อหุ้มปอด (Pleura) คือเนื้อเยื่อบางๆ ที่ห่อหุ้มเนื้อเยื่อปอดทั้งหมด โดยมีหน้าที่ปกป้องปอด เยื่อหุ้มปอดจะมี 2 ชั้น ระหว่างชั้นทั้งสองจะเป็นโพรงหรือเป็นช่อง เรียกว่า โพรงเยื่อหุ้มปอด หรือช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural cavity) ซึ่งในโพรงนี้มีของเหลวในปริมาณเล็กน้อยประ มาณ 0.1 - 0.2 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัวของคนๆนั้น 1 กิโลกรัมที่หล่อลื่นเยื่อหุ้มปอดทั้ง 2 ชั้น ไม่ให้เสียดสีกัน และเนื่องจากความดันในโพรงเยื่อหุ้มปอดนี้เป็นสุญญากาศ (Vacuum) ดังนั้นโพรงเยื่อหุ้มปอดจึงยังเป็นตัวช่วยการขยายตัวของปอดในการหายใจเข้า-ออกอีกด้วย

โรค/ภาวะมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดเป็นภาวะผิดปกติที่พบได้บ่อย สถิติจากประเทศที่พัฒนาแล้ว พบภาวะนี้ได้ประมาณ 320 รายต่อประชากร 1 แสนคน เป็นภาวะที่พบได้ในทั้งสองเพศ บางสาเหตุจะพบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย เช่น สาเหตุจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง บางสาเหตุพบในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง เช่น สาเหตุจากโรคมะเร็งปอด ทั้งนี้พบภาวะนี้ได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ สูงอายุ

โรค/ภาวะมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด อาจเกิดกับปอดเพียงด้านเดียว (โอกาสเกิดในด้านซ้ายและด้านขวาใกล้เคียงกัน) หรือเกิดกับปอดทั้ง 2 ข้างก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ

ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดเกิดได้อย่างไร?

ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด

ปริมาณน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดจะถูกควบคุมด้วย 2 กลไกสำคัญ คือ

  • จากความดันในหลอดเลือดของเยื่อหุ้มปอดทั้ง 2 ชั้นซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำ/ของเหลวซึมผ่านผนังหลอดเลือดเข้าสู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด
  • และจากการดูดซึมน้ำ/ของเหลวของระบบน้ำเหลืองกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำของเยื่อหุ้มปอดและเข้าสู่ร่างกาย ตามลำดับ

ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ต้องอยู่ในสมดุล ปริมาณน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดจึงจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้ามีการเสียสมดุลของปัจจัยทั้ง 2 นี้ด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม เช่น มีน้ำ/ของเหลวซึมผ่านหลอดเลือดเยื่อหุ้มปอดมากขึ้น หรือระบบน้ำเหลืองไม่สามารถดูดซึมน้ำ/ของเหลวกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำ/ร่างกายได้ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด

โดยทั่วไป การจะมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่จะตรวจพบได้จากการถ่ายภาพปอดด้วยเอกซเรย์เทคนิคเฉพาะ คือ

  • ถ่ายภาพในท่านอนตะแคงด้านที่สงสัยมีความผิดปกติ (Lateral decubitus) ปริมาณน้ำ/ของเหลวในโพรงฯต้องมีปริมาณตั้งแต่ 50 มิลลิลิตรขึ้นไป

ทั้งนี้การถ่ายภาพเอกซเรย์เทคนิคปกติ (ถ่ายในท่ายืน) จะสามารถตรวจได้ว่ามีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด มักจะต้องมีปริมาณน้ำอย่างน้อยประมาณ 200 - 300 มิลลิลิตรขึ้นไป ซึ่งเป็นปริมาณที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มเกิดอาการผิดปกติด้วย เช่น เหนื่อยง่ายขึ้นเมื่อต้องออกแรง เป็นต้น

น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดมีกี่ชนิด?

น้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดมี 2 ชนิด คือ ชนิดเป็นสิ่งซึมเยิ้มใส (Transudate) และชนิดเป็นสิ่งซึมเยิ้มข้น (Exudate)

ก. น้ำ/ของเหลวชนิดสิ่งซึมเยิ้มใส (Transudate): เป็นน้ำ/ของเหลวที่เกิดจากการซึมรั่วของน้ำ/ของเหลวในหลอดเลือดของเยื่อหุ้มปอด โดยเฉพาะจากหลอดเลือดฝอยซึมเข้าสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด โดยเกิดจากมีความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น โดยไม่ได้เกิดจากมีพยาธิสภาพของผนังหลอดเลือดแต่อย่างไร

น้ำ/ของเหลวชนิดนี้จะมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

  • ใส สีขาว หรือ ออกเหลืองเล็กน้อย
  • มีความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity: คือ อัตราส่วนระหว่างความหนาแน่นของมวลสารใดๆต่อความหนาแน่นของน้ำในปริมาตรที่เท่ากัน เป็นค่าที่ไม่มีหน่วย ใช้เป็นค่าบอกความเข็มข้นของสารละลายต่างๆ) อยู่ในช่วงประมาณน้อยกว่า 1.012
  • มีสารโปรตีนเป็นส่วนประกอบน้อยกว่า 25 กรัม/ลิตร
  • มีอัตราส่วนของสาร LDH (Lactate dehydrogenase: เอนไซม์ (Enzyme) ชนิดหนึ่งที่เกิดเมื่อมีการบาดเจ็บของเซลล์/เนื้อเยื่อต่างๆ) เมื่อเทียบกับสาร LDH ในเลือดน้อยกว่า 0.6
  • และมีค่าไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) น้อยกว่า 45 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ข. น้ำ/ของเหลวชนิดสิ่งซึมเยิ้มข้น (Exudate): จะเกิดจากการมีพยาธิสภาพที่ผนังของหลอดเลือดของเยื่อหุ้มปอด โดยเฉพาะผนังหลอดเลือดฝอย ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดยอมให้น้ำ/ของเหลวในหลอดเลือดไหลซึมออกจากหลอดเลือดเข้าสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด เช่น การอักเสบติดเชื้อ หรือการอักเสบโดยไม่ติดเชื้อของเยื่อหุ้มปอด หรืออาจเกิดจากมีการอุดตันของระบบน้ำเหลืองของเยื่อหุ้มปอด จึงส่งผลให้เกิดน้ำ/ของเหลวสะสมในโพรงเยื่อหุ้มปอด

ลักษณะของน้ำ/ของเหลวชนิดสิ่งซึมเยิ้มข้น คือ จะขุ่น และมีสีได้ต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุที่เกิดกับเยื่อหุ้มปอด เช่น

  • เป็นน้ำขุ่นออกเหลือง เมื่อเกิดจากการอักเสบไม่ติดเชื้อ
  • เป็นหนองเมื่อเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ
  • เป็นสีขาวข้นของน้ำเหลืองที่มีไขมันปน (Chyle) เมื่อเกิดจากท่อน้ำเหลืองช่องอกอุดตัน
  • หรือเป็นเลือดเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง หรือจากมีอุบัติเหตุรุนแรงต่อปอด น้ำ/ของเหลวชนิดนี้จะ
  • มีค่าความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1.020
  • มีสารโปรตีนมากกว่า 35 กรัม/ลิตร
  • มีอัตราส่วนของ LDH เมื่อเทียบกับ LDH ในเลือดมากกกว่า 0.6
  • และมีค่าไขมันคอเลสเตอรอลมากกว่า 45 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

อนึ่ง ในน้ำ/ในของเหลวทั้ง 2 ชนิด นอกจากมีสารต่างๆดังกล่าวแล้ว ยังตรวจพบสิ่งอื่นๆได้อีก เช่น

  • เซลล์ชนิดต่างๆตามพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับเยื่อหุ้มปอด (เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อ, เซลล์มะเร็ง)
  • เชื้อโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุของการอักเสบติดเชื้อ (เช่น เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา)
  • และสารชนิดอื่นๆ (เช่น น้ำตาลกลูโคลส (Glucose) เอนไซม์ และสารมะเร็ง/Tumor marker ชนิดต่างๆตามแต่ละชนิดของมะเร็ง)

ภาวะมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรค/ภาวะมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจาก

ก. สาเหตุการเกิดน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดชนิดสิ่งซึมเยิ้มใส: ได้แก่

  • สาเหตุที่พบบ่อย เช่น
    • ภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากการล้มเหลวของหัวใจห้องล่างซ้าย
    • โรคตับเรื้อรัง เช่น โรคตับแข็ง โดยเฉพาะระยะที่ส่งผลให้มีโปรตีนในเลือดต่ำ
    • โรคปอด ที่ส่งผลให้เกิดภาวะปอดแฟบไม่ขยายตัว เช่น จากโรคมะเร็งปอด
    • การล้างไตผ่านทางช่องท้อง
  • โรค/สาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อย เช่น
    • โรคมะเร็งปอด พบได้ประมาณ 5% ของมะเร็งปอด ที่เหลือจะเป็นน้ำ/ของเหลวชนิดสิ่งซึมเยิ้มข้น
    • โรคลิ้นหัวใจตีบที่เกิดกับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องซ้ายบนและห้องซ้ายล่าง (Mitral stenosis)
    • โรคเยื่อหุ้มหัวใจหรือถุงหุ้มหัวใจอักเสบชนิดที่ก่อให้เกิดการบีบรัดหัวใจ (Constrictive pericarditis)
    • หัวใจล้มเหลวจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างรุนแรง

ข. สาเหตุการเกิดน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดชนิดสิ่งซึมเยิ้มข้น: ได้แก่

  • โรค/สาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น
    • จากโรคมะเร็งของปอดเอง
    • จากโรคมะเร็งชนิดอื่นๆแล้วแพร่กระจายสู่ปอดและ/หรือสู่เยื่อหุ้มปอด เช่น จาก โรคมะเร็งเต้านม เป็นต้น
    • โรคปอดบวมติดเชื้อ โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย
    • วัณโรคปอด
    • โรคจากมีการอุดกั้นของหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism) จากสาเหตุต่างๆ เช่น จากลิ่มเลือด โดยเฉพาะเมื่ออุดกั้นจนปอดขาดเลือด จนเนื้อเยื่อปอดตาย (Infarction)
  • โรค/สาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อย เช่น
    • จากโรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) โรคข้อรูมาตอยด์ เป็นต้น
    • โรคตับอ่อนอักเสบชนิดที่รุนแรง
    • การแพ้ยาต่างๆ (Drug adverse reaction) ที่รุนแรง เช่น แพ้ยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นต้น
    • มีการทะลุของหลอดอาหาร เช่น จากการดื่มน้ำกรด
    • จากมีการอุดกั้นทางเดินน้ำเหลืองของเยื่อหุ้มปอด เช่น จากโรคมะเร็ง
    • จากปอดหรือเยื่อหุ้มปอดติดเชื้อรา
    • จากท่อน้ำเหลือง หรือหลอดเลือดในปอดได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอาการอย่างไร?

อาการของผู้ป่วยที่มีโรค/ภาวะมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด จะมีได้ 2 ลักษณะ คือ อาการที่เกิดตามสาเหตุ และอาการที่เกิดจากการมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด

ก. อาการที่เกิดตามสาเหตุ: จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ตามแต่ละสาเหตุ เช่น

  • บวมเท้าร่วมกับหัวใจเต้นเร็ว เต้นอ่อน เหนื่อยง่าย เมื่อเกิดจากโรคหัวใจ
  • มีผื่นขึ้นในผู้ป่วยโรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • มีก้อนเนื้อในเต้านมเมื่อเกิดจากโรคมะเร็งเต้านม
  • หรือมีตัว ตาเหลือง เมื่อเกิดร่วมกับโรคตับแข็ง
  • หรือมีไข้ ไอ มีเสมหะ เมื่อเกิดจากปอดบวม เป็นต้น

ข. อาการจากการมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด: โดยอาการจะเหมือนกันในผู้ป่วยทุกรายไม่ว่าจะเกิดจากน้ำ/ของเหลวชนิดใด โดยเป็นอาการที่เกิดจากน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดกดเบียดทับเนื้อเยื่อปอดให้แฟบลง ปอดจึงขาดเนื้อที่ในการแลกเปลี่ยนออก ซิเจนในอากาศกับคาร์บอนไดออกไซด์ในหลอดเลือด ซึ่งอาการที่พบบ่อย คือ

  • แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ด้านมีน้ำ/ของเหลว
  • หายใจลำบาก/หายใจเหนื่อยหอบ หายใจเร็วผิดปกติ
  • นอนราบแล้วหายใจไม่ได้ ต้องนั่ง หรือนอนเอนตัว
  • ไอเรื้อรัง จากน้ำ/ของเหลวก่อการระคายต่อเนื้อเยื่อปอด
  • สะอึก เพราะน้ำ/ของเหลวก่อการระคายต่อประสาทกระบังลม
  • ในผู้ป่วยที่มีน้ำ/ของเหลวไม่มาก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ แพทย์ตรวจพบโดยบัง เอิญจากเอกซเรย์ภาพปอดจากตรวจโรคอื่นๆ เช่น จากการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรค/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และหาสาเหตุการเกิดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์จากผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจฟังเสียงหายใจด้วยหูฟัง (ซึ่งจะลดลง หรือหายไปขึ้นกับปริมาณน้ำ/ของเหลว)
  • การถ่ายภาพปอดด้วย เอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • การตรวจเสมหะและ/หรือการเพาะเชื้อจากเสมหะเพื่อดูการติดเชื้อ
  • การตรวจเสมหะทางเซลล์วิทยา (การตรวจทางเซลล์วิทยา) เพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
  • การเจาะดูดน้ำ/ของเหลวจากโพรงเยื่อหุ้มปอด เพื่อการตรวจหาสารต่างๆ (เช่น สารมะเร็ง สารก่อการอักเสบ) หาเชื้อโรค และ/หรือเซลล์มะเร็ง
  • และอาจร่วมกับการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมทั้งนี้ขึ้นกับ ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscope)
    • และ/หรือการเจาะ/ดูดเซลล์จากเยื่อหุ้มปอด และ/หรือจากก้อนเนื้อในหลอดลม และ/หรือในปอดเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
    • และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อจากเยื่อหุ้มปอด และ/หรือก้อนเนื้อในหลอดลม และ/หรือในปอดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดอย่างไร?

วิธีรักษาโรค/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ได้แก่ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประ คองตามอาการ ซึ่งการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการมักเป็นการรักษาในโรงพยาบาล

ก. การรักษาตามสาเหตุ: จะแตกต่างกันออกไปขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อน้ำ/ของเหลวเกิดจากปอดอักเสบ หรือปอดบวมจากติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การให้ยาต้านไวรัสเมื่อน้ำ/ของเหลวเกิดจากปอดอักเสบ ปวดบวม จากติดเชื้อไวรัส
  • การรักษาควบคุมโรคออโตอิมูนเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคนี้
  • หรือการรักษาโรคมะเร็งปอด อาจด้วยการให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งปอด เป็นต้น

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: ที่สำคัญ คือ

  • การเจาะ/ดูดน้ำ/ของเหลวออกจากโพรงเยื่อหุ้มปอด เพื่อลดการกดเบียดทับเนื้อเยื่อปอด เพื่อให้เนื้อเยื่อปอดกลับมาขยายตัวได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติ ลดอาการเหนื่อยหอบจากภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งการเจาะ/ดูดน้ำ/ของเหลวออกจากโพรงฯนี้ อาจทำเป็นครั้งคราวตามอาการผู้ป่วย
  • แต่บางครั้งถ้าปริมาณน้ำ/ของเหลวกลับเกิดซ้ำรวดเร็วมาก
    • แพทย์อาจใส่ท่อเชื่อมระหว่างโพรงเยื่อหุ้มปอดและขวดเก็บน้ำ/ของเหลวภายนอกร่างกาย เพื่อระบายให้น้ำ/ของเหลวไหลออกมาได้ตลอดเวลา
    • หรือบางครั้งอาจใส่ยาบางชนิดเข้าในโพรงเยื่อหุ้มปอด เพื่อให้เกิดการปิดตันของโพรงนี้ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำ/ของเหลวขึ้นมาใหม่อีก
  • ทั้งนี้การจะเลือกใช้วิธีใดรักษา ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น
    • สาเหตุของการเกิดน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด
    • ปริมาณน้ำ/ของเหลวในโพรงฯ
    • อัตราการเกิดน้ำ/ของเหลวในโพรงฯ
    • ผลลัพธ์ที่ได้จากการรักษาสาเหตุ
    • อายุ และ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
    • และดุลพินิจของแพทย์
  • นอกจากนี้ คือการรักษาประคับประคองตามอาการอื่นๆ เช่น
    • งดการออกแรง
    • การให้ออกซิเจน
    • การให้สารน้ำ/อาหารทางหลอดเลือดดำ
    • การให้ยาบรรเทาอาการไอ /ยาแก้ไอ
    • ยาละลายเสมหะ
    • และการให้ยาคลายความกังวล (คลายเครียด) เป็นต้น

*อนึ่ง ในผู้ป่วยที่ตรวจพบภาวะมีน้ำ/ของเหลวในเยื่อหุ้มปอด ‘โดยไม่มีอาการ’ แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกโดย

  • การรักษาสาเหตุ โดยไม่มีการเจาะดูดน้ำ/ของเหลวออก เพราะน้ำ/ของเหลวจะหายไปได้เองเมื่อรักษาควบคุมสาเหตุได้
  • และร่วมกับการให้ยารักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาขับเสมหะ เป็นต้น

ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โรค/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด จัดเป็นภาวะที่มีความรุนแรง/มีการพยากรณ์โรครุนแรง แต่ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ

  • สาเหตุ
  • ผลลัพธ์จากการรักษาสาเหตุ
  • พยาธิสภาพของเนื้อเยื่อปอดและหัวใจก่อนการเกิดภาวะนี้
  • อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

ทั้งนี้ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภายหลังการรักษาจนดีขึ้นแล้ว ภาวะนี้อาจย้อนกลับเป็นได้อีก ถ้ายังไม่สามารถรักษาควบคุมสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้

อนึ่ง: ในส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากภาว/โรคนี้ ที่สำคัญ คือ

  • ภาวะหายใจล้มเหลว จนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการเหนื่อยมากขึ้นผิดปกติโดยเฉพาะเมื่อมีการออกแรง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และได้รับการรักษาในโรง พยาบาลจนแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว การดูแลตนเองและการพบแพทย์ ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์เสมอตามนัด
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น หอบเหนื่อยมากขึ้น
    • และ/หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ไอเป็นเลือด บวมตัว มือ เท้า
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูก/ท้องเสียมาก ขึ้นผื่น
    • และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดอย่างไร?

การป้องกันโรค/ภาวะมีน้ำ/ของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด คือการป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ซึ่งบางสาเหตุป้องกันได้ บางสาเหตุป้องกันไม่ได้

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ที่สำคัญ ได้แก่

  • ปอดติดเชื้อ (ปอดอักเสบ ปอดบวม)
  • โรคหัวใจ (โรคที่มักเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง)
  • โรคตับแข็ง (มักมีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ)
  • และการแพ้ยา/ อาการไม่พึงประสงค์จากยา

*ดังนั้น สรุป: การป้องกันภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ที่สำคัญก็คือ

  • การป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุ/เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้นั่นเอง

บรรณานุกรม

  1. Light.R. (2002). Pleural effusion. N Engl J Med. 346, 1971-1977.
  2. McGrath, E. (2011). Diagnosis of pleural effusion: a systemic approach. AJCC.20,119-128.
  3. Rahman,N. et al. (2004). Pleural effusion: a structured approach to care.British Medical Bulletin. 72, 31-47.
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Pleural_cavity [2019,Aug3]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Pleural_effusion [2019,Aug3]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Lactate_dehydrogenase [2019,Aug3]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/299959-overview#showall [2019,Aug3]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Specific_gravity [2019,Aug3]