ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetence หรือ Cervical insufficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทคืออะไร?

ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท หรือ ปากมดลูกหลวม หรือ ปากมดลูกเปิดง่าย หรือ ปากมดลูกไร้สมรรถภาพ หรือ คอมดลูกไร้สมรรถภาพ หรือ ปากมดลูกไม่แข็งแรง (Cervical incompetence หรือ Cervical insufficiency) หมาย ถึงการที่รูปากมดลูก (Cervical os) ไม่สามารถปิดหรือเข้ามาแนบชิดกันจนสามารถพยุงให้การตั้ง ครรภ์ดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ทำให้เกิดการแท้งตามมาโดยที่ไม่มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมด ลูก

สาเหตุที่ทำให้ปากมดลูกปิดไม่สนิทคืออะไร?

ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท

สาเหตุที่ทำให้ปากมดลูกปิดไม่สนิทคือ

1. ความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูกและ/หรือปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกและรูปากมดลูกผิด ปกติไปด้วย

2. การฉีกขาดของปากมดลูกจากการคลอด หรือจากการทำหัตถการช่วยคลอดต่างๆ (เช่น การช่วยการช่วยคลอดด้วยคีม/Forceps delivery) จึงทำให้ปากมดลูกไม่สามารถปิดสนิทได้ดัง เดิม

3. การผ่าตัดที่ปากมดลูก เช่น การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยในกรณีที่มีเซลล์ปากมดลูกผิด ปกติที่ตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Cold knife conization)

4. การติดเชื้อที่ปากมดลูก (ปากมดลูกอักเสบ) และ/หรือการติดเชื้อที่โพรงมดลูก(เยื่อบุมดลูกอักเสบ)

5. ความดันในโพรงมดลูกสูง ทำให้มดลูกขยายตัวมากเกินไป ส่งผลทำให้รูปากมดลูกขยายออก เช่น การตั้งครรภ์แฝด หรือมีภาวะแฝดน้ำ/ภาวะน้ำคร่ำมาก (Hydramnios)

6. ไม่ทราบสาเหตุ

ผลกระทบของปากมดลูกปิดไม่สนิทมีอะไรบ้าง?

ผลกระทบ (ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน) จากปากมดลูกปิดไม่สนิทที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เกิดการแท้งบุตรหรือการคลอดก่อนกำหนด เพราะปากมดลูกปิดไม่สนิท ไม่แน่นพอ เมื่อการตั้งครรภ์โตมากขึ้น จะขยายและดันปากมดลูกให้เปิดมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่สามารถพยุงถุงการตั้ง ครรภ์ไปจนถึงอายุครรภ์ที่ควรคลอดไว้ได้

นอกจากนั้น ที่อาจพบได้คือ สามารถทำให้เพิ่มโอกาสติดเชื้อในโพรงมดลูกหรือในอุ้งเชิงกรานได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ตั้งครรภ์ยากขึ้น (แต่ทำให้เกิดการแท้งได้ง่ายเมื่อตั้งครรภ์)

อนึ่ง ปากมดลูกปิดไม่สนิท ไม่มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์

ใครที่มีความเสี่ยงเกิดปากมดลูกปิดไม่สนิท?

ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดปากมดลูกปิดไม่สนิท ได้แก่

1. สตรีที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูกและ/หรือของปากมดลูก

2. สตรีที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณปากมดลูก เช่น การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยในกรณีที่มีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติที่ตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Cold knife conization)

3. สตรีที่ได้รับการขูดมดลูกหลายๆครั้ง เช่น กรณีเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด

4. สตรีที่มีการฉีกขาดของปากมดลูกจาการคลอดหลายครั้ง จึงทำให้ปากมดลูกผิดรูปไป ไม่สามารถปิดได้สนิทเหมือนเดิม

5. สตรีที่ตั้งครรภ์แฝดหรือมีภาวะแฝดน้ำ/ภาวะน้ำคร่ำมาก

อาการภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทมีอะไรบ้าง?

อาการที่อาจพบได้ของภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทคือ

1. หากไม่ได้ตั้งครรภ์ ส่วนมากไม่มีอาการ

2. สตรีบางคน (ทั้งที่ตั้งครรภหรือไม่ได้ตั้งครรภ) จะมีอาการปวดหน่วงๆ ท้องน้อย ปวดหลัง

3. มีการแท้งบุตรซ้ำๆ (ภาวะแท้งซ้ำ) โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์

4. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด

5. การคลอดก่อนกำหนดในสตรีบางรายสามารถตั้งครรภ์จนเกินช่วงเวลาแท้งไปแล้ว แต่ก็ประสบปัญหากับการคลอดก่อนกำหนดตามมา

ดูแลตนเองอย่างไรหากมีปากมดลูกปิดไม่สนิท?

หากไม่ต้องการตั้งครรภ์ ไม่มีการดูแลตนเองเป็นพิเศษ แต่หากเกิดการตั้งครรภ์ ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์และฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อแพทย์จะพิจารณาเย็บผูกปากมดลูกก่อนที่จะเกิดการแท้งบุตร

แพทย์วินิจฉัยภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทได้โดย

ก. ประวัติทางการแพทย์: สตรีที่มีปัญหาปากมดลูกปิดไม่สนิทจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องที่มีการแท้งซ้ำซากหรือแท้งเป็นอาจิณ (Recurrent pregnancy loss) โดยเฉพาะในช่วงไตร มาสที่ 2 คือ ประมาณ 4 - 5 เดือน และอายุครรภ์แท้งจะลดลงเรื่อยๆ หมายถึง แท้งเร็วขึ้น จะมีประ วัติแท้งออกโดยไม่มีอาการเจ็บครรภ์/หรือมดลูกหดรัดตัวมาก นอกจากนี้ สามารถพบภาวะนี้ได้ในสตรีที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ได้

ข. การตรวจร่างกาย: การตรวจร่างกายทั่วไปจะไม่พบการผิดปกติ

ค. การตรวจภายใน: จะตรวจพบพบ

  • ถุงการตั้งครรภ์โป่งออกมาทางปากมดลูก
  • รูปากมดลูกเปิดโดยที่ไม่มีการเจ็บครรภ์คลอด แพทย์สามารถใส่นิ้วเข้าไปในรูปากมดลูกได้ตาม ปกติในเวลาที่ไม่มีการเจ็บครรภ์คลอด
  • ปากมดลูกของสตรีจะมีการปิดแน่นในระดับหนึ่ง แพทย์ไม่สามารถใส่นิ้วเข้าไปในรูปากมดลูกได้
  • ปากมดลูกสั้นกว่าปกติ
  • มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิดร่วมด้วย เช่น มีปากมดลูก 2 อันหรือมีมดลูก 2 มดลูก และ/หรือ มีช่องคลอด 2 ช่องคลอด

ง. ตรวจอัลตราซาวด์: การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (เช่นการตรวจเลิอด) ไม่สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้ และการตรวจอัลตราซาวด์มดลูก ก็มักไม่สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้ชัดเจน แต่มัก พบว่าในช่วงระหว่างตั้งครรภ์จะมีปากมดลูกสั้นกว่าปกติ

จ. ตรวจทางรังสีวิทยา: จะทำการตรวจในช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยการฉีดสารทึบแสงเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วถ่ายภาพรังสีเพื่อค้นหาความผิดปกติของโพรงมดลูกและท่อนำไข่ (Hysterosalpingography) ซึ่งจะพบรูปากมดลูกกว้างกว่าปกติ

อนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตรวจใดที่จะทำการวินิจฉัยภาวะนี้ได้แม่นยำที่สุด ดังนั้นการวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน

แพทย์รักษาภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทอย่างไร?

การรักษาภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท มีจุดประสงค์คือ ทำให้ปากมดลูกปิดจนพยุงให้สามารถ ตั้งครรภ์ต่อไปจนอายุครรภ์ครบกำหนดคลอด (อายุครรภ์อย่างน้อย 37 สัปดาห์ขึ้นไป) ดังนั้น จึงต้องรักษาโดยการผ่าตัดเย็บปากมดลูกให้แน่น (Cervical cerclage) ส่วนมากหากแพทย์วินิจฉัยได้แล้ว จะนัดสตรีตั้งครรภ์มาเย็บปากมดลูกช่วงอายุครรภ์ ประมาณ 14 - 16 สัปดาห์ และเมื่ออายุครรภ์ใกล้ครบกำหนดคลอด จะมีการนัดมาตัดปมไหมที่ผูกปากมดลูกไว้ ซึ่งหากสตรีมีอาการเจ็บครรภ์ก่อนก็ต้องรีบมาโรงพยาบาลให้แพทย์ตัดปมไหมที่ผูกออก เพื่อให้สามารถคลอดบุตรออกมาได้ และในครรภ์ต่อไปก็ต้องกลับมาเย็บปากมดลูกครั้งใหม่ซ้ำอีก

หลังเย็บปากมดลูกแล้วควรดูแลตนเองอย่างไร?

การเย็บปากมดลูกขณะตั้งครรภ์นั้นต้องกระทำในโรงพยาบาล แพทย์จะมีการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังและทำการเย็บผูกปากมดลูกไว้ และให้นอนพักในโรงพยาบาล 1 - 2 วัน จากนั้นจะให้กลับไปพักผ่อนต่อที่บ้าน

การดูแลตนเองที่บ้านคือ การปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ และไม่ควรทำงานหนักมาก เกินไป

การเย็บปากมดลูกไม่ได้เป็นข้อห้ามของการมีเพศสัมพันธ์ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีเพศ สัมพันธ์ แต่ในกรณีที่มีเจ็บครรภ์ แพทย์จึงแนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3

หลังการเย็บปากมดลูก แพทย์ผู้ดูแลการฝากครรภ์จะนัดดูแลผู้ป่วยตามปกติ หากมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น เจ็บครรภ์ถี่ มีตกขาว มีไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

การเย็บปากมดลูกมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการเย็บปากมดลูกได้แก่

1. ถุงน้ำคร่ำอาจฉีกขาดทำให้อาจคลอดบุตรก่อนกำหนด หรือมีการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ

2. เกิดการแท้งบุตร

3. เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

4. ตกขาว/ติดเชื้อที่ปากมดลูกหรือช่องคลอด เนื่องจากมีเส้นไหมที่ใช้เย็บปากมดลูกที่เป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ในปากมดลูก/ช่องคลอด จึงมีโอกาสอักเสบติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ

5. ปากมดลูกหรือตัวมดลูกแตกฉีกขาด (Rupture) ในช่วงคลอดบุตร หากตัดไหมที่เย็บไม่ทัน

6. แผลเย็บมีเลือดออก ทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

การเย็บปากมดลูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคหรือผลสำเร็จของการเย็บปากมดลูกคือ สตรีตั้งครรภ์นั้นมีโอกาสตั้งครรภ์จนอายุครรภ์ครบกำหนดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หากเปรียบเทียบกับการไม่เย็บปากมดลูก แต่อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดก็มีได้จากผลการทำหัตถการนี้เอง (จากผลแทรกซ้อนดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ภาวะแทรกซ้อนจากการเย็บปากมดลูก) หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นที่สตรีตั้ง ครรภ์มีอยู่แล้ว (เช่น โรคประจำตัวต่างๆ) ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นการเย็บปากมดลูกโดยแพทย์มีการเตรียมการล่วงหน้ามาก่อน มีรายงานผลสำเร็จของการเย็บปากมดลูกที่ทำให้เกิดการคลอดครบกำหนดสูงถึงประมาณ 80% แต่ถ้าเป็นการเย็บปากมดลูกอย่างฉุกเฉิน (เช่น กรณีผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อปากมดลูกเปิดกว้างมากแล้ว ) ผลสำเร็จจากการรักษาวิธีนี้จะประมาณ 30 - 60 %

เมื่อไหร่จึงควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไป?

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปหลังเย็บปากมดลูกและได้คลอดบุตรแล้ว ไม่มีข้อห้ามว่าควรตั้ง ครรภ์ครั้งใหม่เมื่อใด แต่โดยทั่วไปควรเว้นช่วงไปประมาณ 1 - 2 ปี เพื่อให้มีโอกาสเลี้ยงบุตรให้ได้เต็มที่ก่อน

ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทสามารถกลับเป็นปกติได้หรือไม่?

ส่วนมากของภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่ในกรณีที่ไม่ต้อง การตั้งครรภ์ต่อไปแล้วมักไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีการรักษาเป็นกรณีพิเศษ แต่หากต้องการตั้งครรภ์ แพทย์จะนัดมาเย็บปากมดลูกเมื่อตั้งครรภ์ผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว

ป้องกันภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถป้องกัน(แต่ป้องกันไม่ได้เต็มร้อย) การแท้งหรือการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ โดยการฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ, การเย็บปากมดลูกตามคำแนะนำของแพทย์, รักษาไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไปในช่วงตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์, การปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด, พบแพทย์สม่ำเสมอตรงตามนัด, และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อเริ่มมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/1979914-overview [2017,Dec16]
  2. https://www.uptodate.com/contents/cervical-insufficiency [2017,Dec16]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_cerclage [2017,Dec16]
Updated 2017,Dec9