ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว (Cerebrospinal fluid leak)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid: CSF/ซีเอสเอฟ) มีหน้าที่พยุงเนื้อสมอง/สมอง และลดแรงสะเทือนต่อสมอง ให้อยู่ในกะโหลกศีรษะอย่างปลอดภัย มิฉะนั้นสมองจะได้รับอันตรายจากแรงกระแทกและการเคลื่อนไหวได้ง่าย จากที่สมองอยู่ภายในกะ โหลกศีรษะที่แข็ง

ปกติแล้ว CSF จะไหลหมุนเวียนอยู่ในโพรงสมอง, รอบๆสมอง, และรอบๆไขสันหลัง แต่ในบางกรณีก็มีเหตุให้ CSF มีการรั่วออกมานอกระบบการไหลเวียนดังกล่าว ที่เรียกว่า “ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว (Cerebrospinal fluid leak หรือ CSF leak)” ซึ่งการรั่วของ CSF ออกมาภายนอกวงจรการไหลเวียนปกตินั้นเกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร และส่งผลเสีย อันตรายเพียงใด ต้องศึกษาจากบทความนี้ครับ

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วคืออะไร?

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว คือภาวะที่กระดูกของกะโหลกศีรษะมีรูรั่วเกิด ขึ้น ทำให้ CSF รั่วไหลออกมาบริเวณรูหูและรูจมูก ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่มีรูรั่วของกะโหลกศีรษะ

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย และยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงสถิติการเกิดภาวะนี้

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. จากอุบัติเหตุ (Traumatic) และ 2. จากสาเหตุที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ (Non-traumatic) ที่บางครั้งเกิด ขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ (Spontaneous)

  1. กลุ่มสาเหตุจากอุบัติเหตุพบได้ 80-90% ของภาวะรั่วของ CSF สาเหตุหลักจากการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ แล้วทำให้มีกระดูกกะโหลกศีรษะแตกหักจนเกิดรอยรั่วขึ้น หรืออีกสา เหตุหนึ่ง คือ การผ่าตัดรักษาโรคต่างๆของแพทย์ในบริเวณโพรงไซนัส, ฐานกะโหลกศีรษะ, และ/หรือกระดูกบริเวณใบหน้าเช่น จากโรคมะเร็งที่เกิดในตำแหน่งเหล่านั้น
  2. กลุ่มไม่ใช่อุบัติเหตุ เช่น จากมะเร็งสมอง, มะเร็งบริเวณฐานสมอง, หูน้ำหนวกเรื้อ รัง, วัณโรคของเนื้อเยื่อรอบๆสมอง, ซึ่งโรคต่างๆเหล่านั้นจะค่อยๆกัดกร่อนกระดูกที่ฐานกะ โหลก ทำให้กระดูกกะโหลกศีรษะแตกทะลุมีรูรั่วเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ตำแหน่งที่พบบ่อยที่กะโหลกมีรูทะลุ คือ บริเวณฐานกะโหลกศีรษะส่วนหน้า (Anterior cranial fossa floor) โดยมีการทะลุ เกิดการรั่วของ CSF ออกมาทางรูจมูกผ่านบริเวณที่เรียกว่า คริบริฟอร์มเพลต (Cribriform plate) หรือบริเวณโพรงไซนัสข้างๆจมูกที่เรียกว่าเอ็ตมอยด์ (Ethmoid sinus)

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วมีอาการอย่างไร?

อาการผิดปกติที่พบบ่อยจากภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว คือ

  1. ปวดศีรษะรุนแรง
  2. มึนงง
  3. มีน้ำใสๆ สีขาว คล้ายน้ำเปล่า (CSF) ไหลหยดออกทางรูจมูกหรือรูหู
  4. มีภาวะติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
  5. อาการของสาเหตุที่ทำให้มีการรั่วของ CSF เช่น อาการของมะเร็งสมองหรืออาการของหูน้ำหนวก

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ผู้ป่วยถ้าสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติ คือ มีน้ำใสๆไหลออกมาทางรูจมูกหรือรูหู หลัง จากได้รับประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือรับการผ่าตัดบริเวณใบหน้า โพรงไซนัส ช่องหู ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอให้มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ซึ่งนั้นหมายถึงว่ามีการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองแล้ว และกรณีได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาลก็ต้องหมั่นสังเกตว่า ตนเองมีน้ำใสๆไหลออกมาจากรูจมูกหรือรูหูหรือไม่ ถ้าพบก็ควรต้องรีบแจ้งแพทย์ พยาบาล ให้ทราบทันที

แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วได้โดยใช้ข้อมูลจากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งอุบัติเหตุ การผ่าตัดบริเวณสมอง ไซนัสศีรษะ ร่วมกับตรวจบริเวณรูจมูก รูหูว่ามีน้ำ CSF ไหลออกมาหรือไม่ โดยอาจต้องใช้กล้องขนาดเล็กส่องดูบริเวณรูจมูก รูหู เป็นต้น บางรายอาจต้องตรวจสืบค้นเพิ่มเติมด้วยการตรวจเอกซเรย์คอม พิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ เพื่อดูกระดูกกะโหลกศีรษะว่ามีรูรั่วหรือไม่ และ/หรือการนำน้ำใสๆจากจมูก จากหู มาตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าเป็น CSF หรือไม่ เพื่อพิสูจน์ว่ามีการรั่วของ CSF จริงหรือไม่

รักษาภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วอย่างไร?

การรักษาภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วประกอบด้วย

  1. การรักษาประคับประคองตามอาการ
  2. การผ่าตัดแก้ไข

โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น การรักษาประคับประคองตามอาการ คือ การนอนพักประมาณ 1-2 สัปดาห์ ไม่ให้ออกแรงเบ่ง ไอ จาม หรือยกของหนัก ไม่ให้ท้องผูก ใช้ยาระบายอ่อนๆ อาการก็จะค่อยๆดีขึ้น แต่ถ้ารักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือเกิดจากรูรั่วใหญ่ที่กะ โหลกศีรษะแตกชัดเจน หรือเกิดจากการผ่าตัดมีรูรั่วขนาดใหญ่ ก็จะต้องมีการผ่าตัดเพื่อปิดรูรั่วนั้นๆ

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่พบได้ในภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วคือ การปวดศีรษะรุนแรง, การมี CSF ไหลออกทางจมูกและ/หรือหู, และภาวะติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ), การเกิดเป็นรูรั่วถาวร (CSF fistula) ในกรณีปล่อยไว้นานไม่รักษาแต่เนิ่นๆ, และการดมกลิ่นเสียไป (กรณีรูรั่วที่ Cribriform plate)

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว โดยส่วนใหญ่แล้วการพยากรณ์โรค/ผลการรักษาดีมาก โดยรูรั่วสามารถปิดได้เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าไม่ปิดเองก็ต้องได้รับการผ่าตัดปิดรูรั่ว

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วหลังจากออกจากโรงพยา บาลมาอยู่บ้าน ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ต้องหมั่นสังเกตว่า มี CSF ไหลออกมาอีกหรือไม่ ถ้ามีต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ
  • อย่าออกแรงเบ่ง ยกของหนัก ไอ จามแรงๆ ติดต่อกัน เพราะอาจทำให้มีการรั่วของ CSF เกิดซ้ำได้อีกและ
  • ควรพบแพทย์ตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
  • มีไข้สูง
  • ปวดตึงต้นคอ/คอแข็ง
  • มีน้ำใสๆไหลออกมาทางจมูกและ/หรือทางหูอีก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วอย่างไร?

การป้องกันภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วคือ ต้องระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ (เช่น การสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ หรือเมื่อทำงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง), และ รักษาภาวะหูน้ำหนวกหรือการติดเชื้อบริเวณโพรงไซนัส หู ใบหน้าให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแบบเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะนี้