ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ตอนที่ 5

ภาวะดื้อต่ออินซูลิน

ความนิยมในตัวข้าวเหนียว มิใช้มีแต่พี่น้องอีสาน ข้าวเหนียวเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในบ้านเราเรียกว่าลูกเล็กเด็กแดงหลายคนโตมากับข้าวเหนียว ข้าวเหนียวถูกนำมาดัดแปลงเป็นหลายหลายเมนูอาหาร เช่น ข้าวเหนียวมูนมีหน้าต่างๆมากมาย ข้าวเหนียวปิ้งใส่ต่างๆ ข้าวเหนียวนึ่งใส่ไส้ไข่เค็ม ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวเปียก เป็นต้น

อาหารที่ปกติเรารับประทาน 3 มื้อต่อวัน ประกอบด้วยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต คือ แป้งและน้ำตาลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย หลังจากรับประทานแล้ว ร่างกายจะค่อยๆ ย่อยเปลี่ยนให้เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เล็กลง และกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อร่างกายสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และนำไปใช้ตามอวัยวะต่างๆ ทั้งนี้ปริมาณและชนิดของคาร์โบไฮเดรตที่ต่างกัน ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงต่างกัน เช่นเดียวกับระดับน้ำตาลกลูโคสที่ได้จากอาหารแต่ละชนิด หรือที่เราเรียกว่า “ดัชนีน้ำตาล” ค่าดัชนีน้ำตาลแบ่งเป็น 3 ระดับ คืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง และอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง

การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงมากเท่าไร คาร์โบไฮเดรตก็จะย่อยเป็นกลูโคส และถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ที่นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน แต่หลังจากรับประทานไปได้ 2-4 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร่างกาย อ่อนแรง อารมณ์เซื่องซึม ตัวอย่างอาหารดัชนีน้ำตาลสูง ได้แก่ ข้าวเหนียว ไอศกรีม ข้าวขาว มันฝรั่งบด ฯลฯ

ดังนั้นเมนูข้าวเหนียวที่เรารับประทาน มักจะมีพลังงานสูง ดังนั้นควรรับประทานเมนูข้าวเหนียวต่างๆ สลับกับเมนูอื่นๆบ้าง หรืออาจจะเพิ่มผัก และผลไม้ในมื้ออาหารนั้นๆ

องค์การอนามัยโรคได้นิยามเรื่องอาหารสุขภาพว่า การรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพ ร่วมกับการไม่ออกกำลังกายจะเป็นบ่อเกิดโรคเรื้อรัง องค์การอนามัยโลกได้แนะนำอาหารสุขภาพดังนี้

  • รับประทานอาหารที่สมดุลและมีน้ำหนักที่ปรกติ
  • ให้ลดอาหารไขมัน และหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว Saturated fat , Trans fatty
  • ให้รับประทานอาหารพวกผัก ผลไม้ ธัญพืชเพิ่มมากขึ้น
  • ลดอาหารที่มีน้ำตาล อาหารเค็มหรือมีปริมาณโซเดียมสูง

อ้างอิง

นัยพินิจ คชภักดี. อาหารฟังก์ชั่นกับการดูแลส่งเสริมสุขภาพและสมอง. การประชุมวิชาการ เรื่อง แนวทางการดูแลสุขภาพและชะลอวัยแบบองค์รวม ; วันที่ 4 กันยายน 2558 ; ณ โรงแรมซากุระแกรนด์วิว สงขลา.

พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์. แนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม.การประชุมวิชาการโภชนวิทยามหิดล เรื่อง โภชนาการทางเลือกเพื่อสุขภาพและการชะลอวัย; วันที่ 29 – 30 พฤษภาคม 2557 ; ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น.

รุจิรา สัมมะสุต.หลักการปฏิบัติด้านโภชนบำบัด ; บริษัทพรการพิมพ์จำกัด ,2541