ฟอสคาร์เนท (Foscarnet)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟอสคาร์เนท (Foscarnet หรือ Foscarnet sodium หรือ Foscarnet Na)เป็นยาที่ใช้ต่อต้านไวรัสประเภทเฮอปีส์ไวรัส (Herpes viruses) เช่น โรคเริม และไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus) ยานี้เป็นที่ยอมรับและนำขึ้นทะเบียนยาเมื่อปีค.ศ.1991(พ.ศ.2534) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาฟอสคาร์เนทเป็นยาฉีด ตัวยาจะออกฤทธิ์รบกวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรม(DNA)ของไวรัส ทำให้ตัวไวรัสไม่สามารถกระจายพันธุ์ได้ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบโดยทำให้ไตเสียหายหรือก่อให้เกิดอาการชัก และยาฟอสคาร์เนทยังเหมาะสมที่จะนำมารักษากับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอ่อนแอและมีปัญหาการติดเชื้อที่ตาที่มีสาเหตุจากไซโตเมกะโลไวรัส

ข้อจำกัดของการใช้ยาฟอสคาร์เนทบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่ถูกจำกัดอาหารเค็ม
  • ห้ามใช้กับผู้ที่ต้องฟอกเลือดด้วยไตเทียม(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การล้างไต การบำบัดทดแทนไต)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ด้วยผลข้างเคียงประการหนึ่งของยาฟอสคาร์เนทคือ ทำให้แคลเซียมในเลือดลดลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟอสคาร์เนทร่วมกับยาขับปัสสาวะ อย่างเช่นยา Furosemide ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาฟอสคาร์เนทมากขึ้น
  • การใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชักจะมีความเสี่ยงสูงในการกระตุ้นให้เกิดอาการลมชัก เคยมีรายงานทางคลินิกหลังจากผู้ที่ได้รับยานี้แล้วมีอาการชัก ซึ่งในบางครั้งก็มีอาการชักรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิต
  • การให้ยาฟอสคาร์เนททางหลอดเลือดดำต้องใช้หัตถการทางการแพทย์อย่างถูกต้อง โดยต้องกระทำในสถานพยาบาลเท่านั้น กรณีเกิดข้อผิดพลาดทำให้ตัวยานี้ หลุดรอดออกจากหลอดเลือดดำและซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อของร่างกาย จะก่อให้เกิดการ ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัสยานี้เป็นอย่างมาก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่ตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ทั้งนี้เพื่อป้องกัน การส่งผ่านตัวยานี้ไปยังทารก
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์ ด้วยจะกระทบต่อเคลือบฟันและ พัฒนาการของกล้ามเนื้อเด็ก

นอกจากนี้ยังมีข้อควรปฏิบัติขณะที่ใช้ยาฟอสคาร์เนท ดังนี้ เช่น

  • เพื่อเป็นการลดผลเสีย/ผลข้างเคียงรุนแรงของยานี้ต่อการทำงานของไตผู้ป่วยก่อนได้รับยานี้แพทย์จะให้สารน้ำ 0.9% Sodium chloride ในปริมาณ750–1000 ml(Milliliter/มิลลิลิตร) กับผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคไตเป็นโรคประจำตัว เมื่อต้องใช้ยาฟอสคาร์เนท แพทย์จะพิจารณา ปรับลดขนาดการใช้ยาลงมา
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจการทำงานของไตเป็นระยะๆตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและตรวจสอบความเสียหายของไต
  • หากพบเห็นปัสสาวะมีสีผิดปกติ เช่น สีเหมือนน้ำปลา หรือมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรง ต้องหยุดการใช้ยานี้ และต้องรีบแจ้งแพทย์โดยทันที

ยาฟอสคาร์เนทในรูปแบบยาแผนปัจจุบันจะถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Foscavir” และหากผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้จาก แพทย์ หรือเภสัชกร ตามสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้เสมอ

ฟอสคาร์เนทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ฟอสคาร์เนท

ยาฟอสคาร์เนทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาจอตาอักเสบจากการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus retinitis)
  • รักษาการติดเชื้อเริม (โรคเริม) และ
  • รักษาการติดเชื้อไวรัสงูสวัด (โรคงูสวัด)

ฟอสคาร์เนทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟอสคาร์เนท มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า DNA polymerases ในไวรัส ทำให้ไวรัสหมดสภาพที่จะจำลองตัวเองและหยุดการกระจายพันธุ์ ด้วยกลไกนี้เองทำให้ร่างกายมีเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านไวรัส และทำให้ร่างกายของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ

ฟอสคาร์เนทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟอสคาร์เนทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของ Foscarnet sodium ขนาด 24 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ฟอสคาร์เนทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟอสคาร์เนท มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับการติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสที่จอตา:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 90 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยอาจใช้เวลาการให้ยานาน 90–120 ชั่วโมง ทุกๆ 12 ชั่วโมง หรือหยดยาขนาด 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์อาจต้องใช้ยานี้ต่อเนื่อง เป็นเวลา 2–3 สัปดาห์ โดยขึ้นกับการตอบสนองต่อยานี้ของร่างกายผู้ป่วย ทั้งนี้ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 90–120 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 2 ชั่วโมง วันละ 1 ครั้ง

ข. สำหรับการติดโรคเริมที่ใช้ยา Acyclovir แล้วไม่ได้ผล:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ และต้องให้ยาผู้ป่วยทุกๆ 8 หรือ 12 ชั่วโมง ระยะเวลาการใช้ยา ประมาณ 2–3 สัปดาห์

ค. สำหรับรักษาการติดเชื้องูสวัด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 90 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยโรคไตที่แพทย์มีความประสงค์จะใช้ยานี้ แพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาตามความเหมาะสมกับสภาพไตของผู้ป่วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟอสคาร์เนท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟอสคาร์เนท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากไม่มารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมมารับการฉีดยาฟอสคาร์เนท สามารถติดต่อ แพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้ทันทีที่นึกได้ เพื่อนัดหมายการฉีดยานี้โดยเร็ว

อนึ่ง การหยุดฉีดยาฟอสคาร์เนทกะทันหัน จะทำให้อาการป่วยกลับมาเป็นซ้ำ

ฟอสคาร์เนทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟอสคาร์เนท สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง ท้องอืด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เกิดภาวะชัก ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมาก
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ หายใจขัด/หายใจลำบาก หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำ โปแตสเซียมในเลือดต่ำ อาจเกิดภาวะร่างกายเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง กดไขกระดูก มีภาวะเม็ดเลือดขาวลดต่ำ เกล็ดเลือดลดลง ฮีโมโกลบินต่ำลง
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น สร้างความเสียหายให้ไต/ไตอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน วิตกกังวล
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ปวดตา เยื่อตาอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ฟอสคาร์เนทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟอสคาร์เนท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม ยามีผงตะกอน
  • ต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 2-3 สัปดาห์ตามแพทย์สั่ง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • มารับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาฟอสคาร์เนทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ฌสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟอสคาร์เนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟอสคาร์เนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาฟอสคาร์เนทร่วมกับ ยาPentamidine ด้วยจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำจนอาจเป็นเหตุให้ถึงกับเสียชีวิต
  • ห้ามใช้ยาฟอสคาร์เนทร่วมกับยา Amiodarone ด้วยจะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟอสคาร์เนทร่วมกับยาTacrolimus ด้วยจะทำให้ไตทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยาฟอสคาร์เนทร่วมกับยา Bupropion , Tramadol, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะลมชักได้ง่าย

ควรเก็บรักษาฟอสคาร์เนทอย่างไร?

ควรเก็บยาฟอสคาร์เนท ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟอสคาร์เนทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟอสคาร์เนท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Foscavir (ฟอสคาเวียร์)Fresenius Kabi

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Foscarnet[2017,Aug19]
  2. https://www.drugs.com/cdi/foscavir.html[2017,Aug19]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/020068s018lbl.pdf [2017,Aug19]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.10191.latest.pdf[2017,Aug19]