ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde )

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ฟอร์มาลดีไฮด์/น้ำยาฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรืออาจคุ้นเคยในชื่อ ฟอร์มาลิน (Formalin) และมีอีกชื่อคือ Methanal เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ กลิ่นฉุน มีความเป็นพิษสูงต่อเซลล์/เนื้อเยื่อของสัตว์ทุกชนิด ถูกระบุให้เป็นสารอันตราย กระตุ้นให้เซลล์เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง (สารก่อมะเร็ง) ได้ หากมนุษย์รับประทานฟอร์มาลดีไฮด์ 30 มิลลิลิตรที่มีความเข้มข้น 37% จะทำให้เสียชีวิต หรือการสูดดมไอของฟอร์มาลดีไฮด์จะทำให้รู้สึกระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนอย่างมาก อีกทั้งจะรู้สึกแสบตา ปวดศีรษะ ทำให้แสบลำคอ หายใจลำบาก และสามารถกระตุ้นให้มีอาการหอบเหนื่อยเกิดขึ้น

หากจะกล่าวถึงประโยชน์ที่มนุษย์นำฟอร์มาลดีไฮด์มาใช้ได้แก่

  • เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเคมีชนิดอื่นๆอย่าง Urea formaldehyde resin (สารที่นำมาทำพลาสติก) และ Melamine resin (สารที่นำมาทำพลาสติกชนิดแข็งที่ทนความร้อน)
  • ใช้ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรารวมถึงฆ่าสปอร์ (Spore) ของเชื้อเหล่านี้
  • บางสถานพยาบาลใช้ฟอร์มาลดีไฮด์มาเป็นยาทาเฉพาะที่เพื่อรักษาโรคหูด (Wart)
  • ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อาจจะปนเปื้อนลงในผลิตภัณฑ์ของกระบวนการผลิตวัคซีน
  • ใช้ฉีดเข้าร่างกายของศพมนุษย์หรือสัตว์เพื่อรักษาสภาพร่างกายมิให้ถูกเน่าสลาย
  • *มีบุคคลบางกลุ่มที่แอบใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ใส่ลงในอาหารเพื่อยืดอายุไม่ให้เกิดการเน่าบูดซึ่งจัดเป็นการกระทำที่อันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคและผิดกฎหมายการบริโภค

สำหรับข้อจำกัดการใช้โดยทั่วไปของฟอร์มาลดีไฮด์ที่ควรทราบมีดังนี้เช่น

  • การใช้ทางคลินิกโดยใช้เป็นยากำจัดหูด (Wart) จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ฟอร์มาลดีไฮด์กับอาหารหรือใช้สัมผัสกับร่างกายมนุษย์ซึ่งไม่ใช่หัตถการทางการแพทย์ถือเป็นข้อห้ามด้วยฟอร์มาลดีไฮด์จัดเป็นสารพิษมีอันตรายต่อเซลล์และต่อเนื้อเยื่อทุกชนิด
  • ในสถานประกอบการบางที่ต้องรมไอฟอร์มาลดีไฮด์ในห้องปฏิบัติการเพื่อทำลายเชื้อโรคชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย รา และไวรัส ผู้ปฏิบัติการจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันเช่น หน้ากากกรองอากาศ แว่นกันสารเคมี ถุงมือ และชุดคลุมร่างกายก่อนการปฏิบัติการทุกครั้ง

อนึ่งในบทความนี้จะกล่าวเน้นประโยชน์ทางด้านคลินิกของฟอร์มาลดีไฮด์เป็นประเด็นสำคัญ

ฟอร์มาลดีไฮด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟอร์มาลดีไฮด์

ฟอร์มาลดีไฮด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้ในกระบวนการผ่าตัดหูดด้วยเลเซอร์
  • ป้องกันการทำลายของเนื้อเยื่อของศพมนุษย์หรือของสัตว์ (น้ำยาดองศพ)
  • ใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ผสมกับด่างทับทิมเพื่อเกิดเป็นไอเพื่อรมฆ่าเชื้อโรคในห้องปฏิบัติการ

ฟอร์มาลดีไฮด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ฟอร์มาลดีไฮด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการทำลายเซลล์ของเชื้อโรคเช่น แบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส จึงสามารถนำมากำจัดเชื้อโรคในห้องปฏิบัติการต่างๆ ใช้ดองศพ และสำหรับการกำจัดหูด ฟอร์มาลดีไฮด์จะทำให้หูดมีอาการแข็งตัวและหลุดลอกได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถทำลายไวรัสที่เป็นสาเหตุของหูดอีกด้วย จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ

ฟอร์มาลดีไฮด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ฟอร์มาลดีไฮด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นสารละลายที่มีความเข้มข้น 3%, 10% และ 37%

ฟอร์มาลดีไฮด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขอยกตัวอย่างการใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ทางคลินิกเช่น สำหรับใช้ในกระบวนการกำจัดหูด:

  • ผู้ใหญ่: ใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ 3% ทาบริเวณที่เป็นหูดวันละครั้ง ห้ามใช้ผ้าพันแผลปิดทับบริเวณที่ทายา ล้างมือด้วยน้ำสะอาดทันทีหลังใช้งาน

*อนึ่งในประเทศไทยอาจไม่พบเห็นการใช้ฟอร์มาลดีไฮด์เพื่อรักษาหูดด้วยวิธีดังกล่าว

  • เด็ก: ห้ามใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงฟอร์มาลดีไฮด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะฟอร์มาลดีไฮด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ฟอร์มาลดีไฮด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ฟอร์มาลดีไฮด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ระคายเคืองในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสฟอร์มาลดีไฮด์รวมถึงอาจเกิดแผลที่ผิวหนังส่วนนั้น ไอระเหยจะทำให้แสบตา ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ถ้าบริโภคจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด เกิดอาการชัก วิงเวียน

*สำหรับผู้ที่แพ้ยา/แพ้ฟอร์มาลดีไฮด์สามารถพบอาการผื่นคันทั้งตัว แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก ปากบวม ใบหน้าบวม ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ฟอร์มาลดีไฮด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ฟอร์มาลดีไฮด์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้ฟอร์มาลดีไฮด์
  • *ห้ามใช้กับมนุษย์ การใช้ผลิตภัณฑ์ฟอร์มาลดีไฮด์กับมนุษย์เช่น กำจัดหูดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ห้ามรับประทาน เข้าตา หรือสัมผัสผิวหนังโดยเด็ดขาด
  • ห้ามแบ่งผลิตภัณฑ์ฟอร์มาลดีไฮด์ใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • การใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ที่มีความเข้มข้นสูงเช่น 37% จะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายตามแพทย์ /นักสาธารณสุขแนะนำเสมอ
  • หากพบอาการแพ้ยา/แพ้ฟอร์มาลดีไฮด์เช่น มีผื่นขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก ตัวบวม ต้องรีบ มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งน้ำยาฯให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้น้ำยาฯหมดอายุ
  • ห้ามเก็บน้ำยาฯหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมฟอร์มาลดีไฮด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟอร์มาลดีไฮด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากฟอร์มาลดีไฮด์เป็นเวชภัณฑ์/น้ำยาที่ใช้ภายนอกร่างกายและห้ามบริโภค จึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาฟอร์มาลดีไฮด์อย่างไร?

ควรเก็บฟอร์มาลดีไฮด์ในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บน้ำยาฯในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บน้ำยาฯในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟอร์มาลดีไฮด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ฟอร์มาลดีไฮด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Formaldehyde 10% (ฟอร์มาลดีไฮด์ 10%)Rochester Pharmaceuticals
Formadon 10% (ฟอร์มาดอน 10%) Gordon Laboratories

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/cdi/formaldehyde-solution.html [2016,May21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Formaldehyde#Contaminant_in_food [2016,May21]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Fixation_(histology)#Process [2016,May21]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/formaldehyde/?type=brief&mtype=generic [2016,May21]
  5. file:///C:/Users/apai/Downloads/20101007_36b221c6-4318-4e2a-8cd0-d5558b04cdc6.pdf [2016,May21]