ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) คือ ยาตัวหนึ่งในกลุ่มยา Corticosteroid ทางแพทย์นำมาใช้รักษาอาการอักเสบและผื่นคันทางผิวหนัง ยานี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) วางจำหน่ายโดยใช้ชื่อการค้าว่า “Synalar” มีรูปแบบการใช้เป็นยาทาภายนอก /ยาใช้ภายนอก ในเวลาต่อมาฟลูโอซิโนโลนได้ถูกพัฒนาสูตรตำรับโดยนำไปผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Gentamicin, Neomycin ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการขยายผลของสรรพคุณในการรักษา

สำหรับประเทศไทยจะพบเห็นยาฟลูโอซิโนโลนมีจำหน่ายตามร้านขายยาและมีใช้ในสถานพยาบาลทั่วไป และเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา ผู้บริโภคสามารถขอคำปรึกษาได้จากแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือเภสัชกรตามร้านขายยาใกล้บ้าน

ฟลูโอซิโนโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ฟลูโอซิโนโลน

ยาฟลูโอซิโนโลนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้บรรเทารักษาอาการผิวหนังอักเสบและผื่นคัน

ฟลูโอซิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูโอซิโนโลนในด้านต่อต้านการอักเสบและผื่นคันของผิว หนังยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่พบว่ายานี้ทำให้เส้นเลือดบริเวณที่มาหล่อเลี้ยงผิวหนังที่ทายาเกิด การหดตัว จนอาจส่งผลให้ปฏิกิริยาของการอักเสบหรืออาการผื่นคันลดน้อยลงและทำให้อาการดีขึ้น

ฟลูโอซิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูโอซิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาขี้ผึ้ง ขนาดความแรง 0.25 มิลลิกรัม/กรัม
  • ยาครีมทาผิวหนังที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
    • Fluocinolone acetonide 0.25 มิลลิกรัม + Neomycin sulfate (equivalent to neomycin 3.5 มิลลิกรัม) 4.83 มิลลิกรัม/กรัม
    • Fluocinolone acetonide 0.25 มิลลิกรัม + Neomycin sulfate 2.89 มิลลิกรัม/กรัม
    • Gentamicin sulfate 1 มิลลิกรัม + Fluocinolone acetonide 0.25 มิลลิกรัม/กรัม
    • Hydroquinone 4% + Tretinoin 0.05% + Fluocinolone acetonide 0.01%/กรัม

ฟลูโอซิโนโลนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟลูโอซิโนโลนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทาผิวหนังบริเวณที่มีการอักเสบผื่นคันวันละ 3 - 4 ครั้ง หรือใช้ตามคำแนะ นำของแพทย์
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็กโดยเฉพาะในเด็กเล็กและในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีต้องแพทย์เป็นผู้สั่งการรักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูโอซิโนโลน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจ ติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูโอซิโนโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาฟลูโอซิโนโลน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ ทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า

ฟลูโอซิโนโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูโอซิโนโลน สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจมีอาการในบริเวณที่ทายา เช่น
    • แสบร้อนหรือคัน
    • ผิวแห้ง
    • เกิดสิว
    • มีรอยด่างเกิดขึ้นกับบริเวณที่ทายา
    • สามารถเกิดการติดเชื้อรา และ/หรือเชื้อแบคทีเรีย
    • ทำให้สภาพผิวหนังที่สัมผัสกับยาเสื่อมสภาพลง เช่น ผิวบาง
    • เกิดภาวะผิวหนังอักเสบ
  • การทายานี้เป็นเวลานานๆและใช้ปริมาณยามากเกินไป อาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือด และส่งผลต่อการทำงานกับระบบต่างๆภายในร่างกายได้ เช่น การทำงานของต่อมใต้สมอง

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูโอซิโนโลนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูโอซิโนโลน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาฟลูโอซิโนโลน
  • ห้ามมิให้ยานี้เข้าตา
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสทางผิวหนัง เช่น อีสุกอีใส, เริม, งูสวัด, ด้วยจะทำให้ อาการของโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • กรณีที่ใช้ยานี้เป็นปริมาณมากหรือนานต่อเนื่อง ให้ระวังตัวยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและไปกดการทำงานของต่อมใต้สมอง
  • ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก ด้วยผิวหนังของเด็กบอบบางอาจทำให้ยานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ กระแสเลือดจนก่อให้เกิดภาวะ Cushing’s syndrome/ กลุ่มอาการคุชชิง (กลุ่มอาการจากมีฮอร์โมนบางชนิดผิดปกติ อาการเช่น ใบหน้าบวมกลม ผิวบาง) และสามารถทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น การใช้ยานี้เป็นเวลานานสามารถกดการเจริญเติบโตของเด็กได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หากมีการดูด ซึมตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดก็อาจก่อให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ การจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องผ่านการพิจารณาของแพทย์ก่อนเสมอ
  • หลังทายานี้ไม่ต้องใช้ผ้าพันแผลปิดทับบริเวณที่ทายา
  • ไม่ควรทายานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิดหรือแผลฉีกขาดด้วยจะทำให้ยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น
  • หากพบอาการระคายเคืองหรือมีความรุนแรงของการอักเสบที่ผิวหนังมากยิ่งขึ้น ต้องหยุดใช้ยานี้แล้วกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ล้างมือก่อนและหลังทายานี้ทุกครั้ง
  • ควรใช้ยา/ทายานี้ตามคำสั่งของแพทย์ ไม่ควรปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ระวังการติด โรคเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ในบริเวณผิวหนังที่ทายานี้ด้วยยานี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในบริเวณผิวหนังที่ทายาลดต่ำลง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูโอซิโนโลนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูโอซิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยาฟลูโอซิโนโลนเป็นยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

*แต่หากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยาฟลูโอซิโนโลนร่วมกับยารับประทานใดๆ เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หอบเหนื่อย , เจ็บหน้าอก, ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที

***อนึ่ง สำหรับการใช้ยาฟลูโอซิโนโลนชนิดทาร่วมกับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเฝ้าระวังเรื่องการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนไปรบกวนการทำงานของยาเบาหวานจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานบางราย หากจำเป็นต้องใช้ยาฟลูโอซิโนโลนกับผู้ป่วยเบาหวาน ควรใช้ในปริมาณน้อยและไม่ควรทายาเป็นบริเวณกว้าง และการใช้ยาทาฟลูโอซิโนโลนในผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรนานเกิน 2 สัปดาห์ และต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษาฟลูโอซิโนโลนอย่างไร?

สามารถเก็บยาฟลูโอซิโนโลน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • ไม่เก็บยา ในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลูโอซิโนโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูโอซิโนโลน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Fluo-Neo (ฟลูโอ-นีโอ) Inpac Pharma
Flunolone (ฟลูโนโลน) Atlantic Lab
Fluocort-N (ฟลูโอคอร์ท-เอ็น) Community Pharm PCL
Gental-F (เจนทอล-เอฟ) General Drugs House
Supralan-N (สุพราแลน-เอ็น) Siam Bheasach
Synalar-N (ซายนาลาร์-เอ็น) sanofi-aventis
Synalar (ซายนาลาร์) MEDICIS
Tri-Luma (ไตร-ลูมา) Galderma

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Fluocinolone [2021,Feb27]
  2. https://www.mims.com/philippines/drug/info/fluocinolone?mtype=generic [2021,Feb27]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/synalar-n [2021,Feb27]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Fluocinolone_acetonide [2021,Feb27]
  5. https://www.drugs.com/disease-interactions/fluocinolone-topical,synalar-ointment.html [2021,Feb27]