ฟลูออเรสซีน (Fluorescein)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา หรือ สาร หรือ สี ฟลูออเรสซีน(Fluorescein หรือ Fluorescein sodium หรือ Fluorescein Na)เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทสีย้อมที่สะท้อนแสงได้หากกระตุ้นฟลูออเรสซีนด้วยพลังงานที่มีความยาวคลื่น 465-490 นาโนเมตร จะทำให้มีการปลดปล่อยพลังงานที่ความยาวคลื่น 520-530 นาโนเมตร อาจกล่าวให้ฟังดูง่ายว่า สารฟลูออเรสซีนจะถูกกระตุ้นด้วยแสงสีฟ้า และจะเรืองแสงให้เห็นเป็นสีเหลืองเขียวในบริเวณที่ตัวมันไปปรากฏ เช่น บริเวณหลอดเลือดในลูกตา ด้วยเหตุผลนี้ ทางการแพทย์จึงนำฟลูออเรสซีนในรูปของเกลือโซเดียม (Fluorescein sodium หรือ Fluorescene Na) มาใช้วินิจฉัยพยาธิสภาพของหลอดเลือดใต้ชั้นจอตาที่มีอาการโป่งพอง (Polypoidal choroidal vasculopathy)

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาหรือสารฟลูออเรสซีน เป็นลักษณะแบบยาฉีด การฉีด ฟลูออเรสซีนเข้าหลอดเลือดดำที่บริเวณแขนภายในเวลาไม่เกิน 7–14 วินาที ฟลูออเรสซีน โซเดียมก็จะเข้าไปปรากฏอยู่ในหลอดเลือดแดงของตา/ลูกตา หากมองผ่านจากกล้องที่แพทย์ใช้ตรวจสอบ จะเห็นเป็นสีเขียวออกเหลือง และจะเริ่มจางลงภายในเวลา 6–12 ชั่วโมง

ฟลูออเรสซีนในร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็น ฟลูออเรสซีน โมโนกลูคูโรไนด์ (Fluorescein monoglucuronide) และถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ กระบวนการนี้จะเริ่มต้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากผู้ป่วยได้รับการฉีดสีชนิดนี้

ปัจจุบัน ฟลูออเรสซีนโซเดียม ได้รับการบรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยกำหนดให้ใช้เพื่อวินิจฉัยภาวะ Polypoidal choroidal vasculopathy และสามารถพบเห็นการใช้สารนี้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วไป

ฟลูออเรสซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ฟลูออเรสซีน

ฟลูออเรสซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้วินิจฉัยความผิดปกติของจอตา (Angioscopy of the retina)
  • ใช้วินิจฉัยความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณม่านตา (Angioscopy of Iris vasculature)

ฟลูออเรสซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

Fluorescein sodium มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะตอบสนองต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือแสงที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 465-490 นาโนเมตร การกระตุ้นดังกล่าวจะทำให้ Fluorescein เปล่งแสงที่มีความยาวคลื่น 520-530 นาโนเมตร เมื่อมองผ่านกล้องที่จักษุแพทย์ใช้ จะเห็นเป็นสีเหลืองออกเขียว จากกลไกนี้เอง ทำให้แพทย์สามารถเห็นความผิดปกติของจอตา หรือของหลอดเลือดในบริเวณม่านตา และสามารถวินิจฉัยโรคของตาได้อย่างแม่นยำขึ้น

ฟลูออเรสซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ฟลูออเรสซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดแบบสารละลาย ที่บรรจุตัวยา Fluorescein sodium ที่มีความเข้มข้น 10% หรือ 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ฟลูออเรสซีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ฟลูออเรสซีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 500 มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำที่บริเวณแขนของผู้ป่วย ใช้เวลาในการเดินยาเข้าหลอดเลือดฯ 5 – 10 วินาที หรืออาจใช้วิธีรับประทานยาขนาด 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็ก: ฉีดยาขนาด 7.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมฟลูออเรสซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูออเรสซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ฟลูออเรสซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูออเรสซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีอาการชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออเรสซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออเรสซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • ระวังการฉีดยาฟลูออเรสซีนทะลุผนังหลอดเลือดดำ ด้วยตัวยามีความเป็นด่างสูง จึงสามารถทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ภายนอกหลอดเลือดฯได้
  • ระวังการฉีดยานี้ให้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืด
  • หลังฉีดยานี้ ผิวหนังของผู้ป่วยอาจดูเป็นสีเหลือง และจะค่อยๆจางลงภายในเวลา 6 – 12 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร การใช้ยากับ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ฟลูออเรสซีนในลักษณะยารับประทานกับผู้ป่วยด้วยโรคตับอ่อนอักเสบ (Acute necrotising pancreatitis)
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาฟลูออเรสซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟลูออเรสซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูออเรสซีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาฟลูออเรสซีนร่วมกับยา Acebutolol, Benazepril, Enalapril, Quinapril, Sotalol, Ramipril, Perindopril, Nebivolol, Carteolol ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแพ้ยาฟลูออเรสซีนเกิดขึ้น โดยมีอาการหายใจลำบากและแน่นหน้าอก เป็นต้น

ควรเก็บรักษาฟลูออเรสซีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาฟลูออเรสซีน ดังนี้

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2-25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และ
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ฟลูออเรสซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ฟลูออเรสซีน มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
FLUORESCITE (ฟลูออเรสไซต์)International Medication Systems, Limited

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Fluorescein[2018,Sep1]
  2. file:///C:/Users/apai/Downloads/nlem2018_announcement_ratchakitcha_190161_20180119_204214.pdf [2018,Sep1]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/fluorescein/?type=brief&mtype=generic [2018,Sep1]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2006/021980s000lbl.pdf [2018,Sep1]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/fluorescein-index.html?filter=2&generic_only= [2018,Sep1]
  6. http://www.srinagarind.md.kku.ac.th/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/pdf/7-11-59/HPMD%20DL59-040%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%971.pdf [2018,Sep1]