“ฟลูออกซิทีน” อันตรายที่แฝงในอาหารเสริม (ตอนที่ 3)

ฟลูออกซิทีน-อันตรายที่แฝงในอาหารเสริม

ให้เก็บยาในบรรจุภัณฑ์เดิม ปิดให้สนิท ให้พ้นมือเด็ก เก็บในอุณหภูมิห้องปกติ ห่างจากความร้อนและความชื้นที่มากเกิน เช่น ในห้องน้ำ

ทั้งนี้ ปริมาณในการกินจะขึ้นอยู่กับอาการของโรคและการตอบสนองต่อการรักษา แต่เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยา ในระยะแรกแพทย์อาจสั่งยาในปริมาณที่น้อยแล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ และเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดควรกินยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และควรกินยาในเวลาเดียวกันทุกวันเพื่อช่วยในการจำได้

อาการน่าจะดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ หลังการใช้ยา และอาจใช้เวลา 4-5 สัปดาห์เพื่อที่จะให้ได้ประโยชน์จากยาอย่างเต็มที่ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงให้แจ้งแพทย์

ทั้งนี้ ยาฟลูออกซิทีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาดังนี้

  • นอนไม่หลับ (Insomnia) หรือ ฝันประหลาด
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สายตาเปลี่ยน
  • สั่น รู้สึกกระวนกระวายใจ
  • ปวด อ่อนเพลีย หาวบ่อย รู้สึกเหนื่อย
  • ท้องปั่นป่วน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ปากแห้ง เหงื่อออก ร้อนวูบวาบ
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • คัดจมูก ปวดไซนัส เจ็บคอ อาการคล้ายเป็นหวัด
  • แรงกระตุ้นทางเพศลดลง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Impotence)
  • เป็นผื่นคัน ลมพิษ
  • เป็นไข้
  • ปวดข้อ
  • หน้า ตา คอ ปาก บวม

ยาฟลูออกซิทีนอาจทำปฏิกริยาร่วมกับยาตัวอื่น (Drug interaction) อีกหลายตัว ดังนั้นจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่ใช้อยู่ รวมถึงวิตามินและสมุนไพรด้วย โดยเฉพาะ

  • ยาต้านซึมเศร้าตัวอื่น
  • สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort)
  • ทริปโตเฟน (Tryptophan)
  • ยาลดการจับตัวของเม็ดเลือด (Blood thinner)
  • ยาที่ใช้ในการรักษาอาการวิตกกังวล อารมณ์ผิดปกติ หรืออาการป่วยทางจิต
  • ยาที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD) หรือโรคผล็อยหลับ (Narcolepsy)
  • ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน
  • ยาบรรเทาอาการปวดต่างๆ ที่เสพติดได้ (Narcotic pain medicine)

แหล่งข้อมูล:

  1. fluoxetine. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-1774-95/fluoxetine-oral/fluoxetine---oral/details [2017, May 3].
  2. Fluoxetine. https://www.drugs.com/fluoxetine.html [2017, May 3].
  3. Fluoxetine. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a689006.html [2017, May 3].