ฟลูนิโซไลด์ (Flunisolide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟลูนิโซไลด์ (Flunisolide) เป็นสารเคมีประเภท Corticosteroid ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการภูมิแพ้และคัดจมูก โดยใช้ในลักษณะของยาพ่นสเปรย์/ยาพ่นจมูกทำให้ลดอาการบวม อาการคันและระคายเคืองในโพรงจมูกนั่นเอง

ยาฟลูนิโซไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในบริเวณที่พ่นยา การใช้ยานี้อาจไม่เห็นผลของการลดภาวะอักเสบในโพรงจมูกอย่างทันที แต่จะต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 วันขึ้นไปอาการจึงจะค่อยๆดีขึ้น

ทั้งนี้มีข้อจำกัดในการใช้ยาฟลูนิโซไลด์ชนิดพ่นจมูกอยู่บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบดังนี้ เช่น

  • ไม่ควรใช้พ่นขณะที่โพรงจมูกเกิดการติดเชื้อโรค
  • หากใช้ยาไปแล้ว 2 - 3 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดการใช้ยานี้แล้วกลับมาปรึกษาแพทย์ผู้รักษา/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอาการแพ้ยานี้และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของสูตรตำรับยาฟลูนิโซไลด์
  • กรณีสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ห้ามซื้อยาชนิดนี้มาพ่นจมูกด้วยตนเองนอก จากจะได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในโพรงจมูกหรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดภายในโพรงจมูกหรือผู้ที่มีเลือด ออกในโพรงจมูกบ่อยๆ
  • ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคเช่น หัด วัณโรค ฝีดาษ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูนิโซไลด์กับผู้ป่วยที่ได้รับยา Prednisone ด้วยจะทำให้มีอาการข้าง เคียง (ผลข้างเคียง) จากยาสเตียรอยด์มากขึ้น (ยาทั้ง 2 ชนิดอยู่ในกลุ่มยาสเตียรอยด์)
  • หลีกเลี่ยงการใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีด้วยเหตุผลที่ว่ายากลุ่มสเตียรอยด์กดการเจริญเติบโตของเด็ก การจะใช้ยาสเตียรอยด์กับผู้ป่วยเด็กต้องผ่านการกลั่นกรองข้อดีข้อเสียจากแพทย์ผู้รักษาก่อนเท่านั้น

นอกจากนี้ยาฟลูนิโซไลด์ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้เช่นเดียวกันกับยาชนิดอื่นๆที่ใช้พ่นจมูกอาทิเช่น ทำให้เกิดอาการแสบคันในโพรงจมูก อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ใช้ยาฟลูนิโซไลด์เป็นเวลานานๆหรือใช้ยาฟลูนิโซไลด์ในขนาดที่เกินคำสั่งของแพทย์ ซึ่งปกติการหยุดใช้ยาฟลูนิโซไลด์จะทำให้อาการแสบคันดังกล่าวดีขึ้นเอง

อีกประการสำคัญกลุ่มยาประเภทฉีดพ่นสเปรย์เข้าทางจมูก-ปากจะมีวิธีการใช้ที่เฉพาะเจาะจง ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรเรียนรู้วิธีการใช้งานอย่างถูกต้องโดยสามารถสอบถามจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล และสามารถทบทวนวิธีการใช้งานได้จากเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์

ฟลูนิโซไลด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟลูนิโซไลด์

ยาฟลูนิโซไลด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาภาวะอักเสบจากอาการภูมิแพ้ของจมูก (Allergic rhinitis)

ฟลูนิโซไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูนิโซไลด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านและกดกระบวนการอักเสบ พร้อมทั้งกดระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในบริเวณที่มีการใช้ยา ส่งผลให้ลดอาการแพ้อักเสบเช่น คัดแน่นในจมูกดังกล่าว

ฟลูนิโซไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูนิโซไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาพ่นจมูก ขนาดความเข้มข้น 0.025%

ฟลูนิโซไลด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟลูนิโซไลด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป: พ่นสเปรย์ยาเข้าจมูกแต่ละข้าง 2 ทีวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น

หากจำเป็นสามารถพ่นยาในจมูกข้างละ 2 ทีเป็นเวลา 3 ครั้ง/วัน ขนาดพ่นยาสูงสุดไม่เกิน 8 ครั้งในแต่ละข้างของจมูก

  • เด็กอายุ 6 - 14 ปี: สเปรย์ยาเข้าจมูกข้างละ 1 ทีวันละ 3 ครั้ง ขนาดพ่นยาสูงสุดต่อวันไม่เกิน 4 ครั้งในแต่ละข้างของจมูก
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้อาจส่งผลกดการเจริญเติบโตของเด็กได้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟลูนิโซไลด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูนิโซไลด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่นยาฟลูนิโซไลด์สามารถพ่นยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการพ่นยาเป็น 2 เท่า

ฟลูนิโซไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูนิโซไลด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ระคายเคืองในโพรงจมูก มีอาการแสบคันจมูก คัดจมูก จาม สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นในระหว่างที่ใช้ยานี้ อาจพบการติดเชื้อราในโพรงจมูก

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกขมในปาก ปวดศีรษะ กดการทำงานของสมองในส่วนที่สัมพันธ์กับสมองไฮโปธาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต (Hypothalamic-pituitary-adrenal axis) และอาจพบอาการผื่นคันเกิดขึ้นได้

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูนิโซไลด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูนิโซไลด์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามฉีดพ่นยานี้เข้าในตาเป็นอันขาด หากตัวยาสัมผัสตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานานเกินกว่าคำสั่งแพทย์
  • หลังใช้ยานี้หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์หรือกลับมีอาการแย่ลง ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยอาจจะลดลง ให้หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยอื่นที่มีอาการของโรคติดเชื้อต่างๆเพราะผู้ใช้ยานี้จะติดเชื้อได้ง่ายอย่างเช่น โรคหวัด
  • หากผู้ป่วยได้รับวัคซีนชนิดใดมาเมื่อเร็วๆนี้ให้แจ้งแพทย์ทราบทุกครั้ง
  • เรียนรู้การใช้ยานี้อย่างถูกต้องจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล
  • หากอุปกรณ์การพ่นสเปรย์ยาอุดตัน ห้ามใช้เข็มหรือของมีคมในการแคะเขี่ยอุปกรณ์เป็นอันขาด ให้ทำความสะอาดตามวิธีการที่ระบุมาในเอกสารกำกับยา
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูนิโซไลด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูนิโซไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูนิโซไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูนิโซไลด์ร่วมกับยา Mifepristone ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของฟลูนิโซไลด์ลดลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาฟลูนิโซไลด์ร่วมกับยา Clarithromycin, Ketoconazole, Ritonavir, Erythromycin จะทำให้ระดับยาฟลูนิโซไลด์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมาเช่น เกิดอาการบวมของร่างกาย น้ำหนักเพิ่ม ซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีสิวขึ้น มีขนขึ้นบริเวณหน้าและลำตัว กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูนิโซไลด์ร่วมกับยา Cladribine (ยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว) ด้วยจะก่อ ให้เกิดความเสี่ยงกับการติดเชื้อในลักษณะที่รุนแรงติดตามมา

ควรเก็บรักษาฟลูนิโซไลด์อย่างไร?

ควรเก็บยาฟลูนิโซไลด์ในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟลูนิโซไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูนิโซไลด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
SYNTARIS (ซินทาริส)AHPL

*อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยาฟลูนิโซไลด์ในต่างประเทศเช่น AeroBid, Nasalide, Nasarel

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/pro/flunisolide.html [2016,Jan30]
  2. http://mims.com/India/drug/info/SYNTARIS/SYNTARIS%20nasal%20spray [2016,Jan30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Flunisolide [2016,Jan30]
  4. http://www.drugs.com/drug-interactions/flunisolide.html [2016,Jan30]