ฟลูติคาโซน (Fluticasone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟลูติคาโซน (Fluticasone หรือ Fluticasone propionate หรือ Fluticasone furoate) เป็นสารสังเคราะห์ประเภทกลูโคคอร์ติคอยด์ (Synthetic glucocorticoid) ที่เป็นยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาพ่นจมูก-สเปรย์ช่องปาก เพื่อบรรเทาอาการอักเสบของช่องทางเดินหายใจและอาการโรคหืด

รูปแบบสารประกอบฟลูติคาโซนยังแบ่งออกเป็นอีก 2 ชนิดคือ Fluticasone furoate และ Fluticasone propionate ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาและการกระจายตัวยาในร่างกายมนุษย์ที่เหมือน กันเช่น การดูดซึมของยาผ่านทางหลอดเลือดฝอยโดยการพ่นสเปรย์มีเพียง 0.51% และเมื่อตัวยา เข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 91% การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาเริ่มที่โพรงจมูก-ปากและตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยาครึ่ง หนึ่งที่ได้รับออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดพ่นเข้าจมูก-สเปรย์เข้าทางช่องปาก และมีชนิดครีม-ขี้ผึ้งที่ใช้ทาภายนอกซึ่งอาจพบได้แต่เป็นส่วนน้อย ยาชนิดพ่นจมูก-ช่องปากถูกใช้ในวัตถุประ สงค์ลดอาการบวมและอาการระคายเคืองของช่องทางเดินหายใจที่เป็นอาการจากโรคหืด

ยังมีข้อจำกัดของยาฟลูติคาโซนที่ผู้ใช้ควรต้องทราบก่อนการใช้ยานี้กล่าวคือ

  • ยาฟลูติคาโซนไม่สามารถยับยั้งอาการโรคหืดแบบชนิดเฉียบพลัน แต่เหมาะกับการบำบัด รักษาควบคุมอาการมิให้กำเริบมากกว่า กรณีมีอาการหอบแบบเฉียบพลันกำเริบขึ้นมา แพทย์จะจ่าย ยาชนิดที่ลดอาการหอบแบบเฉียบพลันมาใช้ป้องกัน
  • สำหรับผู้ที่แพ้โปรตีนจากนมถือเป็นข้อห้ามใช้ของยานี้
  • ยาฟลูติคาโซนสามารถทำให้เกิดภาวะ/โรคกระดูกบางจึงควรต้องเพิ่มความระมัดระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคของกระดูกหรือการใช้กับผู้สูงอายุ
  • ธรรมชาติของยากลุ่มสเตียรอยด์ที่รวมยาฟลูติคาโซนด้วยจะทำให้เกิดการชะลอการเติบโตของเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงต้องระมัดระวังและคำนึงถึงข้อดีข้อเสียให้มาก
  • ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงการเกิดต้อกระจกและต้อหิน
  • มีข้อห้ามการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเช่น โรคเริม โดยเฉพาะบริเวณตา เชื้อหัด เชื้อฝีดาษ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างวัณโรค หรือการติดเชื้อราชนิดต่างๆตามร่างกาย เพราะจะทำให้การติดเชื้อเหล่านั้นรุนแรงขึ้น
  • ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากหากต้องใช้ยาฟลูติคาโซนกับผู้ป่วยโรคตับ ด้วยยานี้ถูกทำลายโดยผ่านตับ กรณีเช่นนี้แพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยาเป็นกรณีๆไป

ทั้งนี้การใช้ยาฟลูติคาโซนชนิดสเปรย์พ่นเพื่อรักษาอาการโรคหืดนั้น อาจเห็นผลได้ดีหลังการใช้ยาไปแล้วประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ การใช้ยาชนิดสเปรย์พ่นเป็นครั้งแรก แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร จะแนะนำให้กดสเปรย์พ่นทิ้งในอากาศ 4 ครั้งก่อนการใช้จริง หรือกรณีหยุดใช้ยามาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ก็ควรกดสเปรย์ยาทิ้งในอากาศ 4 ครั้งเช่นกัน กรณีที่เคยใช้ยาแล้ว แต่หยุดใช้ไป 1 - 3 สัปดาห์ให้กดสเปรย์ทิ้งในอากาศ 1 ครั้งก่อนนำมาใช้ใหม่ ทั้งนี้เพื่อไล่อากาศที่ค้างอยู่ในอุปกรณ์เพื่อให้ได้ปริมาณยาที่คงที่ในการสเปรย์ใช้งานจริงแต่ละครั้ง

ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยานี้นอกเหนือคำสั่งของแพทย์เช่น ปรับขนาดการใช้ยาเอง หยุดการใช้ยาเอง การใช้ยานี้ได้ถูกต้องสม่ำเสมอจะทำให้การควบคุมอาการโรคหืดมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

กรณีพ่นยานี้เข้าทางปาก หลังการใช้ผู้ป่วยควรต้องบ้วนปากเพื่อลดการตกค้างของยาในช่องปากที่จะเพิ่มภาวะการติดเชื้อในช่องปาก ลดอาการระคายเคืองในช่องปาก และต้องระวังการกลืนน้ำขณะที่ทำการบ้วนปากด้วยเช่นกัน

หลังการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องไม่ลืมที่จะปิดผนึกฝาครอบของหัวสเปรย์ ปิดตลับให้สนิทเหมือนเดิม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของตัวยาขณะสูดพ่นเข้าจมูกและช่องปาก หลังพ่นยาควรกลั้นหายใจไว้ประมาณ 3 - 4 วินาทีเพื่อช่วยการดูดซึมของยาและยังทำให้ยาสามารถกระจายเข้าไปในปอดและออกฤทธิ์บำบัดรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการใช้ยานี้ในแต่ละรูปลักษณะภาชนะบรรจุ มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ก่อนการใช้งานผู้ป่วยควรต้องได้รับคำแนะนำวิธีการใช้อย่างถูกต้องจากแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกร และควรต้องตรวจสอบรายละเอียดการใช้ยานี้เพิ่มเติมจากเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์

ฟลูติคาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟลูติคาโซน

ยาฟลูติคาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • รักษาอาการภูมิแพ้ที่ช่องทางเดินหายใจ
  • รักษาและควบคุมอาการหอบหืดจากโรคหืด

ฟลูติคาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิของยาฟลูติคาโซนคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่ชื่อ กลูโคคอร์ติคอยด์ รีเซ็พเตอร์ (Glucocorticoid receptor) ในร่างกาย ส่งผลยับยั้งการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวในบริเวณเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบและลดการหลั่งสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้เช่น ฮีสตามีน (Histamine) และไคนิน (Kinin) อีกทั้งยังรบกวนการเกาะติดของเม็ดเลือดขาวกับหลอดเลือดฝอย จากกลไกต่างๆเหล่านี้ทำให้ลดอาการแพ้และลดการหดเกร็งของหลอดลม ทำให้หลอดลมเปิดกว้างอากาศเข้าออกได้สะดวก จึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ฟลูติคาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูติคาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในประเทศไทยคือ

ก.ยาพ่นสเปรย์จมูก ขนาด 27.5 ไมโครกรัม/การพ่น 1 ครั้ง

ข.ยาพ่นสเปรย์ปาก ขนาด 125 ไมโครกรัม/การพ่น 1 ครั้ง

ค. ยาชนิดหยดที่ต้องอาศัยเครื่องพ่น (Nebule) ขนาด 0.5 และ 2 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

ง. ยาพ่นสเปรย์ปากที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Salmeterol xinafoate 25 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 50 ไมโครกรัม
  • Salmeterol xinafoate 25 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 125 ไมโครกรัม
  • Salmeterol xinafoate 25 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 250 ไมโครกรัม

จ.ยาพ่นปากชนิดผงแห้งที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Salmeterol xinafoate 50 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 100 ไมโครกรัม
  • Salmeterol xinafoate 50 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 250 ไมโครกรัม

ฟลูติคาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟลูติคาโซนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาตัวอย่างเช่น ใช้เป็นชนิดยาฉีดพ่นเข้าปาก (Aerosol) เพื่อป้องกันอาการโรคหืด:

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: พ่นยาขนาด 100 – 1,000 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น เช่น

มีอาการหอบน้อย: พ่นยาขนาด 100 - 250 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง

มีอาการหอบปานกลาง: พ่นยาขนาด 250 - 500 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง

มีอาการหอบรุนแรง: พ่นยาขนาด 500 - 1,000 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง

  • เด็กอายุ 4 - 16 ปี: พ่นยาขนาด 50 - 200 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี: ยังไม่มีการแนะนำขนาดการใช้ยานี้ที่แน่ชัด การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาขนาดการใช้ยานี้ที่เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูติคาโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูติคาโซนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่นยาฟลูติคาโซนสามารถพ่นยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้ง ถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการพ่นยาเป็น 2 เท่า

ฟลูติคาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูติคาโซนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยแบ่งอาการข้างเคียงออกเป็นประเภทๆดังนี้

  • อาการข้างเคียงที่พบมาก: เช่น เกิดจุดขาวๆภายในช่องปากและคอ
  • อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น ท้องเสีย ปวดหู ปวดท้องแต่ไม่มาก คลื่นไส้ ปวดขณะปัสสาวะ มีอาการคล้ายตาแดงหรือแดงบริเวณรอบตา เจ็บคอ อึดอัด/หายใจลำบาก กลืนอาหารลำ บาก คันบริเวณอวัยวะเพศ และอาเจียน
  • อาการข้างเคียงที่ไม่ค่อยพบเห็นแต่อาจเกิดขึ้นได้: เช่น ตาพร่า ปวดตา กระดูกหักง่าย มีขนขึ้นบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะในเพศหญิง การเจริญเติบโตของเด็กลดลง มีความดันโลหิตสูง พบผื่นคัน หิวและกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก อ่อนเพลีย ประจำเดือนมาผิดปกติ สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ/กล้าม เนื้อลีบ มือ-เท้า/แขน/ขาอ่อนแรง แน่นหน้าอก บวมตามใบหน้า-ปากและเปลือกตา/หนังตา หายใจมีเสียงผิดปกติ (เสียงหวีด) ที่เกิดจากกล้ามเนื้อหลอดลมหดตัวจนทางเดินหลอดลมแคบลง
  • อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้แต่ไม่ทราบสาเหตุ: เช่น วิงเวียน และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการผิดปกติเช่น ผิวมีสีคล้ำ เป็นลม เบื่ออาหาร มีอาการซึมเศร้า อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย เมื่อพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลเพื่อทำการรักษาโดยเร็ว

ฟลูติคาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูติคาโซนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการโรคหืดแบบเฉียบพลัน แพทย์มักจะเพิ่มยารักษาอาการโรคหืดแบบเฉียบพลันไว้ให้ผู้ป่วยใช้ยามฉุกเฉิน
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อจากไวรัสเช่น เริม หัด ฝีดาษ หรือป่วยด้วยวัณโรค
  • กรณีที่ใช้ยานี้ไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นให้หยุดการใช้ยาและรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ยาฟลูติคาโซนชนิดฉีดพ่นเข้าช่องปากอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อรา การอักเสบภายในช่องปาก การป้องกันโดยบ้วนปากหลายครั้งด้วยน้ำสะอาดหลังการพ่นยา หากพบการติดเชื้อในปาก (เช่น มีฝ้าขาวคล้ายน้ำนม) ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูติคาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูติคาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูติคาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูติคาโซนร่วมกับยาบางกลุ่มด้วยจะทำให้การดูดซึมยาฟลูติคาโซนมีปริมาณสูงขึ้นจนผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงติดตามมาอย่างมากมายเช่น มีอาการบวม น้ำหนักตัวเพิ่ม ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกบาง เกิดสิว ผิวบาง มีต้อกระจก ประ จำเดือนมาผิดปกติ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Clarithromycin, Ketoconazole และยาต้านไวรัส เช่น Ritonavir, Amprenavir, Atazanavir, Boceprevir และ Indinavir
  • การใช้ยาฟลูติคาโซนกับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อเช่น การติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส สามารถทำให้อาการโรคติดเชื้อกำเริบและรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งการติดเชื้อแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น มาอีก ด้วยยาฟลูติคาโซนจะทำให้ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายต่ำลง การจะใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ แพทย์จึงต้องประเมินผลดี - ผลเสียและใช้ยาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
  • ห้ามใช้ยาฟลูติคาโซนร่วมกับยา Mifepristone ด้วยมีผลให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาฟลู ติคาโซนลดลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับระยะเวลาการใช้ยาให้ห่างกันหรือปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาฟลูติคาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาฟลูติคาโซนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลูติคาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูติคาโซนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Avamys (อะวามิส) GlaxoSmithKline
Flixonase (ไฟลโซเนส)GlaxoSmithKline
Seretide (เซเลไทด์) GlaxoSmithKline
Seroflo 125 (เซโรโฟล 125)Cipla

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Alerflo, Cazon, Flocare, Floease, Flohale, Flomist, Flomale rota, Cuti bact, Fexin, Emderm, Cazon D

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Avamys/?type=full#Indications[2017,July8]
  2. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Flixotide/?type=full#Indications[2017,July8]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Fluticasone[2017,July8]
  4. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/fluticasone-nasal-route/description/drg-20070965[2017,July8]
  5. http://www.drugs.com/cdi/fluticasone-furoate-spray.html[2017,July8]
  6. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00588[2017,July8]
  7. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Seretide/?type=BRIEF[2017,July8]
  8. http://www.drugs.com/drug-interactions/fluticasone-nasal.html[2017,July8]
Updated 2017,July8