ฟลูตาไมด์ (Flutamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟลูตาไมด์ (Flutamide) เป็นยาประเภทนอนสเตียรอยดอล แอนตี้แอนโดรเจน (Nonsteroidal antiandrogen ย่อว่า NSAA) ทางคลินิกใช้ยานี้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแพร่กระจาย ภาวะขนดกในสตรี และในสตรีที่มีฮอร์โมนแอนโดรเจนมากผิดปกติ ยาฟลูตาไมด์มีการออกฤทธิ์แข่งขันกับฮอร์โมนเพศชาย(Androgen) ส่งผลลดการขยายตัวของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากและเซลล์ปกติของต่อมลูกหมาก ธรรมชาติตัวยาฟลูตาไมด์เป็นยาที่ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ หรือที่เรียกกันว่าโปรดรัก(Prodrug) เมื่อรับประทานยาชนิดนี้/ยานี้ ระบบทางเดินอาหารของคนเราจะเปลี่ยนยาฟลูตาไมด์ไปเป็นสารไฮดรอกซีฟลูตาไมด์ (Hydroxyflutamide) ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลที่สามารถออกฤทธิ์ได้ ทั่วไป ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5–6 ชั่วโมงเพื่อรอเวลาให้ยาฟลูตาไมด์ในกระแสเลือดสลายตัวลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่สารไฮดรอกซีฟลูตาไมด์ต้องใช้เวลา 8–10 ชั่วโมง ทั้งนี้การกำจัดยาฟลูตาไมด์จะผ่านไปกับปัสสาวะเป็นส่วนมาก แต่มีตัวยาบางส่วน ส่วนน้อยที่ถูกขับทิ้งไปอุจจาระ

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ไม่เหมาะกับการใช้ยาฟลูตาไมด์เพราะอาจทำให้อาการโรคประจำตัวนั้นๆกำเริบมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยจีซิกพีดี(G6PD deficiency) หรืออาจทำให้ผลข้างเคียงจากยาฟลูตาไมด์สูงขึ้น เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ ตลอดจนกระทั่งผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น Warfarin หรือ Coumadin

ผู้ที่ได้รับยาฟลูตาไมด์ ยังอาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางอย่างที่พบเห็นได้บ่อย เช่น ท้องเสีย ผู้ป่วยควรใช้ยาบำบัดอาการท้องเสียที่สั่งจ่ายจากแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น และไม่ควรไปซื้อหายาแก้ท้องเสียมารับประทานเอง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)

ทางการแพทย์ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงจากการใช้ยาชนิดนี้ และเมื่อพบเห็นอาการต่างๆดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที อาทิ

  • เกิดผื่นคันตามผิวหนังหรือผิวหนังลอก อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้ หายใจลำบาก กลืนลำบาก ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม
  • ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • มีเลือดออกทางทวารหนัก/อุจจาระเป็นเลือด หรือเจ็บทวารหนักอย่างรุนแรง
  • สีผิวเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือเขียวคล้ำ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาฟลูตาไมด์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษโดยมีเงื่อนไขการใช้ดังนี้ “ ใช้เป็น Monotherapy(ยาเดี่ยว)สำหรับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแพร่กระจายโดยใช้เป็น Second-line drug(ยาตัวที่สอง)หลัง Bilateral orchiectomy(การผ่าตัดอัณฑะออกทั้งสองข้าง) “

ยาฟลูตาไมด์จัดเป็นยาที่มีอันตราย การใช้ยาชนิดนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ฟลูตาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ฟลูตาไมด์

ยาฟลูตาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแพร่กระจาย
  • รักษาภาวะขนดกในสตรี

ฟลูตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟลูตาไมด์เป็นยาประเภท Nonsteroidal antiandrogen ตัวยาไม่ได้ออกฤทธิ์ลดฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen) แต่กลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเข้าแข่งขันหรือปิดกั้นช่องทางมิให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากนำฮอร์โมนแอนโดรเจนไปใช้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งส่งผลให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากชะลอการเจริญเติบโต และด้วยกลไกของยาฟลูตาไมด์ที่ยับยั้งเซลล์เป้าหมายไม่ให้นำแอนโดรเจนไปใช้งานได้ ทางการแพทย์จึงนำยานี้มาบำบัดภาวะขนดกในสตรีจากสาเหตุมีฮอร์โมนแอนโดรเจนมากผิดปกติได้อีกด้วย

ฟลูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Flutamide ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด

ฟลูตาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟลูตาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับภาวะขนดกในสตรี:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่แพทย์จะสั่งจ่ายควบคู่กัน

ข. สำหรับรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย:

  • ผู้ใหญ่: การใช้ยาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากต้องเป็นไปตามดุลยพินิจและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์กำหนด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าของการรักษาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

อนึ่ง:

  • ทั่วไปทางคลินิก มักจะไม่ใช้ยานี้กับสตรี ดังนั้นการนำมาใช้รักษาภาวะขนดกในสตรีต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์แต่ผู้เดียว
  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ควรรับประทานในเวลาเดียวกันของทุกๆวัน
  • เด็ก: ห้ามใข้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟลูตาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูตาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาฟลูตาไมด์ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่ทั้งนี้ การจะใช้ยาฟลูตาไมด์ได้อย่างมีประสิทธิผล ต้องอาศัยการรับประทานอย่างต่อเนื่อง ตรงขนาด และตรงเวลา ตามคำสั่งแพทย์

ฟลูตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูตาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)กับผู้ป่วยได้แตกต่างกัน ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับผลข้างเคียงน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยเอง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังต่อไปนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน รู้สึกสับสน มีไข้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง ตัวบวม
  • ผลต่อตับ: เช่น เป็นพิษกับตับ/มีภาวะตับอักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผมร่วง เหงื่ออกมาก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม วิตกกังวล กระสับกระส่าย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น หน้าอก/เต้านมโต เจ็บเต้านม
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดอักเสบ
  • อื่นๆ: เช่น นกเขาไม่ขัน

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูตาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูตาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวัน
  • หากพบอาการข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรงหรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต เช่น ท้องเสียรุนแรง ปัสสาวะมีเลือดปน ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาฟลูตาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูตาไมด์ร่วมกับยาWarfarin ด้วยจะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายมากตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูตาไมด์ร่วมกับยาLeflunomide เพราะอาจทำให้เกิดพิษกับตับของผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูตาไมด์ร่วมกับยาPrilocaine เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติของเลือดที่เรียกว่าภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด(Methemoglobinemia)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูตาไมด์ร่วมกับยาAdenosine เพราะอาจทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติไป

ควรเก็บรักษาฟลูตาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาฟลูตาไมด์ ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลูตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูตาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Flutan (ฟลูแทน)Medochemie

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Cytomid, Drogenil, Flutacare, Flutide, Flutam

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Flutamide#Pharmacology [2018,May12]
  2. https://patienteducation.osumc.edu/Documents/Flutamide.pdf [2018,May12]
  3. https://www.drugs.com/mtm/eulexin.html [2018,May12]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/flutan/?type=brief [2018,May12]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/139#item-8804 [2018,May12]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/flutamide/?type=brief&mtype=generic [2018,May12]
  7. https://www.drugs.com/dosage/flutamide.html [2018,May12]