พิโซติเฟน (Pizotifen)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 พิโซติเฟน (Pizotifen) เป็นยาที่นำมาใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) ซึ่งมีกลไกของโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณสมอง แต่ด้วยผลข้างเคียงบางอย่างของยาพิโซติเฟน เช่น ง่วงนอน หรือทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่ม จึงทำให้ยานี้ไม่ถูกเลือกเป็นยาอันดับต้นๆของการรักษาไมเกรน แต่จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อยาไมเกรน/ยารักษาไมเกรน/ยาต้านไมเกรนตัวอื่นใช้ไม่ค่อยได้ผลแล้วเท่านั้น

ยาโซติเฟน ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาอาการทางจิตประสาท เช่น ใช้รักษาอาการซึมเศร้า, บำบัดอาการวิตกกังวล , รวมถึงใช้เป็นยาเจริญอาหารอีกด้วย

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย)ของยาพิโซติเฟนพบว่า ยานี้ถูกดูดซึมได้ประมาณ 78% จากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 91% ซึ่งหลังจากที่ตับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาพิโซติเฟนแล้ว ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 23 ชั่วโมงเพื่อร่างกายกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

 คณะกรรมการอาหารและยาของไทยจัดให้ ยาพิโซติเฟน เป็นยาอันตราย มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้หลายประการ การใช้ยานี้จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาพิโซติเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

พิโซติเฟน

ยาพิโซติเฟนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น 

  • ป้องกันและ/หรือรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน
  • ป้องกันและ/หรือรักษาโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์
  • กระตุ้นให้อยากอาหาร บรรเทาการเบื่ออาหาร

ยาพิโซติเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาพิโซติเฟนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์สงบประสาท และป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะ/ ปวดหัว โดยมีกลไกเป็นลักษณะของ เซโรโทนิน-แอนตาโกนิสต์/ Serotonin antagonist (ยาต้านสารเซโรโทนิน/Serotonin ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น การขยายตัวของหลอดเลือด, เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ซึมเศร้า วิตกกังวล อยากอาหาร) และของ Histamine antagonist (H1 receptor antagonist) ดังนั้นจึงส่งผลในการบำบัดรักษาตามสรรพคุณ

ยาพิโซติเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพิโซติเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:        

  • ยาเม็ด ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำ ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร

ยาพิโซติเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาพิโซติเฟนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง ก่อนนอน หรือรับประทาน 0.5 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเช้า - กลางวัน – เย็น ขึ้นกับคำสั่งแพทย์, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 4.5 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน หรือ 0.5 มิลลิกรัม 9 ครั้ง/วัน,  และห้ามรับประทานเกินครั้งละ 3 มิลลิกรัม
  • เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป: ครั้งแรกรับประทาน 0.5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้งก่อนนอน, ขนาดสูงสุด ไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัม/วัน,  โดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน, และห้ามเด็กรับประทานเกินครั้งละ 1.5 มิลลิ กรัม

 อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
  • ขนาดยาในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น   ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้  การใช้ยาที่เหมาะสม  ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาพิโซติเฟน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพิโซติเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาพิโซติเฟน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาพิโซติเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพิโซติเฟนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ง่วงนอน
  • หิวและอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • ปากคอแห้ง
  • ท้องผูก
  • คลื่นไส้
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • วิตกกังวล
  • ก้าวร้าวและซึมเศร้าในคราวเดียวกัน
  • ยังมีอาการอื่นที่อาจพบได้อีกเช่น
    • ผื่นคัน
    • การหายใจขัดข้อง/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
    • นอนไม่หลับ
    • ชัก
    • ปวดกล้ามเนื้อ
    • ปวดข้อ

มีข้อควรระวังการใช้ยาพิโซติเฟนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพิโซติเฟน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับกลุ่มยาประเภท MAO inhibitors
  • ห้ามใช้กับ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • แพทย์จะปรับขนาดรับประทาน เมื่อใช้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจากโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก ต้องแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาเท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้ระวังเรื่องการทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักรกลหรือการขับขี่ยวดยานพาหนะ เนื่องจากอาจมีอาการง่วงนอนจากผลข้างเคียงของยาจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพิโซติเฟนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาพิโซติเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพิโซติเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาพิโซติเฟน ร่วมกับ ยาบางกลุ่ม จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนเป็นอันมาก หากเป็นไปได้ ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว หรือแพทย์ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป ซึ่งยากลุ่มดังกล่าว เช่น
    • ยากลุ่มแอนไทฮิสตามีน/Antihistamine (ยาแก้แพ้)
    • ยารักษาโรคจิตประสาท
    • ยากันชัก/ยาต้านการชัก
    • ยาบรรเทาอาการปวดที่มีฤทธิ์เสพติด เช่นยา Tramadol)
    • กลุ่มยาสงบประสาท (ยาคลายเครียด)
    • ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • การใช้ยาพิโซติเฟน ร่วมกับ การดื่มแอลกอฮอล์จะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอนอย่างมาก จึงห้ามรับประทานร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาพิโซติเฟนอย่างไร?

ควรเก็บยาพิโซติเฟน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาพิโซติเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพิโซติเฟนที่ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anorsia (เอนอร์เซีย) Asian Pharm
Bozo (โบโซ) T. Man Pharma
Manzofen (แมนโซเฟน) T. Man Pharma
Migrin (ไมกรีน) Utopian
Mosegor (โมสกอร์) Novartis
Moselar (โมสลาร์) Milano
Mozifen-EF (โมซิเฟน-อีเอฟ) T.O. Chemicals
Pizomed (พิโซเมด) Medifive
Zofen (โซเฟน) Pharmaland

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pizotifen  [2022,Jan8]
  2. https://www.drugs.com/international/pizotifen.html    [2022,Jan8]
  3. https://www.medicinenet.com/pizotifen-oral/article.htm   [2022,Jan8]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=pizotifen   [2022,Jan8]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Mozifen-EF/?type=brief  [2022,Jan8]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/product/5917/smpc#gref  [2022,Jan8]