พิเพอราซีน (Piperazine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพิเพอราซีน (Piperazine) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นผลึกแข็งสีขาว ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคพยาธิตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ.2496) โดยมีกลไกทำให้หนอนพยาธิมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต นอกจากนี้อนุพันธุ์ของยาพิเพอราซีนยังนำไปผลิตเป็นยารักษาโรคได้อีกหลายประเภท เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาต้านสารฮีสตามีน (Histamine) ยารักษาโรคจิตประสาท และยารักษาโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น โดยหลังการรับประทาน ยาพิเพอราซีนจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและเข้าจับกับโปรตีนในกระแสเลือด ยานี้สามารถผ่านซึมเข้าไปในน้ำนมมารดาได้ และถูกขับออกทางปัสสาวะ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยจัดให้ยานี้อยู่ในหมวด ยาอันตราย การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาพิเพอราซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

พิเพอราซีน

ยาพิเพอราซีนมีสรรพคุณคือ ใช้เป็นยารักษาโรคพยาธิตัวกลม (เช่น พยาธิไส้เดือน) พยาธิเข็มหมุด (พยาธิเส้นด้าย)

ยาพิเพอราซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาพิเพอราซีนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ทำให้กล้ามเนื้อของหนอนพยาธิเกิดอาการคล้ายเป็นอัมพาต จากนั้นตัวพยาธิจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านมากับอุจจาระ

ยาพิเพอราซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพิเพอราซีนมีการจัดจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำขนาดความแรง 500 และ 750 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ยาพิเพอราซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาพิเพอราซีนมีขนาดรับประทานดังนี้

ก. สำหรับฆ่าพยาธิไส้เดือน (Ascariasis):

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทาน 4.5 กรัมเพียงครั้งเดียว และรับประทานซ้ำอีก 1 ครั้ง หลังจากรับประทานยามื้อแรกไป 14 วัน สามารถให้ยาแก้ท้องผูก/ยาระบายกลุ่มเซนนา (Senna) ขนาด 4 กรัมเพื่อช่วยระบาย หากจำเป็นอาจให้ยาซ้ำเมื่อครบ 3 เดือนไปแล้ว
  • เด็ก: ให้รับประทานเพียงครั้งเดียว และให้ยาซ้ำหลังจากรับประทานยามื้อแรกไปแล้ว 14 วัน โดยพิจารณาเกณฑ์การให้ยาดังนี้
  • อายุน้อยกว่า 1 ปี: รับประทาน 120 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • อายุ 1 - 3 ปี: รับประทาน 1.5 กรัม
  • อายุ 4 - 5 ปี: รับประทาน 2.25 กรัม
  • อายุ 6 - 8 ปี: รับประทาน 3 กรัม
  • อายุ 9 - 12 ปี: รับประทาน 3.75 กรัม

ในเด็กทุกอายุ หากจำเป็นสามารถให้ยาอีกเมื่อครบ 3 เดือนไปแล้ว

ข. สำหรับฆ่าพยาธิเส้นด้ายหรือพยาธิเข็มหมุด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 2.25 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 7 วัน และอาจให้ยาเป็นรอบที่สองหลัง จากการให้ยารอบแรกไปแล้ว 7 วัน และอาจให้ซ้ำเป็นรอบที่สามหลังการให้ยารอบที่สองไปแล้ว 14 วัน สามารถให้ร่วมกับยาแก้ท้องผูกกลุ่มเซนนา (Senna) ขนาด 4 กรัม เพื่อช่วยเพิ่มการขับ ถ่าย
  • เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี: รับประทาน 45 - 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุ 1 - 3 ปี: รับประทาน 750 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 4 - 6 ปี: รับประทาน 1.125 กรัม
  • เด็กอายุ 7 - 12 ปี: รับประทาน 1.5 กรัม
  • เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ใช้ขนาดรับประทานเหมือนผู้ใหญ่

โดยในเด็กทุกอายุ ให้ยาวันละครั้งเป็นเวลา 7 วัน อาจให้ยาเป็นรอบที่สองหลังจากรอบแรกไปแล้ว 7 วัน และอาจให้ยาเป็นรอบที่สามหลังการให้ยารอบที่สองไปแล้ว 14 วัน และสำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปี อาจให้ยาแก้ท้องผูกกลุ่มเซนนา (Senna) 4 กรัมร่วมด้วยเพื่อช่วยเพิ่มการขับถ่าย

*****หมายเหตุ: สามารถรับประทานยาพิเพอราซีนก่อน หรือพร้อมอาหารก็ได้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาพิเพอราซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาพิเพอราซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพิเพอราซีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาพิเพอราซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพิเพอราซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ดังนี้ เช่น มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ลมพิษ ผื่นคันตามผิวหนัง ปวดศีรษะ หลอดลมเกร็งตัว (ทำให้หายใจลำบาก) วิงเวียนศีรษะ สับสน การมองเห็นไม่ชัดเจน และผลข้างเคียงที่รุน แรงคือ อาจเกิดกลุ่มอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงที่เรียกว่า Steven-Johnson Syndrome

มีข้อควรระวังการใช้ยาพิเพอราซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพิเพอราซีนดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไตขั้นรุนแรง ผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคเกี่ยวกับระบบประสาท/โรคสมอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากยาสามารถซึมผ่านเข้าในน้ำนมมารดาได้
  • ห้ามรับประทานยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพิเพอราซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาพิเพอราซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพิเพอราซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น คือ การใช้ยาพิเพอราซีนร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจเกิดความเสี่ยงทำให้คนไข้มีอาการชักโดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคลมชักอยู่แล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่น

  • ยาแก้ปวด เช่น Tramadol
  • ยารักษาโรคจิตประสาท เช่น Chlopromazine, Fluphenazine
  • ยาระบายกลุ่ม Sodium biphosphate, Polyethylene glycal with electrolytes
  • ยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง เช่น Ginkgo biloba

ควรเก็บรักษายาพิเพอราซีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาพิเพอราซีนที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาพิเพอราซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพิเพอราซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bompar (บอมพาร์) Newcharoen Pharma
Piperazine Citrate Chew Brothers (พิเพอราซีน ซิเตรท ชิวบราเธอร์) Chew Brothers
Sinpermine Syrup (ซินเพอร์มายน์ ไซรัป) SSP Laboratories

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Piperazine#As_an_anti-helmintic [2014,Aug30]
2. http://www.mims.com/USA/drug/info/piperazine/piperazine?type=full [2014,Aug30]
3. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=578&drugName=Piperazine&type=12 [2014,Aug30]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/piperazine-index.html?filter=2 [2014,Aug30]
5. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=578&drugName=Piperazine&type=12 [2014,Aug30]