พิษแห่งครรภ์ (ตอนที่ 2)

พิษแห่งครรภ์-2

สำหรับสาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยแพทย์เชื่อว่าเริ่มต้นที่รกในครรภ์ (Placenta) ซึ่งเป็นอวัยวะที่คอยหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ กล่าวคือ หลอดเลือดที่ส่งเลือดไปยังรกมีพัฒนาการที่ไม่ดี อาจแคบกว่าปกติและอาจมีปฏิกริยาต่อฮอร์โมนที่แตกต่างไป ทำให้จำกัดจำนวนเลือดที่ไหลไป ซึ่งสาเหตุของพัฒนาการที่ไม่ปกติเหล่านี้อาจเกิดจาก

  • มีเลือดส่งไปยังมดลูก (Uterus) ไม่พอ
  • หลอดเลือดถูกทำลาย
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน (Immune system)
  • ยีน (Genes) ผิดปกติ

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • มีประวัติเคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
  • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • อายุ – ผู้ที่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือ ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูง
  • อ้วนหรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index = BMI) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
  • เป็นครรภ์แฝด
  • ช่วงห่างระหว่างการตั้งครรภ์ กล่าวคือ น้อยกว่า 2 ปี หรือมากกว่า 10 ปี จะมีความเสี่ยงสูง
  • มีอาการอื่นๆ ก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ปวดไมเกรน โรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ ชนิดที่ 2 โรคไต ลิ่มเลือดอุดตัน (Blood clots) โรคลูปัส (Lupus)
  • การทำเด็กหลอดแก้ว (In vitro fertilization = IVF)

ส่วนอาการแทรกซ้อนของภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Fetal growth restriction) – ภาวะครรภ์เป็นพิษจะมีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงรก (Placenta) หากรกไม่ได้เลือดที่พอเพียง ก็อาจทำให้ทารกได้รับเลือด ออกซิเจน และสารอาหารไม่พอเพียง ซึ่งส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตช้า น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย หรือคลอดก่อนกำหนด
  • คลอดก่อนกำหนด (Preterm birth) – กรณีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่รุนแรง อาจจำเป็นต้องทำการคลอดก่อนเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดสามารถส่งผลให้ทารกมีปัญหาเรื่องการหายใจหรือปัญหาอื่นๆ ได้
  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption) – ภาวะครรภ์เป็นพิษจะเพิ่มความเสี่ยงของการที่รกลอกตัวก่อนกำหนด การรอกตัวที่รุนแรงสามารถเป็นสาเหตุให้เลือดไหลไม่หยุด ซึ่งสามารถทำให้แม่และทารกเสียชีวิตได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Preeclampsia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/preeclampsia/symptoms-causes/syc-20355745 [2017, December 11].
  2. Preeclampsia. http://americanpregnancy.org/pregnancy-complications/preeclampsia/ [2017, December 11].